เปิดปัจจัยหนุน ภาคอุตสาหกรรมแห่ใช้ ‘โคบอทส์’ ตอบโจทย์  ‘โควิด’ โรงงานที่ยังไม่ใช้ต้องคิดหนัก

'โคบอทส์' ตอบโจทย์ ‘โควิด’ จริงหรือ? แต่ละแบรนด์ แตกต่างกันหรือไม่?

อัปเดตล่าสุด 26 มี.ค. 2564
  • Share :
  • 3,186 Reads   

♦ Cobots หุ่นยนต์เพื่อนร่วมงานที่ใช้ง่าย ทำงานได้หลากหลาย ช่วยลดคนในสายการผลิต ได้รับความสนใจอย่างมากในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 

♦ หลายผู้ผลิตรายงานยอดขายโคบอทส์ส่งท้ายปี 2020 เพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน

♦ โคบอทส์จะยังเป็นคำตอบสำหรับวิกฤตขาดแคลนแรงงาน ซึ่งประเทศไทยกำลังจะเผชิญกับสังคมผู้สูงอายุในอีกไม่ช้า

 

Advertisement

Cobots (โคบอทส์) : Collaborative Robots หุ่นยนต์เพื่อนร่วมงานที่ถูกออกแบบให้ทำหน้าที่ปฏิบัติงานร่วมกับมนุษย์ได้อย่างใกล้ชิดและปลอดภัยในภาคอุตสาหกรรม กำลังเป็นเทรนด์ที่หลายโรงงานหันมาให้ความสนใจในช่วงโควิดที่ผ่านมา ผู้ผลิต Cobots รายงานตรงกันว่า ยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงปลายปี 2020 

UR: Universal Robots โดย Mr. Tsuyoshi Yamane ผู้จัดการทั่วไป สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ และตัวแทนจากสาขาญี่ปุ่น เปิดเผยว่านับตั้งแต่กลางเดือนกันยายน 2020 ความต้องการโคบอทส์ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมียอดสั่งซื้อสูงเป็นประวัติการณ์ในไตรมาสสุดท้าย โดยลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ใช้โคบอทส์ประกอบชิ้นส่วนขนาดเล็ก ถัดมาคืออุตสาหกรรมยา และอุตสาหกรรมเครื่องสำอางค์ ใช้โคบอทส์บรรจุสินค้า 

โคบอทส์ของ Universal Robot ซึ่งมียอดขายพุ่งสูงในปลายปี 2020

KUKA เป็นอีกบริษัทที่รายงานตรงกัน โดย Mr. Hiroshi Ota ประธานบริษัท KUKA Japan เล่าว่า ลูกค้ามีการสั่งซื้อโคบอทส์เข้ามามากในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2020 เพื่อนำไปเพิ่มกำลังการผลิต โดยเฉพาะจากกลุ่มผู้ผลิตเครื่องจักรทั่วไป เนื่องจากความต้องการระบบอัตโนมัติ และความต้องการลดจำนวนพนักงานในสายการผลิต 


โคบอทส์จาก KUKA

ABB เป็นอีกบริษัทที่ยืนยันตรงกัน และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ABB ได้เปิดตัว Cobots รุ่นใหม่ 2 รุ่น คือ “GoFa” ที่ออกแบบให้ใช้งานง่ายเหมือนเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน และ “SWIFTI” ที่ออกแบบให้ทำงานได้รวดเร็วเช่นเดียวกับหุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมการผลิต โดยโฟกัสไปที่กลุ่มอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมการแพทย์  ซึ่งการเปิดตัวโคบอทส์ครั้งนี้จะช่วยเสริมไลน์ผลิตภัณฑ์ของ ABB ให้หลากหลายขึ้น 

SWIFTI Gof

                                                                                                                                                             

นอกจากผู้ผลิตสัญชาติยุโรปแล้ว ผู้ผลิตโคบอทส์ค่ายเอเชียก็ไม่น้อยหน้า ปัจจุบันมีผู้ผลิต Cobots จากเอเชียหลายรายที่เร่งพัฒนาโคบอทส์รุ่นใหม่ ๆ เช่น TechMan Robot จากไต้หวัน, และ JAKA Robotics จากจีน

Doosan Robotics ผู้ผลิต Cobots จากเกาหลีใต้ ได้เปิดตัวโคบอทส์รวมแล้ว 10 รุ่นจาก 3 ซีรี่ย์นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2019 ประกอบด้วย “A Series” เน้นความเร็วในการทำงาน, “M Series” เน้นความปลอดภัยด้วยการติดตั้งเซนเซอร์ประสิทธิภาพสูง และ “H Series” สามารถหยิบจับยกชิ้นงานน้ำหนัก 20 - 25 กิโลกรัมได้

Mr. Kenta Watanabe หัวหน้าโครงการโคบอทส์ประจำสำนักงานใหญ่ Sumitomo Shoji Machinex ตัวแทนจำหน่ายของ Doosan Robotics ในประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่าในช่วงท้ายปี ความต้องการ Cobots จากอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมอาหารเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในขณะที่ลูกค้าจากอุตสาหกรรมโลจิสติกส์มักเลือกซื้อโคบอทส์ยกของน้ำหนักมากได้เป็นหลัก และมองว่าโคบอทส์จะมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานให้กับธุรกิจทุกขนาดในทุกภาคอุตสาหกรรมในอนาคต  

Cobots แต่ละแบรนด์ แตกต่างกันจริงหรือ?

Universal Robot แสดงความเห็นว่า ในตลาด Cobots ที่มีการแข่งขันสูง การสร้างความแตกต่างให้ผลิตภัณฑ์ของตนมีความสำคัญมาก ซึ่งทางบริษัทได้เลือกพัฒนาโคบอทส์ที่ใช้งานง่าย มีฟังก์ชันมาก และนำไปใช้งานคู่กับทูลส์ได้หลายชนิด ไปจนถึงการใช้ AI ในการควบคุม ทำให้รองรับการทำงานได้หลายรูปแบบ 

“ลูกค้าต้องการ Cobots ที่ใช้งานง่าย เราจึงต้องพัฒนาฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ไปด้วยกัน”

Mr. Hiroshi Ota ประธานบริษัท KUKA Japan กล่าวเสริมว่า การพัฒนาซอฟต์แวร์เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งทางบริษัทได้พัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับโคบอทส์ LBR iiwa ให้สามารถทำงานได้อย่างละเอียดด้วยแกนทั้ง 7 และติดตั้งเซนเซอร์ให้ทุกแกนสามารถขยับได้อย่างรวดเร็ว

“การพัฒนา Cobots ให้ทำได้แค่หยิบจับชิ้นงานเป็นเรื่องน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง โคบอทส์จึงควรใช้ในงานอื่นเช่นงานประกอบเครื่องยนต์ได้ด้วย”

OMRON Industrial Automation โดย Mr. Motohiro Yamanishi หัวหน้าแผนกโครงการโคบอทส์ แสดงความเห็นว่า สิ่งสำคัญของโคบอทส์ไม่ใช่ราคา แต่อยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้มีจุดเด่นต่างจากผู้ผลิตรายอื่น ซึ่งปัจจุบันการแข่งขันในตลาดโคบอทส์รุนแรงกว่าที่ผ่านมา จนทำให้การนำเสนอเพียงคุณภาพของโคบอทส์อาจไม่เพียงพอที่จะทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อ จึงต้องใช้วิธีทางการตลาดอื่น ๆ เข้าช่วย เช่น การขายเป็นแพคเกจ หรือการนำเสนอคู่กับเทคโนโลยีอื่นเป็นโซลูชันให้กับลูกค้า และจำเป็นต้องติดตามผล ไปจนถึงการสรรหาโซลูชันใหม่อย่างต่อเนื่อง เพราะลูกค้าหลายรายมักซื้อโคบอทส์แค่เครื่องเดียวแล้วไม่ซื้อเพิ่มอีก การสร้างความเข้าใจให้ลูกค้าจึงเป็นหนึ่งในแนวทางที่ดีที่จะสร้างยอดออเดอร์โคบอทส์ได้

ปัจจุบัน การพัฒนาโคบอทส์มีวัตถุประสงค์ในการปรับปรุงคุณภาพการผลิตเป็นหลัก อย่างไรก็ตามในอนาคต ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และสังคมผู้สูงอายุจะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิตยิ่งขึ้น การพัฒนาหุ่นยนต์ชนิดนี้จึงจำเป็นต้องเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง เพราะแค่ใช้งานง่ายอย่างเดียวยังไม่อาจแก้ปัญหาเหล่านี้ได้

และไม่ใช่เพียงผู้ผลิตโคบอทส์เท่านั้น แต่อีกฝ่ายที่มีบทบาทสำคัญไม่แพ้กันคือ System Integrator (SI หรือ SIer) ซึ่งเป็นเหมือนตัวกลางระหว่างผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย และผู้ใช้โคบอทส์ ที่จะช่วยให้ความต้องการของทุกฝ่ายสามารถมาบรรจบกัน เพื่อให้ผู้ใช้โคบอทส์ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ ซึ่งจะเป็นส่วนกระตุ้นให้ตลาด Cobots เติบโตได้มากขึ้นในอนาคต