คุยกับคุณจิระพันธ์ อุลปาทร ถึงแนวคิดและเบื้องหลังความตั้งใจในการจัดโครงการฝึกอบรมพิเศษ “มาตรวิทยามิติ”

อัปเดตล่าสุด 10 พ.ค. 2561
  • Share :
  • 1,281 Reads   

ระบบมาตรวิทยามิติ (Dimensional Metrology) เป็นวิชาการแขนงหนึ่งที่มีความสำคัญยิ่งต่อการสร้างมาตรฐานและหลักประกันด้านคุณภาพ สร้างโอกาสในการรองรับผลิตภัณฑ์และบริการเข้าสู่ตลาดเพิ่มขีดการแข่งขันของสินค้าไทยในระดับสากล

สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันไทย-เยอรมัน บริษัท มิตูโตโย (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท สุมิพล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้ร่วมมาตรฐานการเรียนการสอนให้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งได้จัดโครงการฝึกอบรมพิเศษ มาตรวิทยามิติด้วยการออกแบบหลักสูตรเป็นการเฉพาะทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ทันสมัยประกอบการฝึกอบรมทุกหมวดวิชา โดยคัดครูผู้ฝึกสอนที่เกี่ยวข้องจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศเข้ารับการฝึกอบรม

โดยในงานนี้ คุณจิระพันธ์ อุลปาทร ได้เปิดเผยกับ M Report ถึงแนวคิดและเบื้องหลังความตั้งใจในการจัดโครงการอบรมในครั้งนี้

ความต้องการใช้มาตรวิทยาในงานอุตสาหกรรม

มาตรวิทยา หรือ ระบบการวัด โดยโครงการที่เราจัดเป็นเรื่องของมาตรวิทยาด้านมิติ (Dimensional Metrology)  ซึ่งหมายถึงระบบการวัดความกว้าง ความยาว ความสูง ความหนา ในที่นี้เราค่อนข้างเน้นไปในทางอุตสาหกรรม

ซึ่งสัดส่วนของมาตรวิทยาทางด้านมิติกับมาตรวิทยาทางด้านอื่น ๆ ต้องบอกว่ามีความต่างกันเยอะมาก  ถ้าเปรียบเทียบกันมาตรวิทยาทางด้านมิติมีสัดส่วนที่มากถึง 70-80 เปอร์เซ็นต์ เพราะว่าเป็นกระบวนการในด้านการวัดที่มีสัดส่วนมากที่สุด เพราะว่าเป็นเรื่องของขนาด ยิ่งถ้าในอุตสาหกรรมยิ่งเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก

แล้วตอนนี้ในตลาดมีความต้องการใช้ในเรื่องของมาตรวิทยามิติมากน้อยเท่าไหนบ้าง

อย่างที่เรียนให้ทราบในเชิงของด้านอุตสาหกรรม พูดได้ว่าโรงงานทุกแห่งต้องมีระบบการวัดทางด้านมิติ ยกตัวอย่างแบบใกล้ตัวอย่างเส้นเส้นก๋วยเตี๋ยว ความบางของเส้นก๋วยเตี๋ยวเพื่อให้มีรสชาติที่อร่อยและกลมกล่อม เส้นก๋วยเตี๋ยวยังต้องวัดความหนาเลย ถ้าหนาเกินไปก็กลายเป็นแป้งเยอะ ก็ต้องนุ่มนวล หมายความว่าไม่มีอุตสาหกรรมไหนที่ไม่ต้องใช้การวัดเลย เพราะว่าเป็นเรื่องของขนาดความกว้าง ความยาว ความสูง ความหนา เรียกได้ว่าไม่ใช่ความต้องการดีกว่า เรียกว่าความจำเป็นในทุกอุตสาหกรรม ไม่มีอุตสาหกรรมไหนยกเว้นเลย

เทคโนโลยีที่นำเข้ามาใช้ในการมาตรวิทยามิติ

เทคโนโลยีในการวัดก็จะประกอบไปด้วยหลาย ๆ ส่วน  ส่วนแรกที่สำคัญที่สุด ก็คือเครื่องมือในการวัด อย่างที่เห็นในห้อง Solution Center มีเครื่องวัด 3 แกนที่ตั้งวัดทุกจุดทุกมุม ความกลม ความเรียบพื้นผิวและขนาด เครื่องมือพวกนี้ก็จะมีตั้งแต่ระดับเล็กจนขึ้นไปถึงระดับใหญ่ที่เป็นเครื่องจักร อีกส่วนคือวิธีการวัด การเลือกใช้เครื่องมือในการวัดงานแต่ละชิ้นก็แตกต่างกัน เพราะว่าเครื่องมือประเภทหนึ่งต้องวัดชิ้นงานแบบหนึ่ง การเลือกเครื่องมือที่ผิดก็ไม่สามารถที่จะตอบคำถามในการวัดได้ ตรงนี้เป็นเรื่องเทคนิคที่เราต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจวิธีการวัด ต้องวัดให้ถูกต้อง ถ้าวัดไม่ถูกต้องค่าของมันก็จะไม่ได้ค่าตรงตามที่ต้องการ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อวัดเสร็จเราก็ต้องเก็บเป็นข้อมูล พวกนี้ก็จะมีเทคโนโลยีในการประมวลผล เก็บข้อมูล มีการผลิตที่เป็น Mass Production เมื่อทำการผลิตเสร็จแล้วก็มีการส่งข้อมูล เดี๋ยวนี้ก็เป็นระบบอัตโนมัติ อย่างในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ เรามักจะได้ยินบ่อยๆว่ามีการเรียกคืนรถยนต์เพื่อมาตรวจสอบ เพราะเกิดจากการวัดที่ไม่เที่ยงตรงแม่นยำ ไม่ได้มีการประมวลผลที่ดี ทำให้เกิดปัญหาในเรื่องของความปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในอุตสาหกรรม Aerospace  เพราะว่าเป็นการขนส่งทางอากาศยิ่งต้องมีความเกี่ยวพันกับระบบการวัด

แนวคิดในการจัดตั้งโครงการฝึกอบรมพิเศษ “มาตรวิทยามิติ”

ในการนำเทคโนโลยีไปใช้งานนั้น ครูและอาจารย์ผู้สอนก็มีความจำเป็นที่ต้องมาเรียนรู้ เนื่องจากเทคโนโลยีนี้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ครูที่เข้ามารับการอบรมในวันนี้มาจากวิทยาลัยเทคนิคทั่วประเทศ จะเป็นครูผู้สอนในระดับปวช. และปวส. ตอนนี้เราจะเน้นระดับอาชีวะ ในระยะ 10 กว่าปีหลัง เราได้ขยายวงกว้างจากการทำให้ลูกค้าไปที่การเรียนการสอนด้วย จึงเริ่มจากระดับอาชีวะและตอนนี้มีการก้าวเข้าสู่ระบบอุดมศึกษาในหลาย ๆ แห่งแล้ว เราก็ให้การสนับสนุนการแข่งขันด้านมาตรวิทยา อย่างในการแข่งขันวัดระดับฝีมือแรงงานแห่งชาติ เราก็สนับสนุนมานาน ทีมที่ชนะเลิศ เราส่งไปดูงานที่ Solution Center ประเทศสิงคโปร์ โดยได้ความร่วมมือจากมิตูโตโยเพราะว่าเป็นผู้ผลิตอันดับ 1 ของโลก มิตูโตโยมีเครื่องจักรกลที่ทันสมัยมาก เราให้การสนับสนุนในการแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติมาโดยตลอด สนับสนุนเครื่องมือทุกอย่าง โดยมีสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติเป็นผู้ออกข้อสอบ มิตูโตโยเป็นคนจัดเครื่องมือที่ใช้ในการแข่งขัน เราก็เป็นคนที่จัดการในเรื่องของการแข่งขันเปรียบเสมือนว่าเป็นผู้อำนวยการ เราก็ติดตามผลการแข่งขันทุกปีอยู่แล้ว จนสังเกตเห็นได้ว่า ในการแข่งขัน ผลคะแนนที่ได้ของคนชนะอันดับ 1 2 3 4 5 6 ในประเทศ มีความไม่สมดุลกันเป็นอย่างมาก เราก็เลยติดตามอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลการแข่งขันก็ยังออกมาเป็นเหมือนเดิม ปีนี้เราจึงทำการวิเคราะห์ พอศึกษาลึกลงไปแล้วถึงได้รู้ว่าคนที่ได้คะแนนสูงนั้น ในการฝึกเขามีเครื่องมือในการเรียนที่สมบูรณ์ ในขณะที่คนที่อยู่ไกลปืนเที่ยงเครื่องมือไม่มี ของบประมาณก็ไม่ได้ ทำให้ไม่สามารถแข่งขันในระดับประเทศได้ เราจึงเข้ามาช่วยครูผู้สอนเป็นแหล่งข้อมูลให้ผู้สอน เราจึงทุ่มเทเสียสละและพัฒนา เลยเกิดโครงการนี้ขึ้นมา เป็นการรวมตัวครูจากสถาบันต่าง ๆ หน่วยเรามีหลักสูตรพิเศษ ที่ใช้เวลา 5 วันเต็มโดยผู้ชำนาญการแต่ละคนที่มีความรู้และมีประสบการณ์ยาวนาน อย่างสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติมาให้ความรู้

ส่วนสุมิพลเองก็จัดบุคลากรของเราให้เรียนรู้หลักสูตรนี้เพื่อสอนให้กับครูอาจารย์ที่มาเข้าร่วมโครงการนี้อีกทีหนึ่ง เป็นการฝึกพวกเราก่อน ให้พวกเราเข้าใจในหลักสูตรตรงกันเพื่อที่จะเป็นเทรนเนอร์ให้กับครูอาจารย์ ทุกคนต้องประกบทีละกลุ่ม เพราะในการดำเนินการอบรมจริง เราต้องเป็นพี่เลี้ยงให้คุณครู ไม่งั้นแล้วจะอธิบายกันไม่ถูก ซึ่งเราก็ใช้เวลาเยอะมากในการทุ่มเทสรรพกำลัง เราก็ประกาศออกไป กระทรวงศึกษาก็ประชาสัมพันธ์ให้ครูในวิทยาลัยเทคนิคต่าง ๆ มาเข้าร่วม ก็มีมาวิทยาลัยละ 1 คน ตอนนี้ก็มีผู้เข้าร่วมประมาณ 100 คน ซึ่งเรื่องค่าอาหารการกิน ที่พัก เอกสารต่าง ๆ เราก็เป็นคนที่จัดการในส่วนนี้หมดเลยซึ่งสถาบันมาตรวิทยาก็มาช่วยส่วนหนึ่ง

เป้าหมายของการอบรมครั้งนี้

เมื่อเสร็จสิ้นการอบรมแล้วเราจะมีการทำแบบทดสอบเพื่อเป็นการวัดผล ผู้ที่ได้เข้าร่วมการอบรมครั้งนี้ก็จะได้เรียนรู้และจับต้องเครื่องมือที่ทันสมัย วิธีใช้จริง เทคนิคการเลือกใช้จริง จากคนที่ไม่รู้ วันนี้ต้องรู้แล้ว เขาก็จะนำหลักสูตรที่ได้ไปพัฒนาการเรียนการสอน ถ้าเห็นว่ามันดีแล้วก็จะมีการพัฒนาแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ และเราก็ต้องขอความคิดเห็นจากผู้ที่มาอบรมเพื่อนำไปพัฒนาเป็นหลักสูตรต่อไป แล้วในศูนย์การเรียนรู้ของสุมิพลก็จะให้ความรู้มากกว่านี้ ทันสมัยกว่านี้ ไม่ใช่ว่ามีแค่เครื่องวัดแต่จะมี โรบอต ระบบอัตโนมัติ มากกว่านี้หลายเท่า

ส่วนตัวของผมชื่นชมยินดีกับทีมงานมากที่ช่วยกันคิดและร่วมแรงกันสุดตัวในงานนี้ จนกระทั่งสำเร็จเป็นหลักสูตรและรูปแบบงานต่าง ๆ ออกมาอย่างที่เห็น เพราะทางทีมงานของเราตั้งใจและมุ่งมั่นในการทำโครงการนี้มาก ด้วยระยะเวลาอันสั้นจากเดือนมีนาคมถึงวันนี้ประมาณ 1 เดือนกว่าเอง เรียกได้ว่าทำงานกันหามรุ่งหามค่ำ ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นผมก็คิดว่าจะออกมาในทางที่ดี คนที่เข้าร่วมจะได้รับความรู้มากพอสมควร แล้วก็สิ่งที่เขาไม่รู้มาก่อนเขาจะได้รับรู้ในวันนี้แน่นอน อีกอย่างผมก็มั่นใจว่า ด้วยความที่เขาเป็นมืออาชีพ เขาต้องไปคิดของเขาว่าจะนำความรู้ที่ได้ไปใช้อย่างไร นำไปพัฒนาการเรียนการสอนอย่างไร ส่วนทางสุมิพลเองก็จะปรับปรุงและพัฒนาต่อไป อาจจะมีการจัดโครงการนี้เพิ่มสำหรับรุ่นถัดไป และเมื่อโครงการได้รับการตอบรับที่ดี เราอาจจะโอนงานนี้ไปที่ Academy ของเราและเพิ่มหลักสูตรที่เข้มขึ้นเรื่อย ๆ