'อีอีซี' รุก 5G ลงนาม 'หัวเว่ย' พัฒนาคน สร้างทักษะดิจิทัลรองรับ พร้อมเปิด Huawei ASEAN Academy แห่งแรกของไทยใน EEC

'อีอีซี' รุก 5G ลงนาม 'หัวเว่ย' พัฒนาคน สร้างทักษะดิจิทัลรองรับ พร้อมเปิด Huawei ASEAN Academy แห่งแรกของไทย

อัปเดตล่าสุด 19 มี.ค. 2564
  • Share :
  • 3,748 Reads   

อีอีซี รุก 5G ลงนามความร่วมมือ กับ หัวเว่ย พัฒนาคน สร้างทักษะดิจิทัล รองรับ 5G เปิด Huawei ASEAN Academy แห่งแรกของไทยในพื้นที่อีอีซี ตั้งเป้าปีนี้ ผลิตบุคลากรด้านดิจิทัล 6,000 คน และผลิตเพิ่มอีก 30,000 คนภายในปี 2567 ยกระดับไทยสู่ศูนย์กลางดิจิทัลแห่งภูมิภาค

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) เรื่อง “การสร้างทรัพยากรมนุษย์ และระบบนิเวศ (Talent ecosystem) รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรม ICT สำหรับโลกยุค 5G" ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี และ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมได้รับเกียรติจาก นายหยาง ซิน (Mr. Yang Xin) อุปทูตรักษาราชการแทนเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ร่วมแสดงความยินดีและร่วมเป็นสักขีพยาน โดยมี นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และ นายอาเบล เติ้ง (Mr. Abel Deng) ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ลงนามในครั้งนี้ ณ โรงแรมสยามเคมปินสกี้ กรุงเทพฯ

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า การลงนาม MOU ร่วมกับ หัวเว่ย และการเปิด Huawei ASEAN Academy ในพื้นที่อีอีซี ครั้งนี้ จะเป็นแรงผลักดันสำคัญ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย และถือเป็นหนึ่งในต้นแบบสำคัญ สร้างความร่วมมือ 3 แกนหลักได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรรองรับเทคโนโลยี 5G ยกระดับขีดความสามารถด้านดิจิทัลของประเทศไทย โดยมีกรอบความร่วมมือที่สำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ 

  1. สร้างฐานความรู้ ผู้เชี่ยวชาญ และแพลตฟอร์ม สำหรับการพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยี (ICT) จากการจัดตั้ง Huawei ASEAN Academy แห่งแรกของประเทศไทยในพื้นที่อีอีซี มีศูนย์ปฏิบัติการภายในมหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อเป็นสถาบันฝึกอบรมหลักเพิ่มศักยภาพบุคลากรด้านดิจิทัลของไทย
  2. สร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการการพัฒนา ICT นำองค์ความรู้และประสบการณ์จากผู้ให้บริการไปยังภาคอุตสาหกรรมเพื่อใช้ 5G ไปเกิดประโยชน์สูงสุด
  3. การฝึกอบรม เสริมศักยภาพด้าน ICT และ 5G ตามหลักการพัฒนาบุคลากรตรงความต้องการ (Demand Driven) สร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่ เข้าสู่การฝึกปฏิบัติ สร้างงานรายได้ดี
  4. สร้างการรับรองมาตรฐาน (Certification) อำนวยความสะดวกแก่อุตสาหกรรมเป้าหมาย 

นายหยาง ซิน กล่าวว่า “ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัล ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพในภาคอุตสาหกรรม โดยมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ หัวเว่ย ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยี ได้ทำงานร่วมกับอีอีซี เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับเยาวชนไทยผ่านการฝึกอบรมทักษะบุคลากรที่ตรงกับความต้องการ เพื่อช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย ในขณะเดียวกันก็เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไทย และประเทศจีนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น” 

นายอาเบล เติ้ง กล่าวว่า “มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับสกพอ. ผ่าน MOU ครั้งนี้ และการเปิด Huawei ASEAN Academy หัวเว่ย มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างรากฐานความรู้ด้านดิจิทัลให้กับเยาวชนไทย ร่วมกับอีอีซี และ มหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อขับเคลื่อนการสร้างทักษะดิจิทัลแบบองค์รวม และการพัฒนาระบบนิเวศที่เชื่อมโยงกันอย่างเข้มแข็งเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างยั่งยืน” 

ด้านนายคณิศ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) กล่าวว่า “วันนี้นับเป็นอีกก้าวสำคัญจากความร่วมมือ ระหว่างสกพอ. และ หัวเว่ย ผ่าน HUAWEI ASEAN Academy ครั้งแรกของไทยในอีอีซี การรวมพลังครั้งยิ่งใหญ่นี้ จะทำให้ไทย ก้าวสู่การเป็นดิจิทัลระดับอาเซียน ยกระดับให้สังคมเศรษฐกิจ ปลอดภัย มั่นคง ยั่งยืน”

ทั้งนี้ สกพอ. ได้มอบหมายให้คณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC HDC ) ร่วมกับหัวเว่ยดำเนินการฝึกอบรมพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล แก่ นักศึกษาและเจ้าหน้าที่ ในภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยในปี 2564 ตั้งเป้าหมายฝึกอบรมบุคลากรด้านดิจิทัล จำนวน 6,000 คน และฝึกอบรมเพิ่มขึ้น 30,000 คน ระยะเวลา 3 ปี (2567)

การลงนาม MOU ครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาบุคลากรรองรับเทคโนโลยี 5G  ในอีอีซี ที่ได้รับความร่วมมือจากหัวเว่ย ซึ่งเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี 5G ระดับโลก โดยประเทศไทยได้เปิด Huawei ASEAN Academy ต่อจากมาเลเซียและอินโดนีเซีย แต่ของไทยได้ให้ความสำคัญถึงการพัฒนาบุคลากรตรงความต้องการ (Demand Driven) คู่ไปกับการเพิ่มทักษะ 5G ในอีอีซี เพื่อยกระดับอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งในอนาคตจะขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆทั่วประเทศ โดยใช้ Huawei Academy ที่อีอีซี เป็นต้นแบบ อีกทั้ง หัวเว่ย มีประสบการณ์จัดฝึกอบรมด้านดิจิทัล ให้แก่ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน SMEs และกลุ่มสตาร์ทอัพที่ได้รับการฝึกอบรมแล้วกว่า 16,000 คน อย่างไรก็ดี ความร่วมมือกันครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือกับบริษัทระดับโลก ในการยกระดับสร้างบุคลากรดิจิทัลของไทย รองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงให้ไทยก้าวสู่ ศูนย์กลางดิจิทัล (Digital Hub) แห่งภูมิภาค เพิ่มความสามารถการแข่งขันทางธุรกิจ สร้างเศรษฐกิจและสังคมให้เติบโตอย่างยั่งยืน