สคฝ. เปิดมาตรการคุ้มครองเงินฝาก ปี 2563

อัปเดตล่าสุด 29 ส.ค. 2563
  • Share :
  • 941 Reads   

สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) หรือ DPA  โดย นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบัน จัดกิจกรรมให้ความรู้ เปิดมาตรการคุ้มครองเงินฝาก เมื่อวันที่ 28 สิงหาาคม 2563 ที่ผ่านมา ณ โรงแรม สยาม แอ็ท สยาม ดีไซน์ โฮเต็ล กรุงเทพฯ กิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อเสริมความมั่นใจผู้ฝากเงินช่วงเศรษฐกิจผันผวน โดยให้ความคุ้มครองเงินฝากในบัญชี ครอบคลุมทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ภายใต้สถาบันการเงิน 35 แห่งในความคุ้มครองของ DPA 
 
การคุ้มครองเงินฝาก 
 
1. ใครเป็นผู้ได้รับความคุ้มครอง

ผู้ฝากที่เป็นบุคคลธรรมดาได้รับความคุ้มครอง เมื่อเปิดบัญชีเงินฝากกับสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก โดยจะคุ้มครองในลักษณะ 1 รายชื่อผู้ฝาก ต่อ 1 สถาบันการเงิน โดยนำเงินฝากของผู้ฝากแต่ละราย ในทุกสาขาและทุกบัญชีมาคำนวณรวมกัน
 
สำหรับผู้ฝากที่เป็นนิติบุคคล เช่น บริษัท กองทุนต่าง ๆ มูลนิธิ วัด สมาคม สหกรณ์ บริษัทประกันภัย บริษัทประกันชีวิต ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเช่นเดียวกับผู้ฝากที่เป็นบุคคลธรรมดา โดยประเภทของเงินฝากและสถาบันการเงินที่ฝากต้องอยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝาก  
 
สำหรับชาวต่างชาติที่เปิดบัญชีเงินฝากกับสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝากที่อยู่ในประเทศไทย จะได้รับการคุ้มครองต่อเมื่อเป็นบัญชีเงินฝากภายในประเทศที่เป็นเงินบาท ในประเภทที่ให้ความคุ้มครอง เว้นแต่เป็นเงินฝากใน “บัญชีเงินบาทของบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ” ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน
 
หมายเหตุ
“บัญชีเงินบาทของบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ” (NON-RESIDENT BAHT ACCOUNT)"  คือ ประเภทบัญชีเงินฝากพิเศษที่เปิดไว้กับสถาบันการเงินในประเทศไทยเป็นสกุลเงินบาท เพื่อทำรายการเฉพาะตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน ซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้ความคุ้มครองของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก

2. คุ้มครองอะไร

ผลิตภัณฑ์เงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง คือ เงินฝากที่เปิดไว้ที่สถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝาก เป็นเงินสกุลบาทและเป็นบัญชีเงินฝากภายในประเทศ ในปัจจุบันมี 5 ประเภท ได้แก่ 

  • เงินฝากกระแสรายวัน
  • เงินฝากออมทรัพย์    
  • เงินฝากประจำ
  • บัตรเงินฝาก
  • ใบรับฝากเงิน
  • ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ทางการเงินหรือเงินฝากบางประเภทไม่ได้รับการคุ้มครอง เช่น
  • เงินฝากประเภทที่เป็นเงินตราต่างประเทศ
  • เงินลงทุนในตราสารต่าง ๆ เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ หน่วยลงทุน (SSF, RMF)
  • เงินฝากในสหกรณ์
  • แคชเชียร์เช็ค ตั๋วแลกเงิน
  • เงินอิเล็กทรอนิกส์ 
  • ผลิตภัณฑ์ประกันประเภทออมทรัพย์ ที่ออกโดยบริษัทประกัน

3. วงเงินคุ้มครอง 

หากสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝากถูกเพิกถอนใบอนุญาต ผู้ฝากในสถาบันการเงินดังกล่าว จะได้รับเงินฝากคืนจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากภายใต้วงเงินคุ้มครองที่กำหนด โดยจะคุ้มครองในลักษณะ 1 รายผู้ฝาก ต่อ 1 สถาบันการเงิน (ไม่ใช่ต่อ 1 บัญชี) ซึ่งหมายถึง วงเงินสูงสุดที่ผู้ฝากที่มีชื่อเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากตามเอกสารการเปิดบัญชีจะได้รับเงินฝากคืน ในกรณีที่ผู้ฝากมีบัญชีเงินฝากหลายบัญชีที่เปิดอยู่กับสถาบันการเงิน 1 แห่ง จะต้องนำเงินฝาก (เงินต้นและดอกเบี้ย) ในทุกสาขาและทุกบัญชีของสถาบันการเงินแห่งนั้นมารวมคำนวณ
 
ปัจจุบันวงเงินคุ้มครองเงินฝากอยู่ที่ 5 ล้านบาทจนถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2564 และจะบังคับใช้วงเงินคุ้มครองที่ 1 ล้านบาทตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป

4. คุ้มครองที่ไหน 

รายชื่อสถาบันการเงินที่ได้รับการคุ้มครอง
 
ธนาคารพาณิชย์ (19 แห่ง)

  1. ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 
  2. ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)  
  3. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) 
  4. ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)  
  5. ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)   
  6. ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)  
  7. ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)  
  8. ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน)  
  9. ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน)  
  10. ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)   
  11. ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน)    
  12. ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) 
  13. ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน)  
  14. ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน)  
  15. ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน)
  16. ธนาคารเมกะ สากลพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)  
  17. ธนาคารแห่งประเทศจีน (ไทย) จำกัด (มหาชน)
  18. ธนาคารเอเอ็นแซด (ไทย) จำกัด (มหาชน) 
  19. ธนาคารซูมิโตโม มิตซุย ทรัสต์ (ไทย) จำกัด (มหาชน) 

สาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ (11 แห่ง)

  1. ธนาคารเจพีมอร์แกน เชส  
  2. ธนาคารโอเวอร์ซี-ไชนีส แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด 
  3. ธนาคารซิตี้แบงก์ 
  4. ธนาคารอาร์ เอช บี จำกัด  
  5. ธนาคารแห่งอเมริกา เนชั่นแนล แอสโซซิเอชั่น
  6. ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด
  7. ธนาคารดอยซ์แบงก์
  8. ธนาคารมิซูโฮ จำกัด
  9. ธนาคารบีเอ็นพี พารีบาส์
  10. ธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น
  11. ธนาคารอินเดียน โอเวอร์ซีส์

บริษัทเงินทุน (2 แห่ง)

  1. บริษัทเงินทุน ศรีสวัสดิ์ จำกัด (มหาชน)
  2. บริษัทเงินทุน แอ็ดวานซ์ จำกัด (มหาชน) 

บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ (3 แห่ง)

  1. บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ เอสเบ จำกัด
  2. บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ เวิลด์ จำกัด
  3. บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ แคปปิตอล ลิ้งค์ จำกัด  

5. ทำอย่างไรถึงได้รับความคุ้มครองเงินฝาก

การคุ้มครองเงินฝากเป็นนโยบายของภาครัฐ เพื่อให้ประชาชนผู้ฝากมั่นใจว่าจะได้รับเงินฝากคืนภายใต้วงเงิน และภายในระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด หากสถาบันการเงินภายใต้ความคุ้มครองถูกเพิกถอนใบอนุญาต
 
ผู้ฝากที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล จะได้รับความคุ้มครองเช่นเดียวกันโดยอัตโนมัติทันทีที่เปิดบัญชีเงินฝากกับสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ซึ่งผู้ฝากไม่ต้องดำเนินการใด ๆ และไม่มีค่าใช้จ่ายเพื่อให้ได้รับความคุ้มครอง โดยวงเงินคุ้มครองจะคุ้มครองในลักษณะ 1 รายชื่อผู้ฝาก ต่อ 1 สถาบันการเงิน โดยนำเงินฝากของผู้ฝากแต่ละราย ในทุกสาขาและทุกบัญชีมาคำนวณรวมกัน
 
ประชาชนและนิติบุคคลสามารถตรวจสอบและสอบถามข้อมูลการคุ้มครองเงินฝากเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการให้ความรู้การคุ้มครองเงินฝาก 1158