ลุ้น US-จีน ยุติสงครามการค้า เซฟการ์ดทุบส่งออกอิเล็กทรอนิกส์เดี้ยง

อัปเดตล่าสุด 12 ก.พ. 2562
  • Share :
  • 527 Reads   

จับตา “จีน-สหรัฐ” เคลียร์ปมสงครามการค้ารอบใหม่ 27-28 นี้ หากยืดเยื้อฉุดส่งออกปี’62 สรท.ชี้มาตรการเซฟการ์ดทุบส่งออกอุตฯชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่อเนื่อง หวั่นนักลงทุนหันสู่เวียดนามใช้ประโยชน์ EVFTA-เทกระจาดสินค้ามาไทย


นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า แม้ว่าสหรัฐและจีนจะยุติสงครามการค้าชั่วคราวถึง 1 มี.ค. 2562 และกำหนดให้มีการเจรจาระหว่างผู้นำทั้งสองประเทศเพื่อยุติปัญหานี้อีกครั้งในวันที่ 27-28 ก.พ. 62 ที่ประเทศเวียดนาม แต่ภาวะความตึงเครียดสงครามการค้ายังคงส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทย โดยจะเห็นว่ายอดส่งออกเดือนธันวาคม 2561 ไปยังตลาดจีนลดลง 7.34% มูลค่า 2,447 ล้านเหรียญ โดยเฉพาะสินค้าที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องยังคงเป็น กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม อาทิ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไทยต้องเผชิญกับมาตรการเซฟการ์ด ประกอบกับการกำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อมของจีนที่ส่งผลต่อการนำเข้ามันสำปะหลังของไทย


“เดิมจะมีการปรับขึ้นภาษีจาก 10% เป็น 25% ซึ่งผลการเจรจาต้องสิ้นสุดก่อนวันที่ 1 มี.ค. 62 ทำให้ความกังวลว่าสงครามการค้าอาจส่งผลต่อบรรยากาศการค้าโลก และเศรษฐกิจภายในสหรัฐอเมริกา โดยอัตราการว่างงานเริ่มปรับเพิ่มจาก 3.9% เป็น 4.0% ซึ่งจะมีผลเชื่อมโยงถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคทั้งจีนและอเมริกาลดลง หากยังคงยืดเยื้อต่อไป ไทยจะส่งออกลดลงตามไปด้วย ทาง สรท.จึงยังคงเป้าหมายส่งออกรวมปีนี้โต 5%”


อย่างไรก็ตาม แม้บริษัทใหญ่จะใช้วิธีย้ายฐานการผลิตชิ้นส่วนไปยังประเทศที่ไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า แต่สิ่งที่น่ากังวลมากกว่า คือ สินค้าจากจีนทะลักเข้ามายังอาเซียน และย้ายฐานมาไทย เพราะสินค้าจีนไม่สามารถส่งออกโดยตรงไปยังสหรัฐได้ และประเด็นความล่าช้าในการเจรจาการค้าเสรีของไทยกับประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ การเจรจาระหว่างสหภาพยุโรปและไทยอาจจะทำให้นักลงทุนที่ย้ายการลงทุนมา หันมองไปยังประเทศอื่นที่มีการเจรจาไปแล้ว เช่น เวียดนาม ที่กำลังจะทำเอฟทีเอเวียดนาม-อียู (EVFTA) หรือในฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ที่ได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีศุลกากร (GSP) จาก EU ขณะที่ไทยถูกตัดสิทธิ GSP ไปแล้ว


ด้านนายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สรท.กล่าวว่า ในช่วงตรุษจีนที่ผ่านมาพบว่าทิศทางอัตราค่าระวางเรือมีการปรับสูงขึ้น ทั้งเส้นทางอเมริการวมถึงแอฟริกา และอาเซียนปรับขึ้นเล็กน้อย ส่งผลให้การส่งออกไปจีนน้อยลงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา เป็นสัญญาณสินค้ากับค่าระวางยังไม่สมดุลไปในทิศทางที่ควรจะเป็น หากเทียบกับตรุษจีนปีที่ผ่านมา


ด้านนางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ตั้งเป้าการส่งออกปี 2562 ขยายตัว 8% มูลค่า 272,685 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเฉลี่ยการส่งออกต้องมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 22,724 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน จากการส่งออกไปยังตลาดต่าง ๆ ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น อเมริกาเหนือ ขยายตัว 6.1% สหภาพยุโรป (27) 3% ตะวันออกกลาง 3% ละตินอเมริกา 6% เอเชียใต้ 8% แอฟริกา 10% รัสเซียและ CIS 10% จีน 12% ฮ่องกง 12% เอเชียตะวันออก 7% อาเซียน (5) 8.2% และ CLMV 8.4% ทวีปออสเตรเลีย 6.0%


“ถึงแม้สงครามการค้าจะส่งผลกระทบต่อไทย แต่ก็ยังมีสินค้าที่จะได้รับผลประโยชน์ 15 รายการ โดยเฉพาะสินค้าการเกษตร และเฟอร์นิเจอร์ อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญ ไทยยังต้องรักษาคุณภาพสินค้าเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน”


อย่างไรก็ตาม ทางกรมได้วางกลยุทธ์ที่จะผลักดันการส่งออก โดยมุ่งเน้นการขยายโอกาสทางการค้าการลงทุน สนับสนุนผู้ประกอบการชุมชนเข้าสู่ตลาดโลก การเจาะตลาดใหม่ เช่น แอฟริกา ตลาดจีนรายมณฑล และอินเดีย ส่งเสริมสินค้าสำหรับผู้สูงอายุ สินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยง และสินค้าฮาลาล เชื่อมต่อ e-Markerplace ทั่วโลก ตลอดจนขยายธุรกิจบริการศักยภาพ การใช้ประโยชน์จาก big data/ยกระดับการให้บริการ


นายสมคิด ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า หากสงครามการค้าสหรัฐ-จีนไม่สามารถหาข้อตกลงกันได้ คาดการณ์ว่าจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น แม้ว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อไทยโดยตรง เนื่องจากจะมีการนำเข้าสินค้าเข้าไปทดแทนในตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตร แต่อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการส่งออกในอนาคตของไทยจะลดน้อยลง ฉะนั้น ไทยต้องผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ตลอดจนหาคู่ค้าหรือตลาดใหม่รองรับ และในฐานะที่ไทยเป็นประธานอาเซียน ต้องผลักดันให้เกิดการค้าในกลุ่มความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ภูมิภาค RCEP มากขึ้น