พาณิชย์เผยแพร่ดัชนีวัดศักยภาพการนำเข้าของ 168 ประเทศ ครั้งที่ 2 ปี 6

อัปเดตล่าสุด 14 ก.ค. 2561
  • Share :
  • 471 Reads   

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)  เปิดเผยผลการจัดทำ “ดัชนีวัดศักยภาพการนำเข้าของ 168 ประเทศ Import Potential Index (IPI)” ครั้งที่ 2 ของปี 2561 โดยหลังจากที่ธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ได้เผยแพร่รายงานเศรษฐกิจการค้าครั้งล่าสุด สนค. ได้รวบรวมข้อมูล 27 ตัวชี้วัด ที่สะท้อนความสามารถในการนำเข้าของประเทศต่าง ๆ ประกอบด้วย 3 ด้านหลัก ได้แก่ การค้า เศรษฐกิจมหภาค และปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ นำมาจัดทำดัชนี IPI โดยค่าดัชนีที่ได้จะสะท้อนความสามารถในการนำเข้าของประเทศต่าง ๆ เชิงเปรียบเทียบ (Relative potential for import) โดยจัดอันดับประเทศที่มีศักยภาพในการนำเข้าสูงสุด (อันดับ 1) ไปน้อยที่สุด (อันดับ 168)

ผลการจัดอันดับดัชนีชี้วัดศักยภาพการนำเข้า พบว่าประเทศที่มีศักยภาพการนำเข้าสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน  สหรัฐฯ และอินเดีย และพบว่าประเทศที่มีศักยภาพการนำเข้าสูงสุด 10 อันดับแรก อยู่ในทวีปเอเชียถึง 6 ประเทศ สะท้อนถึงศักยภาพการนำเข้าที่สูงของกลุ่มประเทศในภูมิภาคเดียวกับไทย ซึ่งหากไทยสามารถพัฒนาสินค้าให้มีศักยภาพ และสอดคล้องกับความต้องการของประเทศเหล่านี้ ก็จะทำให้การค้าไทยเติบโตมากขึ้น โดยประเทศและภูมิภาคที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างโดดเด่น  เช่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และประเทศในภูมิภาคอเมริกาใต้ ขณะที่ประเทศและภูมิภาคที่ปรับตัวลดลง เช่น ภูมิภาคตะวันออกกลาง ที่ปรับลดลงทุกประเทศ เนื่องจากมีความขัดแย้งอย่างต่อเนื่องในภูมิภาค นอกจากนี้ อันดับของอังกฤษปรับลดลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อันเป็นผลจากการเตรียมออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป

นอกจากนี้ ผลการศึกษายังพบว่า จีน และเกาหลีใต้มีความต้องการนำเข้าสูงในกลุ่มสินค้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์การสื่อสาร ยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตและส่งออก ดังนั้น การส่งเสริมการลงทุนจากจีนและเกาหลีใต้มาไทยในอุตสาหกรรมเหล่านี้ จะช่วยให้ไทยสามารถส่งออกไปตลาดจีนและเกาหลีได้มากขึ้น อินเดีย มีจุดแข็งด้านเศรษฐกิจขยายตัวสูงและมีประชากรจำนวนมาก แต่มีข้อจำกัดที่สำคัญ คือ ภาษีนำเข้าสูง และมีระดับการเปิดประเทศต่ำ จึงควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยไปลงทุนในอินเดียและสร้างพันธมิตรท้องถิ่น สินค้าที่มีศักยภาพในตลาดอินเดีย อาทิ พืชน้ำมัน อัญมณี อุปกรณ์สื่อสาร และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) เป็นประเทศที่อันดับดัชนี IPI สูงสุด ในภูมิภาคตะวันออกกลาง เป็นภูมิภาคที่มีความขัดแย้งระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง แต่ UAE มีจุดแข็งด้านรายได้ต่อหัวสูงอันดับ 5 ของโลก การอำนวยความสะดวกทางการค้าอยู่ในเกณฑ์ดี และมีการเปิดประเทศสูง ดังนั้น การส่งออกควรเน้นส่งเสริมสินค้าคุณภาพและราคาสูง และสินค้าที่ UAE ไม่สามารถผลิตได้ อาทิ อัญมณี รถยนต์ อาหาร และสินค้าเกษตร เป็นต้น

ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามที่ สนค. ได้เสนอผลการจัดอันดับ IPI ครั้งแรก เมื่อต้นปี 2561 พบว่าสอดคล้องกับผลการส่งออกของไทยช่วง 5 เดือนแรกของปี โดยตลาดศักยภาพที่ สนค. ระบุนั้น โดยภาพรวมแล้วขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งรัสเซีย อินเดีย เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ที่มูลค่าการส่งออกขยายตัว ร้อยละ 44.2 30.9 25.2 23.7 และ 12.7 ตามลำดับ นอกจากนี้ จากการที่รัฐบาลไทยเดินทางไปเยือนอังกฤษ และเชิญชวนภาคเอกชนของอังกฤษมาลงทุนในไทย ถือว่าสอดคล้องกับผลการศึกษาของ สนค. ที่ได้เสนอยุทธศาสตร์ให้เร่งส่งเสริมการลงทุนจากอังกฤษเข้ามาในไทย เพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจและความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนของอังกฤษ หลังจากออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป
ผลการศึกษาจะเป็นเครื่องมือให้กับผู้กำหนดนโยบายและผู้ส่งออก ใช้ในการประเมินการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ในมิติต่างๆ ไปสู่สถานการณ์ทางการค้าที่เข้าใจง่ายขึ้น โดยผลการจัดอันดับจะเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ด้านต่าง ๆ ในแต่ละประเทศและภูมิภาค นอกจากนี้ สามารถชี้เป้าประเทศและสินค้าเป้าหมายของไทย ชี้เป้าประเทศคู่แข่งของไทย และสามารถดูทิศทางและแนวโน้มการนำเข้าของประเทศอื่นๆ เพื่อทราบถึงอุปสงค์ของสินค้า เพื่อใช้นโยบายตลาดนำการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์เรื่องสงครามทางการค้าผ่านการศึกษาผลการเบี่ยงเบนทางการค้า (Trade Diversion)

ตลอดจนสามารถเปรียบเทียบมูลค่าการนำเข้าจากไทยและศักยภาพการนำเข้าของประเทศเหล่านั้นว่าสอดคล้องกันหรือไม่ ซึ่งช่วยในการวิเคราะห์ช่องว่างระหว่างศักยภาพการนำเข้าของประเทศคู่ค้าและมูลค่าการนำเข้าจากไทย โดยเฉพาะประเทศที่มีศักยภาพการนำเข้าสูง แต่ไทยยังส่งออกไปไม่มาก เช่น อินเดีย เยอรมัน และเกาหลีใต้ เป็นต้น อันจะนำไปสู่การวางนโยบายและกำหนดแนวทางการเจรจาการค้ากับตลาดศักยภาพปรับกลยุทธ์และมาตรการส่งเสริมการส่งออก เพื่อขยายตลาดให้สอดคล้องกับศักยภาพการนำเข้าที่แท้จริงเป็นรายประเทศได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ ผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์จากผลการศึกษาในการแสวงหาโอกาสทางการค้าในตลาดศักยภาพได้ด้วย