035-นักลงทุนเกาหลี-นิคมอุตสาหกรรม-BOI-ฐานการผลิต-อีอีซี

WHA นำร่อง “นิคมเกาหลี” ครม.จัดชุดใหญ่ดูดลงทุน

อัปเดตล่าสุด 8 ก.ย. 2562
  • Share :
  • 782 Reads   

ครม.เศรษฐกิจคลอดแพ็กเกจ Thailand Plus ดึง ตปท.ย้ายฐานการผลิตเข้าไทย ให้บีโอไอเพิ่มลดหย่อนภาษีร้อยละ 50 เป็นเวลา 5 ปี “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รมต.อุตสาหกรรมออกโรงเร่ง กนอ. จัดหาพื้นที่ตั้งนิคมดึงนักลงทุนเกาหลีก่อนถูกเวียดนามฮุบ ด้านยักษ์ใหญ่ WHA รับลูกนโยบาย “สมคิด” จัดพื้นที่ 1,000 ไร่ใน EEC นำร่อง
 
หลังรัฐบาลไทยพยายามดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติโดยมีเป้าหมายหลักอยู่ที่ประเทศจีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้-สหรัฐ และยุโรป ล่าสุด นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ได้สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรม-การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จัดเตรียมหาพื้นที่รองรับนักลงทุนเป็นรายประเทศ รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จะต้องจัดแพ็กเกจพิเศษเพื่อดึงดูดนักลงทุนเป็นรายประเทศด้วย

ครม.ศก.คลอดแพ็กเกจลงทุน

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการและเลขานุการ ครม.เศรษฐกิจ กล่าวภายหลังการประชุม ครม.เศรษฐกิจ (6 กันยายน 2562) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบแพ็กเกจเร่งรัดการลงทุนและรองรับการย้ายฐานการผลิตสืบเนื่องจากผลกระทบของสงครามการค้า หรือ Thailand Plus Package (แพ็กเกจ relocation เดิม) 7 ด้าน คือ

1) ด้านสิทธิประโยชน์ ให้ BOI กำหนดมาตรการสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมด้วยการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นเวลา 5 ปีเพิ่มเติมจากเกณฑ์ปกติ แต่มีเงื่อนไขจะต้องเป็นโครงการที่มีเงินลงทุนจริงอย่างน้อย 1,000 ล้านบาท ภายในปี 2564 โดยต้องยื่นขอรับส่งเสริมลงทุนภายในปี 2563

2) ให้ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนและประสานงานการลงทุนในลักษณะ one stop service มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และให้ BOI สามารถ “อนุมัติ” โครงการในกลุ่มที่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคลทุกขนาดการลงทุนเพื่อรับการย้ายฐานลงทุน

3) มาตรการการคลังให้ผู้ประกอบการนำเงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมที่เข้าข่าย advanced technology ไปหักลดหย่อนเพิ่มขึ้นระหว่างปี 2562-2563 รวมทั้งให้ผู้ประกอบการจ้างงานบุคลากรทักษะสูงในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมขั้นสูง สามารถนำค่าจ้างไปหักค่าใช้จ่ายได้ระหว่างปี 2562-2563 และให้ BOI อนุญาตให้นำค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรมที่เข้าข่าย advanced technology ไปคำนวณรวมเป็นวงเงิน “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคลได้เป็นร้อยละ 200 และหาทางนำเงินกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน มาใช้สนับสนุนตั้งสถาบันการศึกษาศักยภาพสูง

4) ให้กระทรวงพาณิชย์ปรับปรุงบัญชีแนบท้ายตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 และแก้ไข กม.ที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย การปรับปรุงกฎระเบียบเรื่องวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน

5) ให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เตรียมจัดหาพื้นที่รองรับการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติแต่ละประเทศเป็นการเฉพาะ (เกาหลี-จีน-ไต้หวัน)

6) ให้กระทรวงพาณิชย์เร่งสรุปการฟื้นความตกลง FTA ไทย-สหภาพยุโรป และการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (CPTPP)

และ 7) กระทรวงการคลังกำหนดมาตรการเพิ่มเติมโดยให้หักเงินลงทุนด้านระบบอัตโนมัติให้เพิ่มขึ้นระหว่างปี 2562-2563 เพื่อกระตุ้นการลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตด้วยระบบอัตโนมัติ

ขณะที่ น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการ BOI เชื่อว่า “มาตรการ Thailand Plus จะช่วยดึงดูดการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่ต้องการย้ายฐานการผลิตมายังไทยมากขึ้น” ทั้งนี้ มาตรการทั้งหมดจะเสนอเข้าที่ประชุม ครม.ในวันที่ 10 ก.ย.นี้ เพื่อพิจารณาเห็นชอบและเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ด บีโอไอ และบังคับใช้ภายในเดือน ก.ย.นี้

ผุดนิคมเกาหลีรับนักลงทุน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” เบื้องต้นมีแผนที่จะตั้ง “นิคมอุตสาหกรรมเกาหลี” เป็นอันดับแรก หลังจากกลับจากการเยือนประเทศเวียดนาม เมื่อเร็ว ๆ นี้พบว่า นักลงทุนเกาหลีเข้ามาลงทุนในเวียดนามเป็นอันดับ 1 จากปัจจัยความพร้อมหลายอย่างที่ไทยอาจยังเสียเปรียบเวียดนาม นอกเหนือจากเรื่องสิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุน ดังนั้น รัฐบาลไทยจะต้องเตรียมพื้นที่ที่มีศักยภาพเพื่อรองรับการลงทุนจากนักลงทุนเกาหลี

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า การตั้งนิคมอุตสาหกรรมเกาหลีเป็นการสานต่อความร่วมมือหลังลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมกับกระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงานเกาหลี เมื่อวันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา นอกจากจะมีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างทั้งสองฝ่ายเพื่อยกระดับความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม ส่งเสริมการลงทุนในสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ที่สอดคล้องความต้องการของเกาหลี อาทิ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ, เศรษฐกิจชีวภาพ, ยานยนต์สมัยใหม่, อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและเครื่องใช้ไฟฟ้า

“ที่เป็นรูปธรรมในขณะนี้ก็คือ รัฐบาลได้สั่งการให้ กนอ. หารือกับภาคเอกชน ให้เตรียมพื้นที่เพื่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมเกาหลีโดยเฉพาะ” แหล่งข่าวกล่าว

WHA งัดที่ดินพันไร่รองรับ

ด้านนาง สาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น หรือ WHA กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า WHA ได้เตรียมพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเกาหลีขึ้นมาโดยเฉพาะ เบื้องต้นได้นำเสนอให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ทราบแล้ว และเมื่อวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมาได้เข้าพบนายสมคิด เพื่อหารือรายละเอียดโครงการและเตรียมวางแผนพัฒนาพื้นที่ “ซึ่ง WHA มีทั้งในจังหวัดชลบุรีและระยอง”

ทั้งนี้ แผนการลงทุนสร้างนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ในปี 2563 ของ WHA มีทั้งหมด 3 แห่งที่อยู่ระหว่างเตรียมแผนทั้งด้านการก่อสร้าง-การตลาดแต่ยังไม่ได้กำหนดชัดเจนว่า นิคมจะรองรับนักนักลงทุนกลุ่มไหน หรืออุตสาหกรรมอะไรเป็นการเฉพาะ ดังนั้น WHA จะนำ 1 ในพื้นที่ 3 แห่งที่เตรียมไว้มาพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมเกาหลีตามนโยบายของรัฐบาล

“WHA มีพื้นที่ทั้งในนิคมเดิมที่สามารถแบ่งโซนให้นักลงทุนเป็นการเฉพาะและพื้นที่ที่พร้อมจะพัฒนาเป็นนิคมแห่งใหม่ เราพร้อมที่จะสนองนโยบายรัฐบาลและเป็นโอกาสดีที่เมื่อรัฐบาลดึงนักลงทุนเกาหลีเข้ามา WHA ก็จะมีนิคมอุตสาหกรรมเกาหลีรองรับได้” น.ส.จรีพรกล่าว

ปัจจุบัน WHA มีนิคมอุตสาหกรรมที่เปิดให้บริการลูกค้าอยู่ 9 แห่ง (อยู่ใน EEC 8 แห่ง +สระบุรี 1 แห่ง) และมีแผนการขยายนิคมอุตสาหกรรมในปี 2563 เพิ่มอีก 3 แห่งใน จ.ชลบุรี 2 แห่ง และระยอง 1 แห่ง รวมทั้งหมด 12 แห่ง ล่าสุดได้เปิดตัวนิคมอุตสาหกรรม WHA อีสเทิร์นซีบอร์ด 3 เป็นนิคมอุตสาหกรรมใหม่แห่งที่ 10 ของWHA พื้นที่ 2,198 ไร่ ตั้งอยู่ที่ อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี มีการการเซ็นสัญญาหนังสือแสดงเจตจำนง (letter of intent หรือ LOI) ลูกค้าจากจีนแล้ว 285 ไร่ ดังนั้น นิคมอุตสาหกรรมเกาหลีจึงมีความเป็นไปได้ที่จะตั้งอยู่ในจังหวัดชลบุรีและระยอง

จับตากลุ่มอมตะ

ส่วนความเคลื่อนไหวของ บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) หนึ่งในคู่แข่งของ WHA ในการประกอบธุรกิจนิคมในภาคตะวันออก ปัจจุบัน AMATA ได้จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอมตะไทย-จีน พื้นที่ 3,000 ไร่ รองรับนักลงทุนจีนโดยเฉพาะ ขณะที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ชลบุรี มีพื้นที่ 25,000 ไร่ อยู่ระหว่างการพัฒนา 8,163 ไร่ ปัจจุบันมีผู้ประกอบการ 769 โรงงาน แบ่งโซนนักลงทุนทั้งไทย-จีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีอยู่แล้ว ส่วนนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ระยอง มีพื้นที่ 16,900 ไร่ อยู่ระหว่างการพัฒนา 876 ไร่ ปัจจุบันมีผู้ประกอบการ 377 โรงงาน

ซึ่งทั้ง 2 นิคม ในส่วนของพื้นที่ที่กำลังพัฒนานั้น ทางวงการผู้พัฒนาที่ดินในภาคตะวันออกกำลังจับตามองว่า กลุ่มอมตะจะนำมาจัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรมเกาหลีขึ้นหรือไม่ หรือจะยังคงใช้รูปแบบการจัดแบ่งโซนตามเดิม

ล่าสุดมีรายงานข่าวเข้ามาว่า การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้เรียกผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมเข้ามาหารือเบื้องต้น เพื่อหาผู้ประกอบการรายที่มีความพร้อมในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเกาหลี หรือนิคมเพื่อรองรับนักลงทุนชาติอื่น ๆ เป็นการเฉพาะ ซึ่งผู้ประกอบการรายใหญ่ “มีศักยภาพที่จะดำเนินการได้”

โดย กนอ.เปิดกว้างให้เอกชนเป็นผู้จัดสรรเองว่า จะใช้รูปแบบอย่างไร ส่วนสิทธิประโยชน์ในการตั้งนิคมอุตสาหกรรมคาดว่า “ไม่ได้อะไรเพิ่ม” กล่าวคือ ได้ตามสิทธิประเภทกิจการนิคมอุตสาหกรรม ได้แก่ การ “ยกเว้น” ภาษีรายได้นิติบุคคล 5 ปี (กลุ่ม A3) แต่เป็นการหาพื้นที่รองรับนักลงทุนที่จะเป็นการช่วยให้นักลงทุนตัดสินใจได้ถึงความพร้อมที่ประเทศไทยมีต่อการรองรับนักลงทุนจากต่างประเทศ