060-แนวโน้มธุรกิจ-โลจิสติกส์-e-commerce

โลจิสติกส์บูมรับอีคอมเมิร์ซ ไทย-เทศแห่ตั้ง 500 บริษัทเจาะอาเซียน

อัปเดตล่าสุด 16 พ.ย. 2562
  • Share :
  • 1,115 Reads   

ซื้อขายสินค้าออนไลน์-อีคอมเมิร์ซ ค้าชายแดนโตก้าวกระโดด ดันโลจิสติกส์ ขนส่งบูมสุด ๆ 10 เดือนแรกปีนี้ยอดจดทะเบียนตั้งบริษัททะลัก 500 ราย ยักษ์ต่างชาติแห่ขยายฐานบุกตลาดทุนไทยรายกลาง-เล็กทั้งเหนือ อีสาน กลาง ใต้โดดแจมเค้กก้อนใหญ่ ชิงโควตาขนส่งสินค้าไป CLMV สหพันธ์การขนส่งทางบกฯชี้ยักษ์ข้ามชาติใช้ไทยเป็นศูนย์กลางเจาะอาเซียน จี้รัฐหนุนบริษัทไทยสู้บิ๊กข้ามชาติ

ธุรกิจการค้าทั้งภายในประเทศ ระหว่างประเทศ การท่องเที่ยว รวมทั้งการค้าชายแดนซึ่งเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) ไปถึงจีน ที่เติบโตต่อเนื่องช่วงหลายปีที่ผ่านมา บวกกับเทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยนโลกสู่ยุคดิจิทัล ส่งผลให้การซื้อขายสินค้าและบริการเปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิม การซื้อขายผ่านทางออนไลน์เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด หนุนให้ธุรกิจการขนส่งสินค้า โลจิสติกส์ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องทั้งระบบเติบโตขยายตัวตามไปด้วย

จดทะเบียนใหม่ทะลัก

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากการตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม-ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา มีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการขนส่งสินค้า โลจิสติกส์ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง มากกว่า 500 บริษัท หรือเฉลี่ยเดือนละประมาณ 50 บริษัท โดยกระจายอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็น กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง ปทุมธานี นนทบุรี สระบุรี นครปฐม ราชบุรี นครสวรรค์ สงขลา สุราษฎร์ธานี ขอนแก่น หนองคาย อุบลราชธานี เชียงใหม่ เชียงราย เป็นต้น

ต่างชาติขยายฐานบุกไทย

ขณะเดียวกัน นอกจากธุรกิจขนส่งสินค้า ขนถ่ายสินค้าทั้งในประเทศและระหว่างประเทศแล้ว ยังมีการตั้งบริษัทเพื่อดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งโลจิสติกส์อื่น ๆ ด้วย อาทิ ให้เช่าคลังสินค้า บริการรถเช่า อุปกรณ์ตกแต่งตู้บรรทุกรถ-หลังคาบรรทุกรถ รวมถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ การวางระบบโลจิสติกส์ การบำรุงรักษาระบบ การวางแผน การออกแบบ ในจำนวนนี้พบว่ามีหลายบริษัทที่อยู่ระหว่างการรับสมัครพนักงาน ที่เห็นได้ชัดเจนคือบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นใหม่ดังกล่าว นอกจากจะเป็นบริษัทของผู้ประกอบการไทยแล้ว ยังมีบริษัทจากต่างประเทศจำนวนหนึ่งเข้ามาเปิดให้บริการด้วยเช่น บริษัท ไห่หยวน อินเตอร์เนชั่นแนล โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทตัวแทนขนส่งสินค้าจากประเทศจีน มีสำนักงานใหญ่อยู่ในเมืองเสิ่นเจิ้น และมีสาขาในซัวเถา กว่างโจว จงซาน ตงกวน ฝอซาน ฉงชิ่ง เฉิงตู รวมถึงกรุงเทพฯ หรือบริษัท ไชน่า อาร์ทส์ โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด จากประเทศจีน ก่อตั้งโดย China Arts Intertran Jiansu ซึ่งขยายธุรกิจเข้ามาในไทย พร้อม ๆ กับขยายสาขาไปในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย โดยมีสำนักงานใหญ่ที่เมืองนานกิง มีเครือข่ายธุรกิจครอบคลุมเซี่ยงไฮ้ ออสเตรเลีย และอื่น ๆ หรือบริษัท เอสเอชเค อินเตอร์เนชั่นแนล โลจิสติกส์ (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Sun Hung Kai Logistics เป็นบริษัทลูกของ Sun Hung Kai Properties ซึ่งทำธุรกิจโซลูชั่นการบริหารซัพพลายเชนแบบครบวงจรในฮ่องกง

โลจิสติกส์ไทยอัพเกรดบริการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากโลจิสติกส์ต่างชาติจะขยายฐานเข้ามาเจาะตลาดในประเทศไทยแล้ว กระแสบูมการซื้อขายสินค้าและบริการออนไลน์ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ การท่องเที่ยว รวมทั้งการค้าชายแดนที่มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการขนส่งและโลจิสติกส์ไทยส่วนกลางและในภูมิภาคพากันปรับตัวรับเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะการขนส่งและบริการเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ซึ่งมีทั้งยื่นขอปรับปรุงมาตรฐานรถกับกรมการขนส่งทางบก ขอเพิ่มปริมาณรถเพื่อรองรับการขนส่งสินค้าที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น การขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจขนส่งสินค้าสำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ ฯลฯ ในจำนวนนี้มีทั้งการยื่นขอใบอนุญาตในนามนิติบุคคล และในนามบุคคลธรรมดา

และพบว่ามีการยื่นขอเพิ่มรถ ปรับปรุงมาตรฐานรถ ขอออกใบอนุญาตใหม่ ในพื้นที่เกือบทุกจังหวัดทั่วประเทศ ล่าสุด ข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบกระบุว่า เดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการยื่นขอปรับปรุงมาตรฐานรถ อาทิ หจก.โยธินการท่องเที่ยว จ.ประจวบคีรีขันธ์ หจก.ไฟว์ สตาร์ ทราเวล จ.เชียงใหม่ ขอเพิ่มรถ อาทิ หจก.ลูกแม่มังกร ทราเวล จ.สระบุรี หจก.พัฒนา แวน จ.ปทุมธานี หจก.โชคสัมฤทธิ์ ทรานสปอร์ต จ.สมุทรปราการ เป็นต้น

ขอขนสินค้าข้ามแดนเพียบ

ขณะเดียวกัน มีผู้ประกอบการไทยในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคจำนวนมาก ยื่นขอใบอนุญาตประกอบการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ อาทิ หจก.เชื่อสกุล โลจิสติกส์ บจ.ออนไทม์ ทรานสปอร์ต บจ.พิชญ ทรานสปอร์ต บจ.ยู ไอ ยู โลจิสติกส์ จ.นนทบุรี บจ.พงษ์ระวี จ.เชียงใหม่ บจ.พืชผลสุวรรณภูมิ บจ.สามเสือ ทรานสปอร์ต หจก.ต๋องพัฒนา หจก.ศิริสมบูรณ์ทรัพย์ จ.ตาก บจ.มีโชคขนส่ง จ.นครราชสีมา บจ.เจ แอนด์ เจ โลจิสติกส์ ซิสเต็มส์ บจ.นิทซูโลจิสติกส์ จ.พระนครศรีอยุธยา บจ.หนองคาย นิคมภักดิ์ นายสมศักดิ์ นันทะ จ.หนองคาย หจก.เจริญทรัพย์อินเตอร์ไรซ์ บจ.บุญรักษาขนส่ง จ.มุกดาหาร บจ.ทรีทรานส์ (1995) จ.ระยอง บจ.พงษ์ศิริ โลจิสติกส์ จ.สงขลา เป็นต้น

ห่วงสินค้าจีนทะลักประเทศ

นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ธุรกิจโลจิสติกส์ในประเทศไทยกำลังบูมมาก โดยเฉพาะธุรกิจขนส่งด่วน (express) ผลพวงจากแบรนด์ต่างประเทศ เช่น Kerry DHL และอาลีบาบา ฯลฯ ขยายฐานธุรกิจเพิ่มขึ้น เพราะไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีโควต้าขนส่งสินค้าไปประเทศเพื่อนบ้านในลุ่มแม่น้ำโขงทั้ง 4 ประเทศ (เมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม) ตามที่กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กำหนดไว้ รวมอยู่ที่ 650 คัน โดยแบรนด์นอกที่เข้ามามีศักยภาพด้านแหล่งเงินทุนและระบบปฏิบัติการ (software) สูงมาก

สิ่งที่สหพันธ์มีข้อกังวลในขณะนี้คือ การเข้ามาของอาลีบาบา โดยเฉพาะการได้รับสิทธิ์เข้าพื้นที่เขตการค้าเสรีดิจิทัล จากนโยบายพัฒนาพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งอาลีบาบาได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ 13 ปี จากการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะทำให้เกิดการทะลักเข้ามาของสินค้าจากประเทศจีน นอกจากนี้ รัฐบาลยังไม่มีนโยบายช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยเท่าที่ควร ต้องยอมรับความจริงว่า ระบบบริหารจัดการและโปรแกรมต่าง ๆ ของบ้านเรายังสู้ต่างประเทศไม่ได้ อีกทั้งรัฐมีมาตรการจำกัด ควบคุมผู้ประกอบการหลายอย่าง เช่น การบังคับให้รถบรรทุกวิ่งเฉพาะตอนกลางคืน 00.00-04.00 น. ที่ทำให้การขนส่งสินค้าทำได้เฉพาะตอนกลางคืน

“บริษัทต่างประเทศส่วนใหญ่ใช้วิธีจ้าง outsource และขายแฟรนไชส์ให้คนไทย ซึ่งบริษัทเหล่านี้ไฟแนนซ์ค่อนข้างให้ความน่าเชื่อถือมากกว่าผู้ประกอบการไทย เวลาซื้อรถสำหรับใช้งานด้านขนส่งจะซื้อที 100 คันขึ้นไป และจะได้รับการอนุมัติสินเชื่อง่ายกว่ามาก บางทีมีโปรโมชั่นพิเศษถึงขั้นไม่ต้องวางเงินดาวน์เลยก็มี แต่กับผู้ประกอบการไทยปล่อยกู้ยากมาก ดังนั้น รัฐจึงควรจะต้องมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วย” นายอภิชาติกล่าว

ขอขนส่งหาที่ตั้งจุดพักสินค้า

นายอภิชาติกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังพบปัญหาอีกว่า กรุงเทพมหานคร (กทม.) กำลังมีแนวคิดจะไล่ที่สถานีขนส่งสินค้าพุทธมณฑลและร่มเกล้า ซึ่ง ขบ.เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างให้ เนื่องจากมีประชาชนไปร้องเรียนว่า ทั้ง 2 จุดเป็นพื้นที่ที่ทำให้เกิดมลพิษ หาก กทม.มาไล่ที่ดังกล่าวจริง จะทำให้ผู้ประกอบการไม่มีที่พักสินค้าจากทั่วประเทศ ตนเข้าใจว่ารัฐบาลพยายามบูมการขนส่งทางราง อยากให้ผู้ประกอบการไปใช้ แต่สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ยังไม่เกิดขึ้นตามระบบรางที่รัฐกำลังพัฒนา จึงเกิดปัญหาสินค้าจำนวนมากไปตกค้างตามสถานีรถไฟในจังหวัดต่าง ๆ และหากเทียบเป็นสัดส่วนแล้ว การขนส่งทางรางมีสัดส่วนเพียง 10% ของปริมาณการขนส่งสินค้าทั้งหมดเท่านั้น อีก 80% ยังนิยมใช้การขนส่งทางถนนอยู่ และอีก 10% เป็นการขนส่งทางน้ำเพื่อเป็นการแก้ปัญหา สหพันธ์กำลังร่างข้อเสนอถึง นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดี ขบ. ให้ช่วยจัดหาพื้นที่สำหรับสร้างสถานีขนส่งสินค้าแห่งใหม่ ขนาดประมาณ 2,000-3,000 ไร่

โดยสหพันธ์เห็นว่า พื้นที่ที่เหมาะสมคือแถบ อ.บางใหญ่ และ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี เนื่องจากเป็นพื้นที่นอกเมือง ไม่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และสอดคล้องกับนโยบายของนายศักดิ์สยามที่ให้รถบรรทุกวิ่งเฉพาะช่วงกลางคืนด้วย โดยสหพันธ์กำลังศึกษาความเป็นไปได้ของพื้นที่ดังกล่าว และรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะเสนอได้ประมาณต้นปี 2563

ตลาดออนไลน์หนุนธุรกิจบูมจัด

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่า ตั้งแต่ปี 2559-2561 ธุรกิจรับส่งเอกสารและสิ่งของเติบโตต่อเนื่อง โดยปี 2562 (มกราคม-เมษายน) มีการขยายตัวของจำนวนและทุนจดทะเบียน 1.32 เท่า และ 1.16 เท่าตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 ขณะที่รายได้เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องเช่นเดียวกัน โดยปี 2558-2560 อัตราการเติบโตเฉลี่ย 29.10% ส่วนหนึ่งมาจากการเติบโตของการตลาดแบบออนไลน์ เห็นได้จากมูลค่าอีคอมเมิร์ซในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับการคาดการณ์ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ที่คาดการณ์มูลค่าอีคอมเมิร์ซปี 2561 เติบโต 14.04%

ทั้งนี้ ไทยมีมูลค่าการประกอบธุรกิจแบบขายสินค้า หรือบริการไปยังผู้บริโภคโดยตรง (B2C) อันดับ 1 ของอาเซียน มูลค่าสูงถึง 24.70 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทิ้งห่างมาเลเซีย อันดับสองที่ 19.41 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ธุรกิจรับส่งเอกสารและสิ่งของส่วนใหญ่ตั้งอยู่ใน กทม. 350 ราย คิดเป็น 61.40% รองลงมาเป็นภาคกลาง 127 ราย หรือ 22.28% พิจารณาในส่วนของจังหวัดส่วนใหญ่กระจายตัวในเขตปริมณฑล ได้แก่ นนทบุรี 41 ราย ปทุมธานี 35 ราย สมุทรปราการ 32 ราย ส่วนการลงทุนในธุรกิจนี้ของนิติบุคคลต่างชาติ 3 อันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง อังกฤษ