2 โจทย์สำคัญ สู่ความสำเร็จ Digital Transformation แห่งอนาคต

อัปเดตล่าสุด 26 ก.ย. 2562
  • Share :
  • 720 Reads   

10 องค์กรอุตสาหกรรมระดับแนวหน้า ร่วมยื่นคำแนะนำด้าน Digital Transformation ในการประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก หรือ G7 ซึ่งจัดขึ้น ณ เมืองบิอาร์ริตซ์ ประเทศฝรั่งเศส ในช่วงวันที่ 24 - 26 สิงหาคม ที่ผ่านมา เผย 2 โจทย์สำคัญ ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของ Digital Transformation ในอนาคต

โดยคำแนะนำนี้ ถูกตีพิมพ์ในเอกสาร “G7 Summit in Biarritz, Recommendations from the global digital industry” และถูกแยกเป็น 2 หัวข้อใหญ่ โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

Data Free Flow with Trust (DFFT)

ความไว้วางใจและความร่วมมือ มีความสำคัญต่อการบริหารข้อมูลเทียบเท่ากับที่น้ำมันหล่อลื่นมีความสำคัญต่อเครื่องจักร และเป็นสิ่งที่จะผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต ทั้ง 10 องค์กร จึงต้องการย้ำให้รัฐบาลแต่ละประเทศเข้าใจถึงความสำคัญในข้อนี้ เพื่อพัฒนาความร่วมมือไปอีกระดับ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยคำแนะนำในหัวข้อนี้ ประกอบด้วย

  • การร่วมมือ และกระชับความสัมพันธ์ เพื่อส่งเสริมขอบเขตของ free flow of data
  • ยกระดับความการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล, การทำงานร่วมกันระหว่างประเทศ ความโปร่งใสของข้อมูล และความเป็นกลางทางเทคโนโลยีตามแนวทางขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD)
  • ส่งเสริมความปลอดภัยทางไซเบอร์ ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่เป็นกลางในการตามแนวความเสี่ยง และให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ (Risk-based, Outcome-focused)
  • รับประกันว่าผู้บริโภคได้รับการปกป้องจากการฉ้อโกง หรือการหลอกลวงเชิงพาณิชย์บนอินเตอร์เน็ต
  • สร้างความมั่นใจว่ามีกฎระเบียบที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อส่งเสริมการแข่งขันด้านนวัตกรรม และปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา และเทคโนโลยี

AI for All

ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น IoT, Big Data, ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI), หุ่นยนต์, และ Blockchain ต่างเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงในธุรกิจทุกขนาด และทุกอุตสาหกรรม

และหนึ่งสิ่งสำคัญที่สุด ก็คือการนำศักยภาพในการประมวลข้อมูลของ AI มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่ง OECD, สหภาพยุโรป, รัฐบาลแคนาดา, และรัฐบาลญี่ปุ่นอยู่ระหว่างการร่วมร่างแนวทางการนำ AI มาใช้งานโดยมีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง เพื่อควบคุมการใช้งานข้อมูลที่ได้ ยกตัวอย่างเช่น “‘Policy Sandboxing” ของสหภาพยุโรป ที่อนุญาตให้ธุรกิจเอกชน สามารถนำ AI มาทดสอบได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากสหภาพยุโรป ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบว่า AI ที่ถูกพัฒนาขึ้น มีความถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และป้องกันการนำ AI มาใช้โดยขาดการประเมินผลเสียก่อน

นอกจากนี้ ทั้ง 10 องค์กรอุตสาหกรรม ยังเสนอว่า รัฐบาลควรแบ่งงบประมาณส่วนหนึ่งมาใช้ในการพัฒนา AI เพื่อการศึกษาอีกด้วย

โดยคำแนะนำในหัวข้อนี้ ประกอบด้วย

  • AI ควรมีมาตรฐานตามแนวทางสากล ตรวจสอบได้ และมีความปลอดภัย
  • รัฐบาลควรสนับสนุนการพัฒนา AI ในภาคอุตสาหกรรม เพื่อกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรม และความเท่าเทียมในตลาด
  • อำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลให้กับภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมการแข่งขันในตลาด และให้โอกาสทางธุรกิจแก่ SME
  • ส่งเสริมการวิจัย และพัฒนา ให้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา เพื่อพัฒนาทักษะดิจิทัล ให้คนรุ่นใหม่มีทักษะที่จำเป็นในการทำงาน เพิ่มโอกาสการพัฒนาโซลูชันในอนาคต

โดยองค์กรที่ร่วมเสนอเอกสารชุดนี้ทั้งหมด 10 องค์กร ประกอบด้วย

  1. DIGITALEUROPE องค์กรตัวแทนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลจากยุโรป 
  2. Syntec Numérique องค์กรวิชาชีพดิจิทัลแห่งแรกในประเทศฝรั่งเศส
  3. Bitkom สมาคมดิจิทัล ประเทศเยอรมนี ประกอบด้วยบริษัท และ SME กว่า 2,600 ราย
  4. techUK ตัวแทนกลุ่มผู้พัฒนาเทคโนโลยี สหราชอาณาจักร
  5. TECH IN France องค์กรตัวแทนผู้พัฒนาเทคโนโลยี ประเทศฝรั่งเศส
  6. AFNUM (Alliance Française des Industries du Numérique) องค์กรการค้า ตัวแทนนักอุตสาหกรรมในอุตสาหกรรมการสื่อสาร, โทรศัพท์มือถือ, เครื่องใช้ไฟฟ้า, การถ่ายภาพ, และอุปกรณ์เชื่อมต่อ
  7. Information Technology Association of Canada (ITAC) สมาคมธุรกิจสารสนเทศ ประเทศแคนาดา
  8. Japan Electronics and Information Technology Industries Association (JEITA) สมาคมเทคโนโลยีสารสนเทศ และอิเล็กทรอนิกส์ ประเทศญี่ปุ่น
  9. Japan Business Council in Europe (JBCE) สมาคมตัวแทนธุรกิจเครือญี่ปุ่นในยุโรป
  10. World Information Technology and Services Alliance (WITSA) สมาคมอุตสาหกรรมสารสนเทศ ซึ่งมีสมาชิกในกว่า 80 ประเทศทั่วโลก หรือคิดเป็นมากกว่า 90% ในตลาด ICT

 

Photo : DIGITALEUROPE