“กอบชัย” แจงชัดเซ็น MOU กับ Alibaba ไทยไม่เสียประโยชน์ ปัดข่าวข้อมูลผู้ประกอบการไทยรั่วไหล ย้ำ MOU 4 ฉบับ เน้นพัฒนา SMEs ทุกระดับ

อัปเดตล่าสุด 24 เม.ย. 2561
  • Share :
  • 451 Reads   

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังมีกระแสข่าวความไม่เข้าใจต่อการที่หน่วยงานภาครัฐ ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) 4 ฉบับกับทางบริษัท อาลีบาบา ประกอบด้วย

1) ความร่วมมือในด้านการค้าการลงทุนและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ระหว่างสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) และอาลีบาบา

2) ความร่วมมือด้านการลงทุนสมาร์ทดิจิทัลฮับ (Smart Digital Hub) ในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ระหว่างสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.)กรมศุลกากร และ บริษัท Cainiao Smart Logistics Network Hong Kong Limited

3) ความร่วมมือด้านการพัฒนาเอสเอ็มอี และบุคลากรด้านดิจิทัล ระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และวิทยาลัยธุรกิจอาลีบาบา หรือ Alibaba Business School (ABS) และ

4) ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวผ่านระบบดิจิทัลและการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และอาลีบาบา เพื่อจัดทำไทยแลนด์ทัวริสต์ แพลตฟอร์ม สำหรับประเทศไทยโดยเฉพาะ  โดยระบุว่าการลงนามดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยทั้งในเรื่องโอกาสในการแข่งขันทางการค้า และการตลาด รวมถึงเรื่องของข้อมูลของบริษัทนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ขอชี้แจงว่า ความร่วมมือที่รัฐบาลไทยทำข้อตกลงกับอาลีบาบา มุ่งเน้นการพัฒนาให้เอสเอ็มอีทุกระดับ รวมถึงกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มธุรกิจเกษตรทั่วประเทศให้มีความรู้และทักษะทางด้านดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซสามารถเข้าถึงตลาดออนไลน์สู่ประเทศจีนและตลาดสากล โดยอาลีบาบาจะมาช่วยอบรมให้ผู้ประกอบการไทยมีความรู้เรื่องการตลาดออนไลน์ เพื่อให้สามารถเลือกใช้ผู้บริการ (Service Provider) ที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับตนเองมากที่สุด นอกจากนี้ ยังได้ปรับปรุงระบบด้านโลจิสติกส์โดยอาศัยเทคโนโลยีของอาลีบาบาเข้ามาช่วยให้สามารถส่งสินค้าของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยไปยังตลาดจีนและตลาดสากลได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้นเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ขณะเดียวกันกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบอีคอมเมิร์ซ และโลจิสติกส์ จะใช้กรณีของอาลีบาบาเป็นภาคปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best Practice) ในการปรับปรุงและพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ และโลจิสติกส์ไทยอย่างต่อเนื่องมีคุณภาพและได้มาตรฐาน

“ส่วนความกังวลที่ว่าอาลีบาบาจะได้ฐานข้อมูล (ดาต้าเบส) ของไทย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ผมขอชี้แจงว่าไม่มีประเด็นใดที่จะนำออกซึ่งข้อมูลในระบบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะข้อมูลของผู้ประกอบการไทย โดยหน่วยงานต่าง ๆ ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการปี พ.ศ.2540 อย่างเคร่งครัด ซึ่งหากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายใดเลือกที่จะทำตลาดออนไลน์กับอาลีบาบาก็จะได้ประโยชน์จากข้อมูลการวิเคราะห์ตลาดเป้าหมายผ่านการวิเคราะห์จากระบบฐานข้อมูลของอาลีบาบาด้วย

และการเข้ามาของนายแจ็ค หม่า ประธานของอาลีบาบา ที่ทำให้นักธุรกิจไทยเกิดความวิตกกังวลนั้น ผมขอเรียนชี้แจงว่า  ตลาดการค้าออนไลน์เป็นตลาดการค้าเสรี แม้ในปัจจุบันผู้บริโภคคนไทยก็สามารถเลือกซื้อสินค้าจากประเทศจีนผ่านทางเว็บไซต์ออนไลน์ได้ในหลากหลายช่องทางอยู่แล้ว ซึ่งความร่วมมือที่เกิดขึ้นจะช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยสามารถขายสินค้าได้มากขึ้น ช่วยให้ตลาดจีนและผู้บริโภคชาวจีนที่อยู่ในระบบออนไลน์ซึ่งมีจำนวนกว่า 500 ล้านคน และตลาดของจีนได้รับรู้ถึงศักยภาพของสินค้าและบริการของไทย

ที่สำคัญยุทธศาสตร์ของรัฐบาลจีนได้เปลี่ยนไปจากเดิมที่เน้นการส่งออกไปเป็นเน้นการนำเข้าสินค้าและบริการจากต่างประเทศมากขึ้น โดยความร่วมมือของรัฐบาลไทยกับอาลีบาบา ไม่ได้เน้นการนำเข้าสินค้าจากจีนมาบริโภคในประเทศไทยแต่เป็นการสร้างเครื่องมือเพื่อเพิ่มโอกาสให้สินค้าที่มีคุณภาพของไทยสามารถเข้าไปขายในประเทศจีน และประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม) ได้มากขึ้น” นายกอบชัย กล่าวทิ้งท้าย