พิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ MOU ระหว่าง บริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด กับ สมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย

อุตสาหกรรมการบิน ร่วม สมาคมซับคอนฯ ลงนาม MOU พัฒนาขีดความสามารถ หนุนผู้ประกอบการไทยผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน-ซ่อมบำรุง

อัปเดตล่าสุด 10 เม.ย. 2564
  • Share :
  • 2,794 Reads   

ตามยุทธศาสตร์ชาติที่เป็นนโยบายของรัฐบาล ต้องการให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศเพื่อการพึ่งพาตนเองในด้านอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (S-Curve 7) และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ (S-Curve 11) นั้น บริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด (TAI) และสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (Thai Subcon) จึงได้ลงนาม ความร่วมมือ MOU ร่วมกันเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของทั้งสองฝ่ายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบิน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดในการผลักดันการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ

Advertisement

 

เมื่อวันศุกร์ที่ 9 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมคงสิทธิ บริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด - สมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (Thai Subcon) ได้ร่วมพิธีลงนาม บันทึกความร่วมมือ (MOU) กับบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด (TAI) เพื่อร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการไทยเพื่อการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการดัดแปลง ปรับปรุงอากาศยาน/อากาศยานไร้คนขับ/อวกาศยาน ผลิตและซ่อมบริภัณฑ์ภาคพื้น และอุปกรณ์สนับสนุนการซ่อมบำรุงอากาศยาน และประสานงานกับหน่วยผู้ใช้งานในการรับรองมาตรฐาน เช่น มาตรฐาน AS9100 และ/หรือมาตรฐาน NADCAP หรือมาตรฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

 
บริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด นั้นก่อตั้งเป็นบริษัทจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ประเภทบริษัทจำกัด มีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท และได้รับการรับรองเป็นหน่วยซ่อมมาตรฐานจากกรมการบินพลเรือน กระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2547 เพื่อเป็นหน่วยงานให้บริการเกี่ยวกับการซ่อมบำรุงอากาศยานให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและเอกชน โดยเห็นชอบในหลักการที่จะให้มีการจัดตั้งบริษัทจำกัด เพื่อดำเนินกิจกรรมซ่อมอากาศยาน และมีมติที่สำคัญเกี่ยวกับบริษัท ฯ ได้แก่ ให้บริษัท ฯ สามารถดำเนินกิจการซ่อมบำรุงอากาศยานโดยใช้ประโยชน์ทรัพย์สินและบุคลากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ที่ประสงค์จะซื้อหรือจ้างบริษัท ฯ เกี่ยวกับพัสดุอุปกรณ์อากาศยาน หรือการซ่อมบำรุงอากาศยานและอุปกรณ์ ให้ดำเนินการซื้อหรือจ้างซ่อมได้ โดยวิธีเจาะจง 
 
สมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย คือสมาคมที่ได้รวมกลุ่มบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมต่าง ๆ กว่า 400 บริษัท ทั้งผู้ผลิตชิ้นส่วนโลหะ ยาง พลาสติก อิเล็กทรอนิกส์ บรรจุภัณฑ์ รวมไปถึงงานบริการบำรุงซ่อมแซมเครื่องจักร โดยสมาชิกสามารถสนับสนุนและผลิตชิ้นส่วนได้เกือบทุกอุตสาหกรรม โดยมีฐานลูกค้าหลักคืออุตสาหกรรมยานยนต์ แต่ด้วยนโยบายของสมาคมฯ ที่มุ่งมั่นพัฒนา หาช่องทางการตลาดใหม่ ๆ และส่งเสริมให้สมาชิกได้ต่อยอดเทคโนโลยีการผลิตของตนเองเข้าสู่อุตสาหกรรม S-Curve ตอบรับนโยบายการสนับสนุนของรัฐบาล สมาคมฯ จึงได้ก่อตั้งกลุ่มคลัสเตอร์อุตสาหกรรม S-Curve จากสมาชิกขึ้นมา 5 คลัสเตอร์ หนึ่งในนั้นคือ คลัสเตอร์อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ (S-Curve 11) และคลัสเตอร์อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (S-Curve 7) 
 
 
Advertisement

ด้วยการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของ TAI ร่วมกับกองทัพอากาศ ที่เชื่อมโยงให้สมาคมไทยซับคอน ให้ได้มีโอกาสพบผู้บริหารและทีมงานของ TAI ได้นำเสนอศักยภาพ และคุณภาพการผลิตของบริษัทสมาชิก จนได้รับการยอมรับจากทาง TAI และได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจาก สสว. กองทัพอากาศ และ TAI ในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ให้ผู้ประกอบการไทย อาทิเช่น (1) เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้เข้าเยี่ยมชมและศึกษาดูงานกิจการของ TAI ณ ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน กองบิน 2 จ. ลพบุรี และที่อำเภอตาคลี จ. นครสวรรค์ (2) ทำโครงการโดรนต้นแบบให้ผู้ประกอบการไทยได้มีโอกาสที่จะผลิตชิ้นส่วนโดรนให้กับกองทัพอากาศ (3)ให้ผู้ประกอบการได้ร่วมวิจัย พัฒนา และผลิตอุปกรณ์ภาคพื้น โดยคนไทย 100% สำหรับใช้ในศูนย์ซ่อมอากาศยานของ TAI (4) นำชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่ใช้ในศูนย์ซ่อมอากาศยานมาจัดแสดงหาผู้ผลิตภายในประเทศไทยในงานแสดงสินค้า Subcon Thailand 2020 เป็นต้น 

ความร่วมมือระหว่าง TAI และ Thai Subcon ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง จึงเกิดเป็น MOU ฉบับนี้เพื่อร่วมกันสร้างชาติไทยให้มีกำลัง มีเทคโนโลยี การผลิตเครื่องบิน และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับอากาศยานที่เข้มแข็ง โดยคนไทยเพื่อคนไทย ลดการนำเข้า ลดการพึ่งพาต่างชาติ เพื่อให้ประเทศชาติมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนสืบต่อไป