Mazda ประกาศเตรียมเปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ที่จะมาแทนที่ “SKYACTIV”

อัปเดตล่าสุด 12 มี.ค. 2561
  • Share :
  • 1,263 Reads   

Mazda ประกาศเตรียมเปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ที่จะมาแทนที่ “SKYACTIV” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในรถรุ่นปัจจุบัน โดยเทคโนโลยีใหม่ที่ว่านี้จะประกอบไปด้วยโมเดลรถยนต์ที่หลากหลายมากขึ้น มีการออกแบบให้ใช้โครงสร้างและชิ้นส่วนร่วมกันได้ แต่คงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของรถยนต์แต่ละแบบ และเทคโนโลยีใหม่ที่จะมาแทนที่ “SKYACTIV”  นี้จะส่งผลต่อฝ่ายจัดซื้ออย่างไรนั้น คือเรื่องที่ Mr. Kazuhisa Fujikawa ผู้บริหารระดับสูงของบริษัท Mazda ที่รับผิดชอบในด้าน Global Purchasing and Cost Innovation จะมาให้คำตอบในบทสัมภาษณ์นี้

 

Q: เทคโนโลยีใหม่ของบริษัท ทำให้งานของฝ่ายจัดซื้อเปลี่ยนไปหรือไม่

A: “ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาฝ่ายจัดซื้อของเราก็มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สอดคล้องกับตลาดโลกเหมือนกัน แต่แนวทางนี้คงจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ออกมา”

Q: ซึ่งนั่นหมายความว่าอะไรครับ

A: “ก็จะมีการดึงแผนกตรวจสอบคุณภาพสินค้าและโลจิสติกส์เข้ามาร่วมงานกับแผนกพัฒนา แผนกการผลิต และฝ่ายจัดซื้อ พร้อมดำเนินการผลิตไปด้วยกันอย่างพร้อมเพรียง เราวางระบบให้การผลิตในทุกภูมิภาค ทั้งในญี่ปุ่น หรือต่างประเทศ เช่น ไทย และเม็กซิโก ให้มีมาตรฐานเดียวกันทั้งวิธีการผลิต ขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพสินค้า รวมไปถึงซัพพลายเออร์และบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเราเรียกวิธีการนี้ว่า Single Engineering”

“ปัจจุบันนี้การพัฒนาและการตรวจสอบคุณภาพที่เม็กซิโกนั้นแตกต่างออกไปจากที่อื่น ซึ่งเป็นแนวทางที่ไม่ค่อยจะมีประสิทธิภาพนัก เราจึงอยากเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นการหาวิธีที่เหมาะสมสำหรับชิ้นส่วนแต่ละชิ้น รวมถึงรับฟังความเห็นจากซัพพลายเออร์เพื่อให้ซัพพลายเชนมีประสิทธิภาพที่สุดน่ะครับ”

Q: แล้วการผลิตรถยนต์จะเปลี่ยนไปไหมครับ

A: “แม้จะเป็นรถคนละโมเดล แต่เราสามารถทำงานร่วมกันได้ง่ายเพียงแค่การเปลี่ยนอุปกรณ์จับยึด (Jig) ทำให้ไม่ว่าจะญี่ปุ่น ไทย หรือเม็กซิโกก็สามารถผลิตชิ้นส่วนแบบเดียวกันได้ รวมไปถึงการวางแผนขยายการผลิตชิ้นส่วนไปยังนอกบริษัท อย่างไรก็ตาม หากทั้ง 5 แผนกที่ระบุไว้ข้างต้นรวมกันเป็นหนึ่งไม่ได้ก็การทำงานนั้นจะไม่มีทางประสบสำเร็จ ต้องบอกเลยนะครับว่านี่เป็นวิธีการผลิตรถยนต์ในอุดมคติของ Mazda ซึ่งตอนนี้เราก็อยู่ในระหว่างการเตรียมความพร้อม เพื่อให้เราสามารถทำมันได้สำเร็จในอนาคตต่อไป”

Q: เรียกได้ว่าเป็นการผลิตที่ยืดหยุ่นตามความต้องการเลยใช่ไหมครับ

A: “ก็เนื่องจาก Mazda มีสเกลในการผลิตไม่มากนะครับ จากมุมฝ่ายจัดซื้ออาจจะเป็นจุดอ่อน แต่เราก็อยากเปลี่ยนมันให้เป็นจุดแข็ง เลยเลือกใช้ซัพพลายเออร์ในท้องถิ่น เพื่อให้ทั้ง 5 ฝ่ายซัพพลายเออร์สามารถหารือกันได้ง่าย ซึ่งหากโครงสร้างนี้ดำเนินไปได้ด้วยดีแล้ว ฝ่ายจัดซื้อก็จะเปลี่ยนไปจากเดิมมากเลยทีเดียว”

Q: แล้วแนวทางของโรงงานที่กำลังก่อสร้าง ณ รัฐแอละแบมา ร่วมกับ Toyota เป็นเช่นไร

A: “ตอนนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้นะครับ เนื่องจากเป็นความร่วมมือระหว่างบริษัทที่เคยเป็นคู่แข่งในตลาดกันมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลของฝ่ายจัดซื้อซึ่งอยู่ภายใต้กฏหมายต่อต้านการผูกขาดของนานาประเทศ จึงไม่อาจให้อีกฝ่ายรับรู้ต้นทุนของกันและกันได้ ปัจจุบันเราจึงอยู่ระหว่างการดำเนินการให้ถูกต้องไปพร้อมกับฝ่ายกฎหมายของเรา”