028-โตโยต้า-แท็กซี่-รถยนต์ไฮบริด

“โตโยต้า”พ้นบ่วงกม.แข่งขัน บีบดีลเลอร์ห้ามขายทำแท็กซี่

อัปเดตล่าสุด 12 ม.ค. 2563
  • Share :
  • 541 Reads   

บอร์ดแข่งขันเคาะ “โตโยต้า” พ้นพิษเคสบีบดีลเลอร์ห้ามขายอัลติสทำแท็กซี่-ห้ามขายข้ามเขต ชี้นโยบายทำการตลาดรักษาภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์ไม่เข้าข่ายใช้อำนาจผูกขาดไม่เป็นธรรม

นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ กรรมการและโฆษกคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าได้มีการพิจารณากรณีดีลเลอร์ร้องเรียนเรื่องการกำหนดเงื่อนไขห้ามจำหน่ายรถยนต์โตโยต้าและห้ามขายข้ามเขตพื้นที่ ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (สขค.) ได้รับการร้องเรียนผ่านช่องทางของสำนักงานว่า บริษัท โตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทย (จำกัด) มีหนังสือแจ้งผู้แทนจำหน่าย All New Corolla Altis โดยห้ามขายรถ hybrid เพื่อนำไปใช้เป็นรถแท็กซี่ และห้ามขายข้ามเขตพื้นที่ เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2562 ว่าเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 หรือไม่

สันติชัย สารถวัลย์แพศย์

ผลการพิจารณาสรุปว่า พฤติกรรมดังกล่าวไม่เข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมาย เนื่องจากผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยทาง สขค. พบว่า นโยบายห้ามขายรถยนต์ไฮบริดเป็นแท็กซี่ เพื่อเป็นการรักษาภาพลักษณ์ของสินค้า และสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการกำหนดตำแหน่งของผลิตภัณฑ์ (position) ส่วนการที่ห้ามขายข้ามเขตพื้นที่ เป็นเพียงการห้ามตัวแทนจำหน่ายเข้าไปทำกิจกรรมการตลาดข้ามเขตพื้นที่ ซึ่งมิได้มีการห้ามลูกค้าไปซื้อรถยนต์ข้ามเขตพื้นที่การขายแต่อย่างใด

รายงานข่าวระบุว่า พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 มีการป้องกันการผูกขาดและการค้าที่ไม่เป็นธรรม ตามมาตรา 50 หรือตามมาตรา 25 กฎหมายเดิม พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 โดยมีข้อห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดกระทำการในลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

1) กำหนดหรือรักษาระดับราคาซื้อหรือขายสินค้าหรือค่าบริการอย่างไม่เป็นธรรม

2) กำหนดเงื่อนไขในลักษณะที่ไม่เป็นธรรมให้ผู้ประกอบธุรกิจอื่นซึ่งเป็นคู่ค้าของตนต้องจำกัด การบริการ การผลิต การซื้อ หรือการจำหน่ายสินค้า หรือต้องจำกัดโอกาสในการเลือกซื้อหรือขายสินค้า การได้รับหรือให้บริการ หรือในการจัดหาสินเชื่อจากผู้ประกอบธุรกิจอื่น

3) ระงับ ลด หรือจำกัดการบริการ การผลิต การซื้อ การจำหน่าย การส่งมอบ การนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ทำลายหรือทำให้เสียหายซึ่งสินค้า ทั้งนี้ เพื่อลดปริมาณให้ต่ำกว่าความต้องการของตลาด และ 4) แทรกแซงการประกอบธุรกิจของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

ทั้งนี้ หากผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 50 ต้องระวางโทษอาญา กำหนดจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ในปีที่กระทำความผิด หรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่เป็นการกระทำความผิดในปีแรกของการประกอบธุรกิจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ