ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (2566 – 2570) บีโอไอ, BOI Thailand

บีโอไอ เคาะยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุน 5 ปี พลิกโฉมไทยสู่เศรษฐกิจใหม่

อัปเดตล่าสุด 17 ต.ค. 2565
  • Share :
  • 1,456 Reads   

บอร์ดบีโอไอไฟเขียวยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (2566 – 2570) พลิกโฉมประเทศไทยสู่เศรษฐกิจใหม่ ปักธง 7 หมุดหมายแห่งอนาคต เพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศในระยะยาว

วันที่ 17 ตุลาคม 2565 นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565 ได้เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570) โดยให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนรับความเห็นของคณะกรรมการไปพิจารณา และให้นำยุทธศาสตร์ฉบับใหม่นี้ไปใช้เป็นแนวทางในการจัดทำมาตรการส่งเสริมการลงทุน เพื่อนำเสนอคณะกรรมการพิจารณาต่อไป

สำหรับสาระสำคัญของยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) มีเป้าหมายเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่ “เศรษฐกิจใหม่” ที่เพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศในระยะยาว โดยบีโอไอวางเป้าหมายให้บรรลุผล 3 ด้านด้วยกัน ได้แก่

1. Innovative เป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์
2. Competitive เป็นเศรษฐกิจที่มีขีดความสามารถในการแข่งขัน สามารถปรับตัวเร็ว และสร้างการเติบโตสูง  
3. Inclusive เป็นเศรษฐกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมทั้ง

การสร้างโอกาส และลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ

เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า จากกระแสการเปลี่ยนแปลงในระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นกระแสความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ การเข้าสู่ยุคดิจิทัล และการแบ่งขั้วทางการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งนำไปสู่การปรับห่วงโซ่อุปทานและการย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่ ได้ก่อให้เกิดโอกาสด้านการลงทุนในการพัฒนาประเทศไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาค (Regional Hub) อย่างน้อยใน 5 ด้าน ได้แก่ 

- Tech Hub เป็นศูนย์กลางการลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นด้านดิจิทัล ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านต่างๆ และอุตสาหกรรมอนาคต เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เป็นต้น

- BCG Hub เป็นศูนย์กลางการลงทุนตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมชีวภาพ พลังงานหมุนเวียน อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ และอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เป็นต้น

- Talent Hub เป็นศูนย์รวมผู้มีศักยภาพจากทั่วโลก เช่น ผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรทักษะสูง ผู้ที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย กลุ่มสตาร์ตอัป ไปจนถึงนักลงทุนและผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูง เป็นต้น 

- Logistics & Business Hub เป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ตลอดจนเป็นศูนย์กลางด้านธุรกิจระหว่างประเทศ โดยเป็นที่ตั้งของสำนักงานภูมิภาค (Regional Headquarter) ธุรกิจบริการ ธุรกิจด้านการเงินและการค้าระหว่างประเทศ

- Creative Hub เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ แฟชั่นและไลฟ์สไตล์ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ ดิจิทัลคอนเทนต์ เกมและอีสปอร์ต โดยใช้ศักยภาพด้านวัฒนธรรมของไทย ผสมผสานกับความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่เวทีโลก   

ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (2566 – 2570) บีโอไอ, BOI Thailand

สำหรับ 7 หมุดหมายสำคัญในการส่งเสริมการลงทุนเพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจใหม่ และยกระดับให้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาค ประกอบด้วย 1) การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม โดยยกระดับอุตสาหกรรมเดิมที่ไทยมีความโดดเด่น ควบคู่กับการสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ที่ไทยมีศักยภาพ และสร้างความเข้มแข็งของ Supply Chain  2) เร่งเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไปสู่ Smart & Sustainability  3) ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศและประตูการค้าการลงทุนของภูมิภาค  4) ส่งเสริม SMEs และ Startup ให้เข้มแข็งและเชื่อมต่อกับโลก  5) ส่งเสริมการลงทุนตามศักยภาพพื้นที่ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างทั่วถึง  6) ส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม และ 7) ส่งเสริมผู้ประกอบการที่มีศักยภาพให้ออกไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจ  โดยบีไอไอจะใช้เครื่องมือสำคัญ 3 ด้าน เพื่อขับเคลื่อน 7 หมุดหมายให้บรรลุผลสำเร็จ คือ สิทธิประโยชน์ทั้งภาษีและไม่ใช่ภาษี การบริการแบบครบวงจรทั้งก่อนและหลังการลงทุน การสร้างระบบนิเวศและปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการลงทุน

นอกจากนี้ บีโอไอจะปรับเปลี่ยนบทบาทจากเดิมเป็นผู้ส่งเสริมและให้สิทธิประโยชน์ (Promoter) มาสู่การให้น้ำหนักกับการเป็นผู้บูรณาการเครื่องมือสนับสนุนการลงทุน (Integrator) ผู้ให้บริการและอำนวยความสะดวก (Facilitator) และผู้เชื่อมโยงอุตสาหกรรมเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ (Connector) มากขึ้น

“ในโลกยุคใหม่ที่มีความท้าทาย ความผันผวน และมีการแข่งขันสูง บีโอไอจะเป็นองค์กรที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และมุ่งมั่นส่งเสริมให้เกิดการลงทุนที่จะช่วยยกระดับการพัฒนาประเทศ โดยพร้อมจะร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ในการผลักดัน 7 หมุดหมายแห่งอนาคตให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เพื่อนำประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจใหม่ ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งเติบโตอย่างยั่งยืน และแข่งขันได้บนเวทีโลก” นายนฤตม์ กล่าว

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH