Panasonic Concept EV SPACe_C

MaaS แหล่งรายได้ของผู้ผลิตชิ้นส่วน และบริษัท IT

อัปเดตล่าสุด 1 ม.ค. 2562
  • Share :
  • 458 Reads   
อเนกประสงค์ ทนทาน และราคาถูก
 
“ยานยนต์เชิงพาณิชย์แห่งอนาคต” การพัฒนายานยนต์ภายใต้แนวคิด Mobility as a Service (MaaS) ที่กำลังมาแรงในอุตสาหกรรมยานยนต์ ได้สร้างแรงกระเพื่อมให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์มากเป็นอย่างยิ่ง ด้วยความต้องการยานยนต์ที่สามารถตอบโจทย์ในเรื่องของความอเนกประสงค์ เพื่อรองรับการใช้งานที่หลากหลาย และ Ride Sharing อีกทั้งยังจำเป็นต้องมีความทนทานและราคาถูก ซึ่งกำลังเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่องนี้เอง ที่ส่งผลให้ค่ายรถไม่อาจตอบสนองต่อความต้องการเหล่านี้ได้ จึงเป็นที่มาของการก้าวเข้ามามีบทบาทในการพัฒนายานยนต์ โดยผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และธุรกิจ IT 
 
 
พื้นที่ใช้สอยที่กว้างขวาง
 
เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว Panasonic ได้เปิดตัวคอนเซ็ปต์รถยนต์ไฟฟ้าขับขี่อัตโนมัติ (Electric Vehicle: EV) ภายใต้แนวคิด MaaS “SPACe_C” ซึ่งประกอบด้วยตัวถัง SPACe_C ที่เป็นแพลตฟอร์มพื้นฐาน และระบบขับเคลื่อนยานยนต์
 
Panasonic ได้ตัดสินใจออกแบบให้โครงสร้างระบบขับเคลื่อนยานยนต์มีความเตี้ย และรวมอินเวอร์เตอร์ มอเตอร์ คอนเวอร์เตอร์ และระบบชาร์จไฟ เอาไว้ด้วยกันเป็นพื้นเตี้ยส่วนเดียว แทนที่จะกระจายอยู่ทั่วคัน ทำให้ภายในรถมีพื้นที่กว้างขึ้นเป็นอย่างมาก และกลายเป็นจุดเด่นของ SPACe_C ในที่สุด
 
 
โดยระบบขับเคลื่อนโมเดลล่าสุดของ Panasonic สามารถวิ่งด้วยความเร็วต่ำได้โดยใช้ไฟเพียง 18 กิโลวัตต์ และอยู่ระหว่างเร่งพัฒนาเพื่อให้สามารถผลิตจำนวนมากได้ภายในปี 2020 
 
อีกรายหนึ่งที่อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบขับเคลื่อนยานยนต์ภายใต้แนวคิด MaaS คือ Schaeffler Germany ซึ่งได้ออกแบบระบบที่รวมล้อ เบรก และ Actuator เอาไว้ในระบบเดียว ทำให้สามารถควบคุมล้อแต่ละข้างได้โดยอิสระ ปรับทิศได้มากถึง 90 องศา จึงสามารถเลี้ยวได้ด้วยวงแคบ และขับขี่ในพื้นที่แคบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
 
ทางด้าน Bosch เอง ก็มีรายงานว่ากำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยี ที่จะช่วยให้การบำรุงรักษา และบริหารจัดการยานยนต์สะดวกสบายมากขึ้นอยู่ในขณะนี้ และมีกำหนดเปิดตัวยานยนต์ต้นแบบภายในงานจัดแสดงเครื่องใช้ไฟฟ้า และเทคโนโลยี IT “CES 2018” พร้อมติดตั้งซอฟต์แวร์ขับขี่ที่มีคุณสมบัติในการประเมินอุบัติเหตุ และอัพเดตได้ตามความต้องการ 
 
นอกจากนี้ ยังมีผู้เสนอให้ยานยนต์ในแนวคิด MaaS สามารถเชื่อมต่อกับระบบคลาวด์ และรับส่งข้อมูลสภาพคันรถเป็นประจำ เพื่อยกระดับความปลอดภัยบนท้องถนนให้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย
 
ยานยนต์เชิงพาณิชย์แห่งอนาคต
 
ปัจจุบัน นอกจากผู้ผลิตยานยนต์ และผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์แล้ว ธุรกิจ IT หลายราย ยังเข้าร่วมกระแสไปกับการผลิตเทคโนโลยีภายใต้แนวคิด MaaS เช่นเดียวกัน เช่น SoftBank ที่ร่วมมือกับ Toyota ในการก่อตั้ง MONET Technologies 
 
Toyota แสดงความคิดเห็นว่า สิ่งสำคัญที่สำคัญที่สุดต่อแนวคิดนี้ คือการพัฒนายานยนต์ขึ้นมาโดยเฉพาะ โดยคาดการณ์ว่า รถยนต์ไฟฟ้า จะเป็นยานยนต์รูปแบบที่ถูกประยุกต์ใช้ภายใต้แนวคิดนี้มากที่สุด ด้วยเหตุนี้เอง จึงเป็นที่มาของแนวคิดในการพัฒนา e-Palette ของทางบริษัท
 
ซึ่ง Toyota ได้เรียกยานยนต์ที่พัฒนาขึ้นนี้ ว่า “ยานยนต์เชิงพาณิชย์แห่งอนาคต” เนื่องจากได้ถูกออกแบบมาเพื่อการให้บริการไร้คนขับโดยเฉพาะ จึงจำเป็นต้องเป็นยานยนต์ที่มีความปลอดภัย อายุการใช้งานยาวนาน และสามารถเข้าใช้บริการได้โดยสะดวก ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ
 
อย่างไรก็ตาม การพัฒนายานยนต์นั้น เนื่องจากปัจจุบัน ค่ายรถทุ่มเทไปกับการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าเป็นหลัก การแบ่งงบประมาณเพื่อพัฒนายานยนต์ตามแนวคิดนี้จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากลำบาก ส่งผลให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และบริษัท IT เล็งเห็นว่าบริษัทสามารถมีบทบาทในส่วนนี้ได้ ด้วยการรวมชิ้นส่วนเข้าเป็นระบบ และพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องในการทำงานของยานยนต์ เช่น โปรแกรมจองรถที่ใช้งานได้ง่าย
 
Mr. Takaki Nakanishi นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมยานยนต์จาก Nakanishi Research Institute แสดงความคิดเห็นว่า “ทิศทางของแนวคิด MaaS ขึ้นอยู่กับคุณภาพของยานยนต์” เนื่องจากแม้ว่าจะมีบริการที่น่าสนใจเพียงใด หากยานยนต์อัตโนมัติไร้ความน่าเชื่อถือ ผู้บริโภคก็ย่อมไม่กล้าใช้บริการ ซึ่งผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และบริษัท IT นี้เอง ที่จะเป็นตัวแปรสำคัญในด้านนี้ และอาจกลายเป็นแหล่งทำเงินชั้นเยี่ยมในอนาคตก็เป็นได้