หวั่นผู้ผลิตเครื่องซักผ้าไทยได้รับผลกระทบ หลัง ITC เคาะผู้ผลิตสหรัฐฯ เจ็บจริง

อัปเดตล่าสุด 9 ต.ค. 2560
  • Share :
  • 854 Reads   

EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ เรื่อง หวั่นผู้ผลิตเครื่องซักผ้าไทยได้รับผลกระทบ หลัง ITC เคาะผู้ผลิตสหรัฐฯ เจ็บจริง

คณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศสหรัฐฯ (U.S. ITC) ตัดสินว่าผู้ผลิตเครื่องซักผ้าในสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบและเสียหายอย่างหนักจากการนำเข้า หลังจากเมื่อเดือนพฤษภาคม 2017 บริษัท Whirlpool ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องซักผ้ารายใหญ่ของสหรัฐฯ ยื่นคำร้องให้มีการไต่สวนให้ใช้อำนาจประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกมาตรการปกป้องการนําเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (safeguard measure) เป็นการชั่วคราว เพื่อบรรเทาความเสียหายร้ายแรงจากการนำเข้าเครื่องซักผ้าจากทุกประเทศที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ การร้องเรียนของบริษัท Whirlpool ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 ที่นำไปสู่การใช้มาตรการทางภาษีกับคู่แข่งต่างชาติ โดยครั้งแรก ในปี 2013 รัฐบาลสหรัฐฯ ได้เรียกเก็บภาษีของเครื่องซักผ้าที่ผลิตจากเกาหลีใต้และเม็กซิโกตามข้อร้องเรียนของบริษัท และต่อมาในปี 2016 ทางบริษัทร้องเรียนให้มีการไต่สวนเพื่อสกัดการนำเข้าอีกครั้ง เนื่องจากราคาขายของเครื่องซักผ้าที่ผลิตในจีน เช่น Samsung และ LG ถูกกว่าต้นทุนการผลิตของตน เป็นผลให้สหรัฐฯ มีการประกาศใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (anti-dumping duty) โดยตั้งภาษีเครื่องซักผ้านำเข้าจากจีนเฉลี่ยถึง 40 % ในเวลาต่อมา

Samsung และ LG ซึ่งมีฐานการผลิตเครื่องซักผ้าในไทย จะได้รับผลกระทบเพียงบางส่วนจากมาตรการ safeguard เนื่องจากโรงงานผลิตเครื่องซักผ้าใหม่ในสหรัฐฯ ของทั้งสองบริษัทจะเริ่มผลิตได้ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2018 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่คาดว่าประธานาธิบดีจะพิจารณามาตรการ safeguard แล้วเสร็จและประกาศใช้กับเครื่องซักผ้านำเข้า อีไอซีคาดการณ์ว่ากำลังการผลิตของโรงงานใหม่ทั้งสองแห่งจะรองรับความต้องการในตลาดสหรัฐฯ ได้ถึง 3 ล้านเครื่อง ซึ่งใกล้เคียงกับยอดขายเครื่องซักผ้าสำหรับใช้ในบ้านทั้งสองแบรนด์ที่มีการรายงานว่าขายได้รวมกันราว 2-3.3 ล้านเครื่องในปี 2016 ซึ่งกำลังการผลิตดังกล่าวสามารถนำมาทดแทนการนำเข้าเครื่องซักผ้าที่ราว 80-90% จากฐานการผลิตในเวียดนามและไทยได้จำนวนหนึ่ง ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่ามาตรการ safeguard จะทำให้ต้นทุนเครื่องซักผ้าทั้งสองแบรนด์สูงขึ้น โดยเฉพาะในระยะทดสอบการทำงานของระบบโรงงานใหม่

อย่างไรก็ดี มาตรการดังกล่าวอาจทำให้ Samsung และ LG ไม่สามารถขยายส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ ได้ในระยะสั้น เนื่องจากการนำเข้าเพิ่มจะมีต้นทุนสูงและการสร้างโรงงานใหม่ต้องใช้เวลา 1-2 ปี โดยในปี 2016 ที่ผ่านมา ทั้ง 2 บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่บริษัทละราว 18% ในขณะที่เจ้าตลาดอย่าง Whirlpool มีส่วนแบ่งอยู่ที่ 35% ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าตลาดเครื่องซักผ้าสหรัฐฯ มีมูลค่ามากกว่า 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวราว 5% ต่อปีจนถึง 2020

อีไอซีคาดการส่งออกเครื่องซักผ้าไทยขยายตัวน้อยลงในปี 2018 หากทรัมป์อนุมัติมาตรการ safeguard ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา การส่งออกเครื่องซักผ้าไทยมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 12% จากการเป็นฐานการผลิตให้ทั้งแบรนด์เกาหลี ญี่ปุ่น และสวีเดน โดยมีตลาดหลักคือ เวียดนาม(14% ของปลายทางการส่งออกเครื่องซักผ้าไทย) สหรัฐฯ (13%) ออสเตรเลีย(10%) และญี่ปุ่น(10%) หากความต้องการในสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบจากมาตรการและถูกแทนที่ด้วยกำลังการผลิตจากโรงงานใหม่ราว 70% จะทำให้มูลค่าการส่งออกเครื่องซักผ้าไทยขยายตัวน้อยลงที่ 2.5% ในปี 2018 คิดเป็นมูลค่าราว 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

อีไอซีแนะผู้ผลิตเครื่องซักผ้าและชิ้นส่วนไทยวางแผนกระจายความเสี่ยงจากตลาดสหรัฐฯ เนื่องจากสหรัฐฯ เคยใช้มาตรการทางภาษีสกัดผู้ผลิตต่างชาติมาแล้วหลายครั้ง จึงมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีการอนุมัติมาตรการ safeguard ซึ่งเป็นการตั้งกำแพงภาษีตามรายการสินค้าโดยไม่ระบุประเทศ ผู้ประกอบการผลิตเครื่องซักผ้าและชิ้นส่วนในไทยจึงควรวางแผนกระจายความเสี่ยง เช่น รุกตลาดที่มีส่วนแบ่งตลาดยังน้อยอย่างยุโรปและออสเตรเลีย เน้นผลิตชิ้นส่วนที่ทำได้ดีกว่าคู่แข่งไปยังตลาดอื่น หรือหันไปผลิตชิ้นส่วนที่สามารถใช้ได้กับผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรติดตามเงื่อนไขของมาตรการที่ U.S. ITC จะมีการพิจารณาในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2017 เพื่อประเมินความเสี่ยงและผลกระทบต่อไป

Source: ประชาชาติธุรกิจ

https://www.prachachat.net/economy/news-52198