Citibank คาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 64 ชี้ภูมิภาคเอเชียมาวิน โตสูง 7.5%

Citibank คาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี'64 ชี้ภูมิภาคเอเชียมาวิน โตสูง 7.5%

อัปเดตล่าสุด 21 ม.ค. 2564
  • Share :
  • 6,279 Reads   

♦ นักวิเคราะห์ซิตี้ ชี้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกจะเติบโตอยู่ที่ 5% อัตราเงินเฟ้อปรับขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 2.2%

♦ เทรนด์ลงทุนปี 2564 ให้น้ำหนักภูมิภาคเอเชีย ละตินอเมริกา

♦ แนะธีมลงทุน ESG และกระจายลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่หลากหลาย 

วันที่ 21 มกราคม 2564 - ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย เผยข้อมูลคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2564 โดยนักวิเคราะห์ซิตี้ คาดว่าภาพรวมเศรษฐกิจโลกจะเติบโตอยู่ที่ 5%  อัตราเงินเฟ้อปรับขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 2.2% โดยมองแนวโน้มการเติบโตกลุ่มตลาดเกิดใหม่ 6.2% และตลาดพัฒนาแล้ว 4.1% ในด้านการเติบโตของแต่ละภูมิภาคนั้น มองว่าจีดีพีของสหรัฐฯ จะอยู่ที่ 5.1%  จากสัญญาณเชิงบวกของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและอัตราการว่างงานที่ลดลง ในส่วนยุโรปจะเติบโต 3.6% ในขณะที่ภูมิภาคเอเชียในปีนี้ จะเป็นผู้นำในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก คาดการณ์จีดีพีของเอเชียจะโตถึง 7.5% โดยเฉพาะประเทศจีนอาจโตแตะ 8.2% ด้านราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทองคำเฉลี่ยอยู่ที่ 1,900 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ส่วนค่าเงินยังคงมีความผันผวนสูง สำหรับภาพรวมการลงทุนยังคงเผชิญความท้าทายสูงเช่นกัน แต่ซิตี้ยังมีมุมมองบวกต่อหุ้น โดยให้น้ำหนักในภูมิภาคเอเชีย ลาตินอเมริกา พร้อมแนะนำการลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภท เช่น  ตราสารทุนทั่วโลก ทองคำ ตลอดจนตราสารหนี้ในตลาดเกิดใหม่ และตราสารหนี้ไฮยิลด์ นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอธีมการลงทุนแบบ ESG ที่เน้นการลงทุนในกลุ่มกับการพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล นอกจากนี้ ยังแนะนำการกระจายการลงทุนในกลุ่มอุตสาหรรมอื่น ๆ อาทิ โทรคมนาคม เทคโนโลยีดิจิทัลไลเซชั่น สุขภาพ และอสังหาริมทรัพย์

นายซาเมียร์ เดชพานดิ หัวหน้าที่ปรึกษาการลงทุนระดับภูมิภาค ซิตี้แบงก์ เอเชียแปซิฟิค และตะวันออกกลาง (Sameer Deshpande, Regional Head of Investments, Citibank Asia & EMEA) กล่าวว่า นักวิเคราะห์ซิตี้คาดการณ์ว่าแม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง แต่ระบบเศรษฐกิจทั่วโลกในปี 2564 จะเริ่มทยอยกลับมาสดใสจากหลายปัจจัยทั้งการประกาศผลการทดลองวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงเป็นครั้งแรก การทยอยฉีดวัคซีนขนาดใหญ่ในหลายประเทศที่น่าจะมีขึ้นในช่วงกลางปี รวมถึงประเทศที่พัฒนาแล้วเริ่มมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว โดยมองว่าการสิ้นสุดของการแพร่ระบาดจะเกิดขึ้นในช่วงกลางปี ทำให้โลกกลับสู่สภาวะปกติใหม่และเป็นการเริ่มต้นอย่างเต็มรูปแบบของวัฏจักรเศรษฐกิจใหม่

มุมมองเชิงภูมิภาค นักวิเคราะห์ซิตี้คาดการณ์ว่า ถึงแม้สภาพเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันอาจยังคงสร้างความวิตกให้กับนักลงทุน แต่เริ่มเห็นสัญญาณเชิงบวกของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอีกครั้งจากอัตราการว่างงานที่ลดลงจาก 14.7% ช่วงต้นปีที่แล้วมาอยู่ที่ 6.7% ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ยังคงผ่อนคลายมาตรการทางการเงินและคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายระดับ 0% - 0.25% อย่างต่อเนื่อง รวมถึงรัฐบาลสหรัฐฯ มีแผนกระตุ้นตลาดแรงงานเพื่อกระตุ้นระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยคาดว่าจีดีพีของสหรัฐฯ จะอยู่ที่ 5.1% และคาดว่าเศรษฐกิจจะกลับไปถึงระดับ GDP ก่อนเกิดโควิด-19 ได้ภายในกลางปี 64

ยุโรป แม้จะต้องเผชิญช่วงเวลาที่ยากลำบาก ด้วยความกังวลด้านสุขภาพและเศรษฐกิจครั้งสำคัญ แต่คาดว่าภูมิภาคนี้ได้ผ่านพ้นช่วงที่เลวร้ายที่สุดไปแล้ว แม้หลายประเทศจะมีการกลับมาล็อกดาวน์ แต่การล็อกดาวน์น่าจะเป็นช่วงเวลาสั้นกว่าเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 63 ตลอดจนธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังคงดำเนินนโยบายการคลังและมาตรการผ่อนคลายทางการเงินและมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำ โดยรวมนักวิเคราะห์ซิตี้มองว่าจีดีพียุโรปจะเติบโต 3.6%

คาดการณ์เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียในปีนี้ โดยภาพรวมนักวิเคราะห์ซิตี้มองว่าในปี 2564 ภูมิภาคเอเชียจะเป็นผู้นำในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก คาดการณ์จีดีพีของเอเชียจะโตถึง 7.5% โดยเฉพาะประเทศจีนอาจโตแตะ 8.2% จากตัวเลขอัตราการติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศที่ต่ำ ตลอดจนสัญญาณการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากกิจกรรมการท่องเที่ยว และความต้องการภายในประเทศ รวมถึงการร่วมมือในความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) จะทำให้ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็กจะได้รับประโยชน์และส่งผลดีบวกเป็นอย่างมากต่อภูมิภาคอาเซียน สำหรับประเทศไทยคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ขยายตัวราว 4.0% ส่วนระดับอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 1.4% โดยมีแรงหนุนจากภาครัฐทั้งการบริโภคและการลงทุน

ด้านน้ำมันจากการร่วมมือปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกพลัส ทำให้ราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคาดว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์และน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 54 และ 51 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลตามลำดับ ส่วนทองคำมีความต้องการลดลงจากความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีนในเชิงบวก แต่ยังเป็นสินทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพ คาดการณ์โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1,900 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ส่วนค่าเงินต้องจับตาเป็นพิเศษเพราะยังคงมีความผันผวนสูง โดยเฉพาะค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีนี้คาดยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลงต่อไปในระยะกลางถึงระยะยาวจากปัจจัยทางการเมือง รวมทั้งนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ด้านเงินหยวน (CNY) แข็งแกร่งขึ้น จากการฟื้นตัวของการเติบโตของจีนมีแนวโน้มที่จะยั่งยืนในปีนี้ ตลอดจนการเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของโจ ไบเดน อาจทำให้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ – จีน มีแนวโน้มผ่อนคลายลง และสำหรับเงินบาท กรอบความเคลื่อนไหวเงินบาทไทยจะอยู่ระหว่าง 30.0 – 30.2 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ด้าน นายดอน จรรย์ศุภรินทร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายบุคคลธนกิจ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาถือเป็นปีที่ท้าทาย อย่างไรก็ตามทางธนาคารฯ มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการลงทุนอย่างต่อเนื่องโดยมีการเสนอขายกองทุนใหม่ 28 กองทุน และตราสารหนี้ใหม่อีก 6 ตราสาร ซึ่งนำไปสู่การเติบโตด้านการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) เติบโตในระดับตัวเลข 2 หลัก และมีการเติบโตในกลุ่มลูกค้าใหม่ทั้ง ซิตี้โกลด์ และ ซิตี้ไพรออริตี้ นอกจากนี้เห็นการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นอีกเช่นกัน

สำหรับข้อแนะนำในการลงทุน นักวิเคราะห์ซิตี้ยังคงแนะนำเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นทั่วโลก โดยให้น้ำหนักในภูมิภาคเอเชีย ลาตินอเมริกา และแนะนำการกระจายการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ อาทิ พลังงานใหม่ โทรคมนาคมและเทคโนโลยีดิจิทัลไลเซชั่น สุขภาพ อสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งกระจายการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำประเภทอื่น ๆ เช่น ตราสารหนี้ในตลาดเกิดใหม่และตราสารหนี้ผลตอบแทนสูงในอเมริกา รวมถึงทองคำเพื่อกระจายความเสี่ยงของพอร์ตโฟลิโอ นอกจากนี้ยังแนะนำการลงทุนแบบยั่งยืน ในกลุ่ม (ESG) ที่กำลังเป็นเทรนด์ที่เป็นที่จับตามองในปัจจุบัน โดยซิตี้ได้จับมือกับ  AllianceBernstein (AB) และ  Schroders ในการนำเสนอกองทุน AB Sustainable Global Thematic Portfolio และ Schroder ISF Global Climate Change ที่ลงทุนในกลุ่มพลังงานใหม่ หรือกลุ่มที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงจากภูมิอากาศ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุน อย่างไรก็ตามนักลงทุนต้องติดตามประเด็นสำคัญของสถานการณ์โลกที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุนและรักษาผลประโยชน์ในระยะยาวท่ามกลางสภาวะตลาดผันผวน

AllianceBernstein เชื่อมั่นว่าปีนี้จะเป็นปีแห่งการฟื้นตัว โดยสิ่งจำเป็นที่ต้องใส่ใจมากขึ้นในอนาคตมีทั้งหมด 3 ส่วน คือวิกฤตทางด้านสาธารณสุข ความเหลื่อมล้ำทางสังคม และสภาพอากาศ ซึ่งสองข้อแรกนั้นได้รับผลกระทบอย่างเด่นชัดในช่วงโควิด-19 ในขณะที่ข้อสุดท้ายเป็นปัญหาที่หลายคนยังไม่ให้ความสำคัญ เนื่องจากขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งการลงทุนในกลุ่ม ESG ก็เป็นส่วนสำคัญที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้ด้วยการมองโลกในมุมใหม่ถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของบริษัทที่เข้าไปลงทุน เช่น หากบริษัทต้องลงทุนลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้นแล้วผลตอบแทนจะเป็นอย่างไร จะมีสินค้าใดถูกแทนที่หรือไม่ หรือบริษัทที่เป็นเป้าหมายการลงทุนจะเสียลูกจ้างให้บริษัทที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าหรือไม่ นอกจากนี้ ยังรายงานเพิ่มเติมว่า ในช่วงปี 2015 - 2020 บริษัทที่เกี่ยวข้องกับ ESG มีการเติบโตที่สูงกว่าค่า GDP โลกอีกด้วย

ทางด้าน Schroders ได้เน้นถึงข้อควรพิจารณาก่อนเลือกลงทุนในด้านความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ความใส่ใจต่อสังคมและสิ่งรอบข้างเป็นอย่างไร การดูแลลูกจ้างและลูกค้าดีหรือไม่ รวมถึงเรื่องธรรมาภิบาลว่าบริษัทนั้นใส่ใจผู้ถือหุ้น และผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นมากน้อยแค่ไหน โดยจากรายงานของทางบริษัท พบว่าการลงทุนด้าน ESG มีการเติบโตเร็วมาก จาก 13 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2012 เป็น 30 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2018 หนึ่งในสาเหตุสำคัญมาจากข้อตกลงปารีสเมื่อปี 2015 ที่มีรัฐบาลหลายประเทศเข้าร่วม ทำให้หลายบริษัทหันมาลงทุนในกลุ่ม ESG มากขึ้น พร้อมย้ำว่าการลงทุนตามมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมไม่ได้มีแค่การลดโลกร้อนด้วยพลังงานสะอาดเท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มอื่น ๆ เช่น กลุ่มใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพอย่างโซลาร์เซลล์และวัสดุก่อสร้างลดโลกร้อน, กลุ่มใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพอย่างการรีไซเคิล บำบัดน้ำเสีย เกษตรยั่งยืน, กลุ่มโลว์คาร์บอน เช่น บริษัทอเมซอนมีนโยบายลดการปล่อยก๊าซด้วยการซื้อรถขนส่งที่ใช้ไฟฟ้ากว่าแสนคัน และใช้พลังงานทดแทนในออฟฟิศ เพื่อลดต้นทุนให้บริษัททำกำไรดีขึ้น, กลุ่มการขนส่งยั่งยืน เช่น รถยนต์ไฟฟ้า และรถไฟไฟฟ้า เป็นต้น

ธนาคารซิตี้แบงก์ ได้มีการพัฒนาการบริหารความมั่งคั่งผ่านบริการ “ซิตี้โกลด์” ด้วยบริการการลงทุนได้ทั่วโลกกว่า 200 กองทุน จากพันธมิตรที่หลากหลายกับ 5 บลจ.ในประเทศและ 13 บลจ.ต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลแบงก์กิ้ง เพื่อประสบการณ์การลงทุนที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสามารถเปิดบัญชีสกุลเงินต่างประเทศได้ทันทีผ่านซิตี้ โมบายล์ แอปพลิเคชันได้ตลอด 24 ชั่วโมง  และในขณะเดียวกันได้ปรับสิทธิประโยชน์ด้านไลฟ์สไตล์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ นำเสนอโปรโมชั่นพิเศษสำหรับลูกค้าที่สนใจการลงทุน ทั้งการรับเครดิตเงินคืน iPhone 12 Pro Max 512 GB ตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด