Surapong Tangtaratorn, Managing Director of Factory Max Co., Ltd. ให้สัมภาษณ์เรื่อง อนาคตอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย

เมื่อ “ยานยนต์ถึงทางตัน” ได้เวลา “หาอาชีพใหม่” ให้คนไทยทำ

อัปเดตล่าสุด 9 ม.ค. 2563
  • Share :
  • 2,061 Reads   

ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา เราต่างรับทราบถึงข่าวไม่ค่อยดีนักของการดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจ คำสั่งซื้อที่ลดลง จนทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำนวนมากอยู่ในภาวะยากลำบาก โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ บางรายถึงกับต้องประกาศปิดโรงงาน บางรายที่ยังสามารถประคับประคองธุรกิจได้นั้น ก็จำเป็นต้องปรับการดำเนินงานเพื่อลดค่าใช้จ่ายลง เช่น ลดเวลาทำงาน ให้พนักงานหยุดทำงาน เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับรายงานตัวเลขการผลิตรถยนต์ในเดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2019 ที่ลดลงร้อยละ 5.95 จากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน  นอกจากนี้ ประมาณการณ์ตัวเลขยอดขายยานยนต์ทั่วโลกจากหลายสำนักได้ชี้ตรงกันถึงตัวเลขยอดขายยานยนต์ในปี 2020 ที่จะลดลงอีก  ภาพเหล่านี้พอจะฉายให้เราได้เห็นอนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศมาอย่างยาวนาน และก่อให้เกิดอุตสาหกรรมสนับสนุนต่าง ๆ มากมาย ที่กำลังเดินถึงทางตัน  แล้วธุรกิจอุตสาหกรรมจำนวนมากเหล่านั้นจะตามหาโอกาสทางธุรกิจเพื่อเดินต่ออย่างไร  

คุณสุรพงศ์ ตั้งธราธร ผู้บริหารกลุ่มบริษัท แฟ็คทอรี่ แม๊กซ์ (Factory Max) หนึ่งในผู้นำด้านเทคโนโลยีและโซลูชันด้านเครื่องจักรกลและเครื่องมืออุตสาหกรรม ครอบคลุม 8 หมวดหลัก ได้แก่ Machine Tools, Sheet Metal, Cutting Tools, Arbor & Spindle, Grinding & Polishing, Metrology & Machine Tools Accessory, Lubricant, และ Energy Saving ซึ่งเป็นแบรนด์สินค้าชั้นนำจากทั่วโลก ได้เผยวิสัยทัศน์ถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมยานยนต์ พร้อมตั้งประเด็นดึง “ตัวแม่” เข้ามาลงทุน ต่อยอดสร้างอาชีพใหม่ให้คนไทย  

มองทิศทางความเปลี่ยนแปลงใน 3 ปีต่อจากนี้ อย่างไรบ้าง

“สำหรับกระแสการพูดถึงรถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันนั้น ผมยังไม่เชื่อในการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่รถยนต์ไฟฟ้าอย่าง 100% เนื่องจากยังมีโจทย์อีกมากให้แก้ปัญหา เช่น 1. สถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) ที่เรามีเพียงพอแล้วหรือยัง ยกตัวอย่าง การจราจรที่หนาแน่นบนถนนสุขุมวิท จะทำให้รถยนต์วิ่งได้เพียง 2 กิโลเมตรเท่านั้น แบตเตอรีก็จะหมดก่อน จึงควรมีการตั้งจุด Charging Station ทุก ๆ 2 กิโลเมตร ซึ่งหากถามว่า สถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) เราจะมี 1000 สถานีทั่วประเทศนั้น เราสามารถทำได้แล้วหรือยัง  2. พลังงานไฟฟ้าที่จะมาช่วยซัพพลาย Charging Station เหล่านั้น เรามีเพียงพอแล้วหรือยัง ผมเชื่อว่าปัจจุบันนี้ที่มีอยู่ ไทยเรายังมีกำลังผลิตไฟฟ้าไม่เพียงพอ ซึ่งถ้าเปลี่ยนมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้า เราจะต้องเผชิญหน้ากับปัญหาเหล่านี้อย่างแน่นอน  3. เมื่อเราเปลี่ยนมาเป็นการใช้แบตเตอรีแล้ว เทคโนโลยีที่จะนำมาใช้รีไซเคิล (Recycle) แบตเตอรีเหล่านี้ เรายังไม่มี ซึ่ง ณ วันนี้ แบตเตอรีลิเธียมไออน (Lithium-Ion Battery) ราคาขึ้นสูงถึง 3-4 เท่า ถามว่าเราจะหนีจากน้ำมันแพงมาเป็นแบตเตอรีแพง หนีจากขยะไฮโดรคาร์บอนมาเป็นขยะลิเธียมไออนหรือไม่ เรามั่นใจแล้วหรือยัง ซึ่งหากเรายังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน เรื่องนี้จึงยังคงเป็นปัญหาสำคัญ รวมถึงเราจะเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าได้มากเพียงพอหรือไม่ โดยส่วนตัวจึงยังไม่เชื่อว่าเราจะไปถึงจุดนั้นในเวลาอันใกล้ 

ดังนั้น การ Transfer เปลี่ยนมาเป็น “รถยนต์ไฟฟ้า” ภายใน 5 ปี จึงยังเป็นเพียงความฝันอยู่ สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นแล้วสร้างประโยชน์ คือ รถยนต์ประเภทที่ใช้ไฟฟ้า ซึ่งรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้านั้น ไทยเรามีทั้งรถยนต์ไฮบริด (Hybrid electric vehicle) โดยรถยนต์ไฮบริดเราสามารถใช้ Small Engine ในการปั่นไฟได้ ซึ่งสามารถนำพลังงานไฟฟ้านี้มาใช้ร่วมกันได้ โดยที่ระบบการส่งผ่าน (Transmission) นั้นยังไม่ต้องมีได้ นำมอเตอร์ไฟฟ้ามาใช้แทน ซึ่งก็เหมือนกันกับรถยนต์ไฟฟ้าทุกประการ เพียงแค่ว่ารถยนต์ไฟฟ้าเราชาร์จไฟเข้าแบตเตอรี่ แล้วนำแบตเตอรี่มาจ่ายไฟ แต่รถยนต์ไฮบริด เราไม่ต้องชาร์จไฟ สามารถนำเครื่องยนต์มาปั่นไฟฟ้าแล้วเก็บอยู่ในแบตเตอรี่ และไม่จำเป็นต้องใช้แบตเตอรี่ขนาดใหญ่ การทำเช่นนี้ จะเหมือนกับการที่เรามี Generator ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับแปลงพลังงานกลเป็นพลังงานไฟฟ้าในตัว จะทำให้การผลิตรถยนต์จะง่ายขึ้นมาก เพราะไม่ต่างกันกับรถยนต์ไฟฟ้า 

ส่วนที่เป็น Transmission ตัดออกทั้งหมด หากทำได้ สิ่งนี้จะสร้างความได้เปรียบ เนื่องจากจะช่วยให้ผู้ผลิตสามารถลดต้นทุนในการผลิตรถยนต์ลงได้ เพราะไม่จำเป็นต้องมี Drive Change, Transmission, Gear และ Clutch เหลือเพียงมอเตอร์และ Small Engine ราว 1000 cc. ก็สามารถทำได้ รวมถึงการเร่งความเร็ว (Acceleration) และการลดความเร็วลง (Deceleration) จะทำได้ดีกว่ารถในปัจจุบันอีกด้วย เนื่องจากเป็นการใช้มอเตอร์ในการขับเคลื่อนเครื่องยนต์ 

สิ่งนี้เองที่ผมเชื่อว่าจะต้องเป็นการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์ที่เป็นการใช้ระบบเครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine) มาเป็น “รถยนต์ไฮบริด” แล้วจึงก้าวสู่การขับเคลื่อนยานยนต์ด้วยระบบพลังงานไฟฟ้า (Pure Electric Vehicles) โดยอาจจะอยู่ที่การเป็น “รถยนต์ไฮบริด” เป็นระยะเวลานานกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ ซึ่งก็จะมีเวลาในการ Transform พอสมควร โดยค่าใช้จ่ายในการผลิตระหว่างรถยนต์ไฮบริดกับรถยนต์ไฟฟ้า เชื่อว่าไม่แตกต่างกันมาก ส่วนที่ต่างกันคือ Small Engine เพียงอย่างเดียว ซึ่งไม่ได้มีค่าใช้จ่ายที่สูงมากนัก ในขณะเดียวกัน เราสามารถค่อย ๆ เพิ่มสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้มากขึ้นได้ และค่อย ๆ ขยับเรื่องของ Power Subply ที่เกี่ยวกับไฟฟ้าได้ในระยะเวลาภายใน 10-20 ปี หากเปลี่ยนมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้าในแบบทันที จะใช้ระยะเวลานานกว่า ซึ่งในระหว่างนั้นโรงงานที่เคยผลิตรถยนต์ ก็จะสามารถมีเวลาในการปรับตัวในด้านของการเพิ่มความรู้ความสามารถให้กับแรงงานคนได้อีกด้วย และผมเชื่อว่าเราน่าจะ Transform ได้ไม่ยาก” 

ผู้ผลิตยานยนต์ปรับลดยอด Forecast Order

“แน่นอนครับ  คนที่ผลิตชิ้นส่วนไฟฟ้า ผลิตสายไฟ หรือผลิตอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่อวงจรไฟฟ้า (Connector) ต่าง ๆ ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ก็จะได้งานเข้ามามากขึ้น ในขณะเดียวกัน คนที่ทำเกี่ยวกับ Transmission ก็จะงานน้อยลง เพราะเทรนด์มาอย่างชัดเจน จาก Internal Combustion Engine เปลี่ยนมาเป็นรถยนต์ไฮบริด (Hybrid Electric Vehicles : HEV) และเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (Electric vehicles : EV) แต่ผมไม่เชื่อว่าจะเปลี่ยนในแบบทันทีทันใด” 

ประเทศไทย : ฮับการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของโลก ได้รับผลกระทบแน่นอน

“ผู้ผลิตชิ้นส่วนต้องหาธุรกิจที่ตนเองมีความถนัดที่เขาคิดว่าสามารถทำได้ ซึ่งก็มีหลายธุรกิจ ยกตัวอย่าง เช่น ผู้ผลิตที่เป็น Expertise ในการทำชิ้นส่วน Transmission ก็ยังสามารถ Tranform เครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ ไปผลิตชิ้นส่วนอื่นที่เป็น Hardware เช่น Body ต่าง ๆ ได้  แต่ต้องหาอาชีพใหม่ หา Order หรือลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ ทดแทน ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทยในอนาคตอันใกล้ เพราะปัจจุบันธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นการส่งออกเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย แต่เมื่อตลาดยานยนต์มีขนาดเล็กลง การผลิตชิ้นส่วนมีปริมาณน้อยลง ผู้ผลิตก็แก้ไขปัญหาด้วยการปรับลดจำนวนแรงงานหรือปลดพนักงานออก ส่วนเครื่องจักรก็ขายทิ้ง 

เช่นนั้นแล้ว ก็ควรหาอาชีพใหม่ให้คนไทยได้ทำต่อ ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมอากาศยาน (Aerospace) อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ (Medical Devices)  ผู้ผลิตไทยมีความสามารถที่จะทำชิ้นส่วนเครื่องบิน ชิ้นส่วนรถถัง รวมถึงชิ้นส่วนเครื่องมือแพทย์ได้ โดยใช้เครื่องมือที่มีอยู่ แต่ประเทศไทยยังขาดการส่งเสริมในเรื่องเหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรม หากเรามองเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ ซึ่งไม่ได้เหนือกว่าเรามาก แต่เขามี “จีอี” (NYSE: GE) หรือ บริษัท เจเนอรัลอิเล็กทริก (General Electric Company) ซึ่งถือว่าเป็นยักษ์ใหญ่ หรือตัวแม่ของแวดวงอุตสาหกรรมโลก รวมถึง โรลส์-รอยซ์ (Rolls-Royce) ซึ่งทั้งสองบริษัท นั้นมีความต้องการ Subcontractor เพื่อมาช่วยด้านการผลิตชิ้นส่วนอย่างมหาศาล ในขณะที่ไทยเรามี Toyota และ Honda  สิ่งที่เราต้องทำ คือการหา “ตัวแม่” เพิ่มเข้ามา ซึ่งเราควรจะทำ แต่ ณ ปัจจุบัน ยังไม่มีความคืบหน้าในด้านนี้ ซึ่งหากภาครัฐ หรือทางบีโอไอ ดึงดูดการลงทุนเข้ามาที่ 1st Tier, 2nd Tier ได้ จะส่งผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยเป็นอย่างมาก 

ปัจจุบันบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมของไทยเรามีเพียงบริษัท ปตท. (PTT) และ เครือซีเมนต์ไทย (SCG) และบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างชาติที่เข้ามาลงทุนมีเพียงแค่ Toyota และ Honda ที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีถึง SME โดยตรง ซึ่ง ณ วันนี้น่าจะมี Partner น้อยลงไป นอกนั้นไม่มีเลย แต่สิงคโปร์เขามี ซึ่งประเทศไทยควรจะต้องทำให้เกิดขึ้น เพื่อให้ SME สามารถอยู่ได้ มิฉะนั้น คนที่จะได้รับผลกระทบจะไม่ใช่บริษัทยักษใหญ่ แต่คือ SME ของไทยเราเอง รวมทั้งบริษัทใหญ่ ๆ ของเราในกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีอยู่จำนวนมาก มีตัวเลขยอดขายเป็นพันล้าน เชื่อว่าจะได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน”