ม.ธรรมศาสตร์ จับมือ สภาอุตฯ สร้างนวัตกรรม-คนรุ่นใหม่ รองรับ EEC

อัปเดตล่าสุด 19 ต.ค. 2561
  • Share :
  • 415 Reads   

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2561  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.) ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) สร้างความร่วมมือ 4 ด้าน ได้แก่ การทำวิจัยและการพัฒนา, การฝึกอบรมบุคลากรและนักศึกษา, การผลักดันผลงานด้านวิชาการที่สำเร็จออกสู่สังคมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม} และการสนับสนุนและพัฒนาโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยพิธีลงนามจัดขึ้น ณ ห้องประชุมสัญญา ธรรมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

 
รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำที่มีเป้าหมายสร้าง “ผู้นำรุ่นใหม่” มั่นใจว่า MOU ความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยครั้งนี้เป็นมิติใหม่ในการสร้างเครือข่ายการพัฒนาบัณฑิตและบุคลากรของมหาวิทยาลัยให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจ อีกทั้งช่วยยกระดับงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ ควบคู่กับการผลักดันให้ “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา” ยกระดับเป็นสถาบันการศึกษาที่มีบทบาทสนับสนุนโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในอนาคต 

“การลงนาม MOU ถือเป็นการตอกย้ำเป้าหมายของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มุ่งปลูกฝังนักศึกษาให้มีจิตวิญญาณและทักษะความเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในอนาคต โดยผ่านความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรที่ หลากหลาย งานวิจัยและนวัตกรรมก้าวล้ำหน้า”
 
รศ.เกศินี กล่าวอีกว่าในส่วนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา นับว่ามีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางวิจัยและพัฒนา เพื่อรองรับการเติบโตของ EEC ในอนาคต ระบบการเรียนการสอนปัจจุบันยังสอดรับกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นสาขาวิศวกรรมเทคโนโลยียานยนต์ ซอฟท์แวร์ ประกอบกับพื้นที่กว้างใหญ่ถึง 565 ไร่ สามารถขยายการ ผลิตบุคลากรสาขาวิชาที่ขาดแคลนได้อีกมาก
 
ด้าน นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า สอท.มีความยินดีที่ ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่งเสริมและสนับสนุนระบบศึกษาไม่ว่าจะเป็นด้านงานวิจัย ฝึกอบรม หรือการ พัฒนาบัณฑิตที่เชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันสอท.มีสมาชิกทั้งหมด 45 สาขา โดย MOU ฉบับนี้จะสร้าง ความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการ รวมถึงผลิตบุคลากรที่ตรงกับความต้องการได้มากยิ่งขึ้น
 
“ปัจจุบันเราขาดแคลนบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อทิศทางการ เติบโตของประเทศโดยเฉพาะโครงการ EEC ที่กำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก ดังนั้นความร่วมมือครั้งนี้ นอกจากแก้ปัญหาบุคลากรขาดแคลนแล้วยังสนับสนุนนักศึกษาฝึกปฏิบัติงาน ได้ประสบการณ์จริง ๆ มีความเชี่ยวชาญ มีคุณภาพสำหรับอุตสาหกรรมในอนาคต”

นายพรชัย ตระกูลวรานนท์ ประธานคณะกรรมการอำนวยการพัฒนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีวิทยาเขตอยู่ 4 แห่ง ซึ่งวิทยาเขตพัทยานั้น เป็นศูนย์กลางระหว่าง 3 จังหวัดใน EEC จึงทำให้เรามุ่งเน้นที่จะพัฒนานักศึกษาให้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมมากขึ้น ตอบสนองกับความต้องการแรงงานในอนาคต เช่น นักศึกษาคณะวิศวะที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยาจะมีการเรียนการสอนที่เพิ่มเติมในภาษาต่างประเทศเฉพาะทางที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม เช่น ภาษาต่างประเทศสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์, ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI), อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ รวมถึงอุตสาหกรรมอากาศยาน (Aerospace) เป็นต้น เพื่อเตรียมให้นักศึกษากลายเป็นแรงงานสมัยใหม่ ที่ระบบหุ่นยนต์และอัตโนมัติไม่สามารถแทนที่ได้ ”