การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไทยในเดือนพฤษภาคม 2561

อัปเดตล่าสุด 22 มิ.ย. 2561
  • Share :
  • 1,686 Reads   
การส่งออกของไทยในเดือนพฤษภาคม 2561  ขยายตัวสูงขึ้นที่ร้อยละ 11.4 เติบโตต่อเนื่องเป็น
เดือนที่ 15 หรือคิดเป็นมูลค่า 22,257 ล้านดอลลาร์ โดยการส่งออกในตลาดสำคัญยกเว้นตะวันออกกลาง ขยายตัวทุกตลาด โดยเฉพาะตลาดอินเดีย และ CLMV มีการเติบโตต่อเนื่องและขยายตัวในระดับ 2 หลัก
 
สำหรับการส่งออกสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรม ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 โดยสินค้าที่มีการขยายตัวในระดับสูง ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และน้ำมันสำเร็จรูป
โดยรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 25.2 (ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น จีน มาเลเซีย และแอฟริกาใต้) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 10.8  (ส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง และมาเลเซีย) เม็ดพลาสติก ขยายตัวร้อยละ 30.1 (ส่งออกไปยังจีน ญี่ปุ่น เวียดนาม มาเลเซีย สหรัฐฯ และเกาหลีใต้) เคมีภัณฑ์ ขยายตัวร้อยละ 35.8 (ขยายตัวในตลาดจีน อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และญี่ปุ่น) น้ำมันสำเร็จรูป ขยายตัวร้อยละ 30.7 (ส่งออกไปตลาดกัมพูชา มาเลเซีย ลาว เมียนมา และอินเดีย) ภาพรวม 5 เดือนแรกของปี 2561 กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 12.2

 
 
ตลาดส่งออกสำคัญ
 
การส่งออกไปตลาดสำคัญ ๆ ขยายตัวเกือบทุกตลาด ยกเว้น ตลาดตะวันออกกลาง โดยการส่งออกไปยังตลาดหลักขยายตัวร้อยละ 8.2 ซึ่งเป็นการขยายตัวในทุกตลาด ทั้งการส่งออกไปสหรัฐฯ สหภาพยุโรป (15) และญี่ปุ่น ที่ขยายตัวร้อยละ  3.9 10.0 และ 11.6 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปตลาดศักยภาพขยายตัวในอัตราสูงที่ร้อยละ 13.7 ซึ่งส่วนใหญ่ขยายตัวในระดับ 2 หลัก โดยการส่งออกอินเดียยังขยายตัวสูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 31.2 ประกอบกับ การส่งออกไป จีน อาเซียน5 CLMV และเกาหลีใต้ ขยายตัวร้อยละ 14.8 12.9 17.3 และ 16.9 ตามลำดับ
ด้านตลาดศักยภาพระดับรองขยายตัวในเกณฑ์ดีที่ร้อยละ 8.4 โดยการส่งออกไป ทวีปออสเตรเลีย แอฟริกา รัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS  และลาตินอเมริกา ขยายตัวร้อยละ 20.9 21.6 7.7 และ 6.3 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปตะวันออกกลางหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ร้อยละ 14.1
 
ตลาดสหรัฐอเมริกา ขยายตัวร้อยละ 3.9 สินค้ามูลค่าสูงโดยภาพรวมยังคงขยายตัวดี ทั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ฯ ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์และส่วนประกอบ และเครื่องจักรกลฯ เป็นต้น นอกจากนี้ การส่งออกข้าวขยายตัวสูงถึงร้อยละ 82.1 ขณะที่ 5 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 7.9
 
ตลาดญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 11.6 โดยการส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบขยายตัวในอัตราสูงถึงร้อยละ 40.2 ส่วนสินค้าสำคัญอื่นๆ ที่ขยายตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม เม็ดพลาสติก เหล็กและผลิตภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น ขณะที่ 5 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 20.3
 
ตลาดสหภาพยุโรป(15) ขยายตัวร้อยละ 10 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศฯ อุปกรณ์กึ่งตัวนำฯ และเหล็กและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ขณะที่ 5 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 11.8
 
ตลาดจีน ขยายตัวร้อยละ 14.8 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ น้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์ยาง และรถยนต์และส่วนประกอบ เป็นต้น ขณะที่ 5 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 6.6
 
ตลาด CLMV ขยายตัวร้อยละ 17.3 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก เครื่องดื่ม และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น ขณะที่ 5 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 15.8
 
ตลาดอาเซียน(5) กลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือนก่อนหน้า โดยขยายตัวร้อยละ 12.9 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ ข้าว อัญมณีและเครื่องประดับ เคมีภัณฑ์ และ น้ำมันสำเร็จรูป เป็นต้น ขณะที่ 5 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 11.2
 
ตลาดเอเชียใต้ ขยายตัวร้อยละ 24.8 ขณะที่การส่งออกไปอินเดียยังคงขยายตัวในอัตราสูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 31.2 ส่วยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องจักรกลฯ อัญมณีและเครื่องประดับ และ ไขมันและน้ำมันฯ เป็นต้น ขณะที่ 5 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 24.7
 
ตลาดลาตินอเมริกา ขยายตัวร้อยละ 6.3 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ
เครื่องจักรกลฯ อาหารทะเลแปรรูปฯ ผลิตภัณฑ์ยาง และตลับลูกปืน เป็นต้น ขณะที่ 5 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 8.4
 
ตลาดรัสเซีย และกลุ่มประเทศ CIS ขยายตัวร้อยละ 7.7 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ ผลไม้กระป๋องฯ เครื่องใช้สำหรับเดินทาง และ ตู้เย็นและส่วนประกอบฯ
เป็นต้น ขณะที่ 5 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 32.5
 
ตลาดทวีปออสเตรเลีย ขยายตัวสูงสุดในรอบ 21 เดือน ที่ร้อยละ 20.9 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ อาหารทะเลแปรรูปฯ ข้าว เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์รักษาผิว และ น้ำมันสำเร็จรูป เป็นต้น ขณะที่ 5 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 15.9
ตลาดตะวันออกกลาง หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือนติดต่อกัน ที่ร้อยละ 14.1 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ ข้าว อาหารทะเลแปรรูปฯ ผลิตภัณฑ์ยาง และ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ขณะที่ 5 เดือนแรกของปี 2561 ยังคงขยายตัวร้อยละ 2.0

แนวโน้มการส่งออกปี 2561
 
การส่งออกในปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวได้ดีและมีการกระจายตัวมากขึ้น ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง แม้ในระยะสั้นอาจต้องเผชิญความผันผวนจากมาตรการการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีพื้นฐานการขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับอัตราการว่างงานที่มีแนวโน้มลดลงจะช่วยส่งเสริมการใช้จ่ายของประชาชนในอนาคต กลุ่มประเทศยูโรโซน มีแนวโน้มขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะตลาดแรงงานที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจจีน แนวโน้มยังไปได้ดีโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภายในประเทศและการส่งออกที่ขยายตัวสูงโดยเฉพาะสินค้ากลุ่มรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ส่งผลดีต่อการส่งออกไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน เช่นเดียวกับเศรษฐกิจญี่ปุ่น ที่การส่งออกสินค้ากลุ่มเทคโนโลยียังขยายตัวได้ดีสนับสนุนการส่งออกไทย แม้ว่าอุปสงค์ภายในประเทศยังอ่อนแอแต่มีสัญญาณดีขึ้นผลจากการเพิ่มค่าแรง
ทิศทางราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวลดลงเล็กน้อยโดยตลาดคาดการณ์ว่ากลุ่มผู้ผลิตน้ำมันอาจพิจารณาปรับเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อชดเชยอุปทานน้ำมันที่ลดลง อีกทั้งปริมาณน้ำมันของสหรัฐฯ ก็มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้น้ำมันยังเติบโตอย่างต่อเนื่องตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกจะเป็นปัจจัยสนับสนุนราคาน้ำมันให้สูงขึ้นในระยะยาว ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นตาม 
สถานการณ์ค่าเงินบาทที่เริ่มอ่อนค่าลงเป็นโอกาสดีต่อผู้ส่งออกในการเร่งผลักดันส่งออกสินค้าและทำให้รายได้การส่งออกในรูปเงินบาทสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกจำเป็นต้องเฝ้าระวังสถานการณ์และทำประกันความเสี่ยงเพื่อรองรับความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนและสถานการณ์การค้าที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา