ปตท.ล่าหัวกะทิลุยธุรกิจใหม่ เขย่าโครงสร้างจ้างฟรีแลนซ์เสริมทัพ

อัปเดตล่าสุด 13 ก.ค. 2561
  • Share :
  • 906 Reads   

นายกฤษณ์ อิ่มแสง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารองค์กรและความยั่งยืน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เร็ว ๆ นี้ทีมผู้บริหาร ปตท.จะมีการนำเสนอแผนยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจ รวมถึงยุทธศาสตร์การบริหารจัดการบุคลากรต่อคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) ซึ่งภาพรวมจำเป็นต้องสรรหาบุคลากรเข้ามาเพิ่มเติมเพื่อรองรับการขยายธุรกิจใหม่ในอนาคตของ ปตท. หรือ New S-curve ทั้งหมด 3 ประเภทด้วยกัน คือโรโบติกส์ (Robotics) ครอบคลุมทั้งหุ่นยนต์, ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI : Artificial Intelligence) และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก (Data Analytics) รวมถึงในส่วนของการสรรหาบุคลากรเพื่อรองรับการแยกธุรกิจน้ำมันและธุรกิจเสริมออกไปอยู่ภายใต้บริษัท ปตท.น้ำมัน และการค้าปลีก จำกัด หรือ PTTOR (PTT Oil and Retail Business Company Limited)

“ในส่วนของ PTTOR มีพนักงานสมัครใจโยกย้ายไปอยู่บริษัทใหม่ 1,400 คน จากปัจจุบันที่บริษัท ปตท.มีพนักงานรวม 4,700 คน เท่ากับว่า ปตท.จะเหลือพนักงานประมาณ 3,000 คนเท่านั้น และเพื่อให้ธุรกิจขับเคลื่อนไปอย่างต่อเนื่องจึงต้องสรรหาบุคลากรเข้ามารองรับธุรกิจใหม่ของ ปตท.ในอนาคต ขณะเดียวกันก็จะมีการโยกย้ายคนในองค์กรที่สนใจและมีความพร้อมไปรองรับการพัฒนาธุรกิจใหม่ ซึ่งตามแผนต้องการบุคลากรประมาณ 1,500 คน โดยเบื้องต้นจะมีการดึงหัวกะทิจากที่ต่าง ๆเข้ามาร่วมงานประมาณ 30 คน”


ปรับรูปแบบจ้างงาน “ฟรีแลนซ์”

นายกฤษณ์กล่าวว่า อย่างไรก็ตามการจัดหาพนักงานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญใน 3 ด้านดังกล่าวค่อนข้างหายาก เนื่องจากบุคลากรเหล่านี้ต่างเป็นที่ต้องการของตลาดทั่วโลก ที่สำคัญส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่ต้องการเป็นพนักงานประจำ ขอเพียงแค่มาหาประสบการณ์ที่หลากหลาย จึงทำให้ ปตท.ต้องปรับวิธีการสรรหาบุคลากร ด้วยการใช้วิธีว่าจ้างในรูปแบบ “ฟรีแลนซ์” ระยะเวลาสั้น ๆ เป็นโปรเจ็กต์ หรือประมาณ 3 ปี ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับการเจรจาเป็นรายกรณีไป เพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้เข้ามาทำงาน โดยมีอัตราค่าตอบแทนเหมือนกับพนักงานประจำทุกอย่าง (แต่ไม่ได้รับสวัสดิการ)

ขณะเดียวกันก็จะมีการเปิดให้พนักงานภายในที่สนใจในงานประเภทอื่น สามารถขอโยกย้ายได้ เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าบุคคลนั้นเหมาะสมจริง ๆ จึงจะให้โยกย้าย ตรงนี้ถือเป็นนโยบายของ ปตท.อย่างชัดเจนที่กำหนดว่าพนักงาน 1 คนจะต้องมีความรู้และความสามารถมากกว่า 1 ประเภท

“ทุกครั้งเมื่อมีการเปิดโยกย้ายตำแหน่งงาน เราจะเลือกคนภายในองค์กรก่อน แต่ถ้าไม่ได้ หรือไม่มีจริง ๆ จึงค่อยเปิดสรรหาจากบุคคลภายนอก เพราะบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจที่เรากำลังจะมุ่งไปข้างหน้ามีจำนวนน้อยมาก ที่สำคัญ บุคลากรเหล่านี้มีทางเลือกในการทำงานยังที่ต่าง ๆ มากด้วย จึงทำให้ค่อนข้างหายาก เหมือนอย่างคนเก่งทางด้านโรโบติกส์และเอไอส่วนใหญ่จะรวมตัวกันอยู่ที่ประเทศอินเดีย แม้เขาจะเข้ามาทำงานกับ ปตท.แต่ก็เข้ามารับจ๊อบช่วงสั้น ๆ เพียง 3-6 เดือนเท่านั้น แต่ถ้าเขาชอบการทำงานกับเราจริงก็จะจ้างต่อ เนื่องจากคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันต้องการทำงานและหาประสบการณ์ใหม่ ๆ เพื่อสร้างโปรไฟล์ให้กับตัวเอง ว่าเคยผ่านงานอะไรมาบ้าง เช่น ถ้าเขาผ่านงาน ปตท.มา โปรไฟล์ของเขาจะยิ่งน่าสนใจมากขึ้น ตรงนี้เป็นส่วนประกอบของคนรุ่นใหม่ไปแล้ว”


ทีมพิเศษลุยหาโอกาสธุรกิจ

นายกฤษณ์ยังกล่าวว่า บุคลากรที่จะเข้ามาร่วมงานกับ ปตท.จะต้องมีคุณสมบัติสำคัญคือ ต้องปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ (Digital Mindset) เพื่อเรียนรู้โลกอนาคตอยู่เสมอ และต้องมีจิตสาธารณะ สิ่งนี้ถือเป็นประเด็นที่สำคัญมากเพราะเวลา ปตท.จะทำธุรกิจอะไรสักอย่างต้องตอบโจทย์ให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน นอกจากนี้ยังมีการทำโปรเจ็กต์-เบส (Project-based) เพื่อให้เกิดการทำงานเป็นทีม และคิดสิ่งใหม่ให้กับองค์กร ยกตัวอย่างทีม “ExpresSo” (Express Solution) ที่ดูแลธุรกิจสตาร์ตอัพ เพื่อการลงทุนในรูปแบบ Capital Venture ทั้งในและต่างประเทศ คนกลุ่มนี้จะถูกส่งไปเรียนรู้ธุรกิจในต่างประเทศเพื่อนำความรู้กลับมาปรับใช้

“บุคลากรที่เข้ามาอยู่ใน ปตท.ต้องผ่านการกรองอย่างหนัก เพราะแต่ละปีเราไม่ได้รับพนักงานมากอยู่แล้ว ขณะที่เทิร์นโอเวอร์ก็น้อยมาก ดังนั้นในกระบวนการทำงานจึงพยายามสร้างคนที่มีอยู่เดิมให้ทำอะไรใหม่ ๆ วิธีการคือเราพยายามพัฒนาให้เหมือนปลาถูกน้ำ ซึ่งเหมือนกับเอ็กเพรสโซ่ ที่มีคนรุ่นใหม่หลายคนที่มีความหลากหลายอาชีพมาอยู่รวมกัน ซึ่งทุกคนสามารถ cross functional กันได้ทุกคน ที่สำคัญทีมนี้จะรายงานตรงต่อผู้บริหาร เพราะพวกเขาถือเป็น young talent ที่สำคัญขององค์กร เพราะอนาคตเขาจะต้องไปดูบิสซิเนสยูนิตใหม่ ๆ ที่พวกเขาคิดค้นขึ้นมา”


โยกคนมา PTTOR ไร้ปัญหา

ในส่วนของการจัดตั้งบริษัทใหม่ PTTOR ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมาเริ่มการซื้อขายน้ำมันอย่างเป็นทางการแล้ว โดยมีการวางเป้าหมายว่าจะต้องมีพนักงานรวม 1,700 คน แต่มีพนักงานในธุรกิจน้ำมันเดิมของ ปตท.สมัครใจที่จะทำงานกับ PTTOR ประมาณ 1,400 คน ฉะนั้นในส่วนที่ขาดอีก 300 กว่าคน PTTOR จะต้องสรรหาเองเพิ่มเติม

นายกฤษณ์กล่าวต่อว่า แม้จะแยกธุรกิจค้าปลีกน้ำมันออกมาแล้ว แต่ในแง่ของธุรกิจยังคงมีการเชื่อมโยงกับบริษัทแม่อยู่ อย่างเช่น ระบบบัญชี งานกฎหมายและงานสื่อสารองค์กรในบางเรื่อง เพราะ PTTOR จะต้องออกไปแข่งขันกับเอกชนรายอื่น ๆ ก็จะต้องปรับลดต้นทุนการผลิต ในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักก็ควรใช้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยทำให้

“การมูฟคนจาก ปตท.ไปอยู่ PTTOR ครั้งนี้มีประมาณ 70% ของกลุ่มธุรกิจน้ำมัน ถือว่าพนักงานพร้อมใจกันไปอยู่บริษัทใหม่ โดยไม่มีการบีบบังคับ เพราะเขามองเห็นอนาคตที่จะทำงานในอีกมิติหนึ่ง เป็นบริษัทเอกชนเต็มตัว เพราะต้องออกไปแข่งในตลาดที่มีการซื้อขายแบบเสรี”


คน ปตท.เกษียณ 100 คน/ปี

สำหรับบุคลากรที่จะต้องเกษียณอายุงาน นายกฤษณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า คน ปตท.จะเกษียณทุกปีเฉลี่ย 100 คน เฉพาะปี” 61นี้จะมีเกษียณประมาณ 97 คน และมีทุกระดับชั้นตั้งแต่ซีเนียร์ เอ็กเซ็กคิวทีฟไปจนถึงพนักงานระดับปฏิบัติการ ซึ่ง ปตท.จะรับพนักงานใหม่เข้ามาทดแทนในอัตรา 1:1 เช่นกัน และในส่วนที่ต้องเพิ่มเติมตามธุรกิจใหม่จะอยู่ที่เฉลี่ยปีละ 150 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับ ปตท.ภายใต้การบริหารของนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ มีนโยบายชัดเจนที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานกับ ปตท.เพื่อมองหาโอกาสทางธุรกิจทั้งที่เป็นธุรกิจพลังงานและไม่ใช่ธุรกิจพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีการศึกษาอย่างจริงจังและต้องการพัฒนาให้เป็นธุรกิจต่อไปใน 3 ประเภทคือ โรโบติกส์, เอไอ และดาต้าอนาไลติกส์