Machine Tools 2019 ลงทุนเครื่องจักรอย่างไรในปีนี้

อัปเดตล่าสุด 1 ม.ค. 2562
  • Share :
  • 2,241 Reads   

ในช่วงปี 2018 ที่ผ่านมานี้ เป็นอีกปีที่ภาคอุตสาหกรรมมีการพัฒนาเทคโนโลยีในด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์อุตสาหกรรม ปัญญาประดิษฐ์ และอื่น ๆ อีกมากมาย ด้วยแรงผลักดันหลักจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานในระดับโลก ท่ามกลางปัญหาสงครามการค้าจีน - สหรัฐฯ ได้กลายเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้ผลิตทั่วโลกจำเป็นต้องจับตามอง การคว่ำบาตรจีนโดยสหรัฐฯ ได้ส่งผลให้เกิดความถดถอยในตลาด Machine Tools ในช่วงปลายปี ผู้ผลิตเครื่องจักรกลหลายรายได้ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีน เช่น Mitsubishi Electric ในขณะที่ บางรายยังเติบโตในตลาดจีนได้ดี และเร่งเสริมกำลังผลิตรองรับความต้องการของตลาด นอกจากนี้ ยังมีปัญหาภายในอุตสาหกรรมเองที่หลายรายต้องขยายเวลาการจัดส่งเครื่องจักรออกไป ด้วยเหตุจากการขาดแคลนชิ้นส่วนเครื่องจักร เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นปัญหาสืบเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2017 อีกด้วย

ในขณะเดียวกัน อีกหนึ่งตลาด Machine Tools ที่กำลังได้รับการจับตามอง คือตลาดประเทศอินเดีย โดยผู้ผลิตค่ายญี่ปุ่น แสดงความเห็นว่าสภาพตลาดอินเดียในปัจจุบัน ไม่ต่างไปจากช่วงที่ตลาดประเทศจีนมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด อีกทั้งยังมีความต้องการ Machine Tools ขนาดใหญ่ที่มั่นคง

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีก็ยังคงพัฒนาให้มีระดับที่สูงขึ้นไปอีกอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงมากยิ่งขึ้นของผู้บริโภคได้

หนึ่งในปัจจัยที่ผลักดันสิ่งนี้ คือ เทคโนโลยีด้านวัสดุ ซึ่งเกิดขึ้นจากความต้องการลดน้ำหนักรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles: EV) ที่เป็นแรงผลักสำคัญให้เกิดความต้องการวัสดุทดแทน ซึ่งมีความแข็งแรงเท่าเดิม หรือสูงขึ้น พร้อมด้วยน้ำหนักที่เบาลง เช่น CFRP (Carbon Fiber Reinforced Polymer), High Tensile Steel, Ultra-High Tensile Steel, ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติทั้งหมดตรงตามความต้องการของผู้ผลิตยานยนต์ และวัสดุใหม่ ๆ ที่ถูกคิดค้นขึ้นตลอดเวลาในอุตสาหกรรมอื่น ๆ 

วัสดุชนิดใหม่เหล่านี้ นอกจากจะมีต้นทุนการผลิตสูงแล้ว ยังเป็นวัสดุที่สามารถขึ้นรูป หรือแปรรูปได้ยากในปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดการวิจัยและพัฒนาเพื่อนำมาซึ่งวิธีการลดต้นทุนในการผลิตวัสดุเหล่านี้ สิ่งนี้จะกลายเป็นเทรนด์หลักในการพัฒนา Machine Tools ต่อไปอีกระยะเลยทีเดียว

อีกปัจจัยหนึ่ง คือ ความต้องการ IoT และ AI ซึ่งส่งผลให้ความต้องการเซมิคอนดัคเตอร์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ พุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย 

ซึ่งทั้ง 2 ส่วนนี้ เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ผลิต Machine Tools จำนวนไม่น้อย ต่างคาดการณ์ว่า เครื่อง 5 แกน จะกลายเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในอนาคต สืบเนื่องมาจากการผลิตชิ้นส่วนจากวัสดุใหม่เหล่านี้สามารถทำได้ยาก และชิ้นส่วนคุณภาพสูง ล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยความแม่นยำในการทำงานที่สูงขึ้นมากกว่าที่ผ่านมา ซึ่งเครื่อง 5 แกน ที่สามารถจับชิ้นงานได้อย่างมั่นคง และมีโครงสร้างที่อำนวยต่อการปรับหมุนชิ้นงาน และรองรับ Endmill ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถเข้ามาตอบโจทย์ในส่วนนี้ได้

อีกเทรนด์หนึ่ง คือ Machining Center ซึ่งมีคุณสมบัติในการทำงานต่อเนื่องด้วยความแม่นยำสูง และกำลังกลายเป็นเทรนด์ในการนำเสนอโซลูชันในยุคนี้ และด้วยความยืดหยุ่นของ Machining Center นี้เอง ที่ทำให้สามารถตอบรับกับความต้องการของอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่มีการพัฒนาไปในแนวทางที่มุ่งไปยังการใช้ชิ้นส่วน และแพลตฟอร์มร่วมกัน รวมไปถึงความต้องการจากภาคส่วนอื่น ๆ เช่น การนำไปใช้ร่วมกับเครื่องฉีดขึ้นรูป, เครื่อง EDM, และหุ่นยนต์ และจะตามมาด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มจากบริการหลังการขาย เช่น Remote Monitoring 

นอกจากนี้ เมื่อปีที่แล้วนี้เอง ที่ผู้ผลิตหลายรายแสดงให้เห็นว่า IoT และ AI เป็นอะไรที่มากกว่าแค่ “การเชื่อมต่อ” และสามารถแสดงผลลัพธ์ได้จริง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ จะกลายเป็นปัจจัยให้เกิดการแพร่หลายในการใช้เทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น 

ซึ่งเมื่อรวมกับแนวโน้มที่ผู้พัฒนาคาดการณ์ว่า Machine Tools ในอนาคต จะมีความสามารถในการเชื่อมต่อกันอย่างทั่วถึง ทำงานอัตโนมัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และควบคุมได้ง่าย หรือสามารถควบคุมจากทางไกลได้แล้ว จึงเป็นที่มาหนึ่งของอีกแนวโน้มว่า อุตสาหกรรม Machine Tools และอุตสาหกรรม IT จะมีความเกี่ยวข้องกันมากยิ่งขึ้นในอนาคตอีกด้วย