ยอดขายหุ่นยนต์บริการทั่วโลก ปี 2019 พุ่ง 32% หุ่นยนต์โลจิสติกส์โตเฉลี่ยปีละ 40%

ยอดขายหุ่นยนต์บริการทั่วโลก ปี 2019 พุ่ง 32% หุ่นยนต์โลจิสติกส์โตเฉลี่ยปีละ 40%

อัปเดตล่าสุด 13 พ.ย. 2563
  • Share :
  • 2,159 Reads   

ในปี 2019 หุ่นยนต์บริการ (Service Robots) ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั่วโลกเติบโตอย่างก้าวกระโดด ด้วยมูลค่ายอดขายที่ 11,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 32% คาดการณ์ว่า แนวโน้มตลาดหุ่นยนต์บริการยังคงเติบโตอย่างมั่นคงจากการระบาดใหญ่ของ COVID-19 ที่กระตุ้นความต้องการใช้หุ่นยนต์บริการมากขึ้น โดยเฉพาะโซลูชันหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรค หุ่นยนต์โลจิสติกส์ในโรงงานและคลังสินค้า รวมถึงหุ่นยนต์สำหรับจัดส่งสินค้าถึงบ้าน

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2020 International Federation of Robotics (IFR) เผยรายงานถึงยอดขายหุ่นยนต์บริการทั่วโลกในปี 2019 มีมูลค่ารวม 11,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมาจากการใช้งานใน 3 อุตสาหกรรมหลัก คือ หุ่นยนต์ทางการแพทย์ หุ่นยนต์โลจิสติกส์ หุ่นยนต์ภาคเกษตร และอีก 1 กลุ่มคือภาคครัวเรือน

อุตสาหกรรมการแพทย์ 

ในปี 2019 มูลค่าการขายหุ่นยนต์ทางการแพทย์คิดเป็น 47% ของยอดขายหุ่นยนต์บริการทั้งหมดโดยส่วนใหญ่มาจากหุ่นยนต์ผ่าตัดซึ่งมีราคาแพงที่สุดในกลุ่มนี้ ยอดขายหุ่นยนต์ทางการแพทย์ทำสถิติใหม่ที่ 5,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 28% และส่วนใหญ่เป็นหุ่นยนต์จากค่ายสหรัฐฯ และยุโรปถึง 90% สำหรับการมาของโควิดในปีนี้เอง ทำให้คาดการณ์ถึงการเติบโตของหุ่นยนต์ทางการแพทย์ในปี 2022 จะเพิ่มขึ้น 2 เท่าของปี 2019 โดยคาดว่ายอดขายจะมีมูลค่ารวมสูงถึง 11,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

อุตสาหกรรมโลจิสติกส์

อีกตลาดที่มีการเติบโตของหุ่นยนต์บริการอย่างเห็นชัดคือโลจิสติกส์ ซึ่งในปี 2019 มียอดขายรวมเป็นมูลค่า 1,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตถึง 110% จากปีก่อนหน้า สืบเนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้หุ่นยนต์สำหรับคลังสินค้าถูกนำมาใช้ในโรงงานมากขึ้น และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 40% ซึ่ง Milton Guerry ประธานสมาคม IFR แสดงความเห็นว่า

“โดยทั่วไป หุ่นยนต์โลจิสติกส์มีอายุการใช้งาน 15 ปี และมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณปีละ 5% ของต้นทุน แต่หากมีการใช้งานหุ่นยนต์โลจิสติกส์ทำงานตลอด 24 ชั่วโมงแล้ว จะสามารถคืนทุนให้ผู้ประกอบการได้ภายในระยะเวลาเพียง 2 - 3 ปีเท่านั้น”

อุตสาหกรรมการเกษตร

หุ่นยนต์บริการที่ถูกนำไปใช้งานทางการเกษตรนั้น พบว่ามียอดขายรวมเป็นมูลค่า 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3% ซึ่งมาตรการจำกัดการเดินทางจากการระบาดของโควิด โดยเฉพาะในยุโรป ทำให้คาดการณ์ว่าจะมีการใช้งานหุ่นยนต์ทางการเกษตรเพิ่มขึ้น 30% ในปี 2022 

ส่วนธุรกิจประเภท Robotics-as-a-Service (RaaS) นั้น เป็นอีกรูปแบบที่ได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น เนื่องจากผู้ใช้ไม่ต้องลงทุนฮาร์ดแวร์เป็นของตัวเอง อีกทั้งยังไม่จำเป็นต้องจ้างพนักงานที่มีทักษะสูงในการทำงานกับหุ่นยนต์ ทำให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซหลายรายหันมาใช้บริการ รวมไปถึงการใช้งานในโรงพยาบาลอีกด้วย 

ภาคครัวเรือน

หุ่นยนต์บริการสำหรับครัวเรือน เช่น หุ่นยนต์ดูดฝุ่น, หุ่นยนต์ตัดหญ้า, หุ่นยนต์ของเล่น, และอื่น ๆ มีมูลค่ายอดขายอยู่ที่ 5,700 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 20% โดยเป็นหุ่นยนต์จากค่ายสหรัฐฯ 75% เอเชีย 19% และยุโรป 6%

 

อ่านต่อ: