อุตฯ ยานยนต์วิกฤตหนัก หลายชิ้นส่วนขาดตลาด กระทบการผลิตทั่วโลก

อุตฯ ยานยนต์วิกฤตหนัก หลายชิ้นส่วนขาดตลาด กระทบการผลิตทั่วโลก

อัปเดตล่าสุด 6 พ.ค. 2564
  • Share :
  • 8,350 Reads   

♦ การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่ล่าช้าจากเหตุเริ่มต้นของวิกฤตชิปขาดตลาด ขยายวงกว้างกระทบการผลิตทั่วโลกซึ่งเป็นอุปสรรคใหญ่ของอุตสาหกรรมยานยนต์ในปีนี้

♦ ค่ายรถญี่ปุ่นคาด อาจต้องลดกำลังผลิตยานยนต์รวม 900,000 คันในไตรมาสที่ 2 และ 450,000 คันในไตรมาสที่ 3 

Advertisement

อุตสาหกรรมยานยนต์เจอวิกฤตหนัก การผลิตชิ้นส่วนต้องล่าช้าไม่เป็นไปตามแผน ทั้งจากการระบาดของโควิด ชิปเซมิคอนดักเตอร์ขาดตลาด ภัยธรรมชาติจากคลื่นความเย็นในสหรัฐอเมริกาทำให้โรงงานชิ้นส่วนต้องหยุดการผลิต และเหตุไฟไหม้โรงงานผลิตชิปยานยนต์ในญี่ปุ่น จึงเป็นอุปสรรคใหญ่สำหรับปีนี้

การผลิตชิ้นส่วนที่ล่าช้า สร้างผลกระทบต่อผู้ผลิตยานยนต์

  • นิสสัน (Nissan) เปิดเผยว่า ในเดือนเมษายนจำเป็นต้องปรับลดกำลังการผลิตในญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเม็กซิโก
  • ฮอนด้า (Honda) อยู่ระหว่างการพิจารณาแผนปรับกำลังการผลิตให้กับโรงงานในอเมริกาเหนือ 
  • โตโยต้า (Toyota) ประกาศเพิ่มวันหยุดในโรงงานสหรัฐฯ ยุโรป และสาธารณรัฐเช็ก
  • ซูบารุ (Subaru) ประกาศหยุดการประกอบยานยนต์ในญี่ปุ่นชั่วคราวนับตั้งแต่วันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา คาดว่าจะหยุดรวมทั้งสิ้นเป็นเวลา 13 วัน
  • มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (Mitsubishi Motors) ปรับลดกำลังการผลิตยานยนต์ในญี่ปุ่น และในไทยรวมทั้งสิ้น 7,500 คัน
  • เจเนรัล มอเตอร์ส (General Motors) หยุดการผลิตในสหรัฐฯ ชั่วคราว และอยู่ระหว่างวางแผนปรับกำลังการผลิต 
  • ฟอร์ด (Ford) หยุดการผลิตในสหรัฐฯ ชั่วคราว และอยู่ระหว่างวางแผนปรับกำลังการผลิต 
  • โฟล์คสวาเกน (Volkswagen) อยู่ระหว่างเตรียมการลดกำลังการผลิตยานยนต์

วิกฤตชิปขาดตลาดเกิดจากอะไร?

อุตสาหกรรมยานยนต์ เริ่มประสบปัญหาขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์ในช่วงปลายปี 2563 จากการระบาดของโควิด และความต้องการผลิตภัณฑ์ไอทีจำพวกคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนที่พุ่งสูงจากความต้องการ Work from Home และปัญหานี้ได้ยกระดับความรุนแรงขึ้น เมื่อผู้ผลิตรายใหญ่อย่างซัมซุงจำเป็นต้องหยุดการผลิตในสหรัฐฯ จากวิกฤตคลื่นความเย็นในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่ง Infineon Technologies ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์จากเยอรมนีเปิดเผยว่า การซัพพลายเซมิคอนดักเตอร์อาจต้องใช้เวลอีกอย่างน้อย 2 เดือน จึงจะสามารถฟื้นกลับมาเทียบเท่าก่อนหน้าการระบาดของโควิดได้

นอกจากปัญหาคลื่นความเย็นแล้ว เหตุไฟไหม้ที่โรงงาน Renesas Electronics เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ยิ่งทำให้ปัญหาชิปขาดตลาดทวีความรุนแรงขึ้น แม้ว่าล่าสุดทางบริษัทฯ ได้กลับมาเริ่มสายการผลิตบางส่วนแล้วตั้งแต่ช่วงกลางเดือนเมษายนที่ผานมา

Renesas Electronics ให้สัมภาษณ์การแก้ปัญหาหลังเหตุไฟไหม้

เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2564 Mr. Hidetoshi Shibata ประธานบริษัท Renesas Electronics ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวนิคคัง โคเกียว ชิมบุน ถึงเหตุไฟไหม้โรงงานทำให้กำลังการผลิตเหลืออยู่เพียง 10% เท่านั้น ซึ่งบริษัทจะต้องใช้เวลาประมาณ 100 วัน หรือช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคมจึงจะเพิ่มกำลังการผลิตได้ และอาจมีการจัดส่งสินค้าล่าช้ากว่ากำหนดราว 10 วัน เนื่องจากมีเครื่องจักรเสียหายมากกว่า 23 เครื่อง จึงอาจจะใช้เวลาซ่อมแซมนานกว่าที่คาดการณ์ไว้  และจะต้องจัดหาเครื่องจักรใหม่สำหรับการผลิตเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มอีก 4 เครื่องสำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพชิปให้สอดคล้องกับความต้องการของค่ายรถยนต์

อย่างไรก็ตาม Mr. Hidetoshi Shibata ยืนยันว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตให้เทียบเท่าก่อนไฟไหม้ได้ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ แต่ที่ได้ประกาศว่าเป็นเดือนมิถุนายนหรือกรกฎาคมนั้นเป็นการคาดการณ์เผื่อเอาไว้ในกรณีที่อาจเกิดความล่าช้าในการจัดส่ง

อุตฯ ยานยนต์ร้อน หลายชิ้นส่วนขาดตลาด อาจทำราคาพุ่ง

ในขณะที่หลายฝ่ายมองว่า อีกไม่กี่เดือนการซัพพลายชิปเซมิคอนดักเตอร์จะกลับมาเป็นปกติ แต่ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ได้แสดงความเห็นสวนทางกัน โดยฝ่ายบริหารค่ายรถรายหนึ่งแสดงความเห็นว่า หากพิจารณาเวลาที่ต้องใช้ในการจัดหาเครื่องจักรใหม่ ไปจนถึงการจัดส่งแล้ว อาจทำให้เกิดช่องว่างหากไม่สามารถเริ่มผลิตได้ก่อนที่ชิปในสต๊อกจะหมดลง ซึ่งจะทำให้ปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนยานยนต์รุนแรงขึ้น ในขณะที่ผู้ผลิตยานยนต์อีกรายเสริมว่า สถานการณ์ในอุตสาหกรรมยานยนต์เข้าขั้นน่าเป็นห่วง

นอกจากเซมิคอนดักเตอร์แล้ว ปัญหาคลื่นลมเย็นยังส่งผลกระทบต่อชิ้นส่วนอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชิ้นส่วนจากเคมีภัณฑ์จำพวกยางและพลาสติก โดยโตโยต้าและฮอนด้ารายงานว่าปัจจุบันผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในญี่ปุ่นเริ่มขาดแคลนวัสดุสำหรับการผลิตถุงลมนิรภัยซึ่งใช้ไนลอนเป็นวัสดุหลัก

ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายหนึ่งเปิดเผยว่า การขาดแคลนยางและพลาสติกส่งผลกระทบรุนแรงต่อชิ้นส่วนยานยนต์หลายชนิดกว่าที่คิด อย่างไรก็ตาม นับว่าโชคดีที่วัสดุเหล่านี้สามารถรีไซเคิลได้ง่าย และซัพพลายเออร์หลายรายก็เริ่มฟื้นกำลังการผลิตได้แล้ว 

อย่างไรก็ตาม วิกฤตนี้อาจยังไม่สิ้นสุด โดยล่าสุด สำนักวิเคราะห์ IHS Markit ได้เปิดเผยว่า หลายบริษัทในอุตสาหกรรมยานยนต์สหรัฐฯ เริ่มมีเหล็กไม่เพียงพอต่อการใช้งาน ซึ่งเมื่อคำนึงถึงปัญหาโลจิสติกส์จากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์แล้วอาจทำให้ราคาชิ้นส่วนยานยนต์พุ่งสูงกว่าที่ควร

ความร่วมมือคือสิ่งสำคัญ

ประธานบริษัทผู้ผลิตระบบความปลอดภัยยานยนต์รายหนึ่ง แสดงความเห็นว่า สิ่งสำคัญในขณะนี้คือความร่วมมือระหว่างค่ายรถและซัพพลายเออร์ โดยหยิบยกความสำเร็จในการแก้ปัญหาจากความร่วมมือเมื่อครั้งเหตุแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งบริษัทฯ ได้รับการติดต่อจากค่ายรถเพื่อตรวจสอบผลกระทบอย่างรวดเร็ว

ขณะที่ Hitachi Astemo อ้างถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งเดียวกันนี้ว่า ทางบริษัทฯ จำเป็นต้องปิดสายการผลิตบางส่วน ส่งผลให้การจัดส่งอะไหล่ช่วงล่างเกิดความล่าช้า แต่ก็ได้รับความร่วมมือจากโตโยต้าเป็นอย่างดี

จบในปีนี้หรืออีก 3 ปี? ความเห็นที่แตกต่างของสหรัฐฯ จีน และไต้หวัน

สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งสหรัฐอเมริกา และพันธมิตรเพื่อนวัตกรรมยานยนต์ (Alliance for Automotive Innovation: AAI) คาดการณ์ตรงกับหลายบริษัทว่า ปัญหาชิปขาดตลาด และการผลิตชิ้นส่วนที่ล่าช้าจะดำเนินต่อไปอย่างน้อยจนถึงเดือนมิถุนายน ในขณะที่สมาคมผู้ผลิตรถยนต์แห่งประเทศจีนคาดการณ์ว่าจะดำเนินไปถึงไตรมาสที่ 3 

เมื่อวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา Masataka Kunugimoto นักวิเคราะห์จาก Capital Nomura Securities ได้เปิดเผยรายงานที่รวบรวมมาจากค่ายรถญี่ปุ่นว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่นอาจจำเป็นต้องลดกำลังการผลิตยานยนต์ทั่วโลกรวม 900,000 คันในไตรมาสที่ 2 และ 450,000 คันในไตรมาสที่ 3 และแสดงความเห็นว่าการขาดแคลนชิ้นส่วนยานยนต์จะเป็นอุปสรรคทางธุรกิจของค่ายรถในปีนี้

อย่างไรก็ตาม ทางด้าน TSMC ผู้เล่นเบอร์หนึ่งในตลาดเซมิคอนดักเตอร์ยังคาดการณ์ว่า วิกฤตขาดแคลนชิปในอุตสาหกรรมสมาร์ทโฟนจะสิ้นสุดลงในปี 2022 และในอุตสาหกรรมยานยนต์จะสิ้นสุดลงในปี 2023 ซึ่งทางบริษัทฯ ได้มีแนวทางร่วมแก้ไขปัญหานี้ด้วยการประกาศลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตเป็นมูลค่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 3 ปีข้างหน้านี้