กสอ. เตรียมสนับสนุนเทคโนโลยีเครื่องจักรกลคุณภาพ เพื่อพัฒนาการผลิตเส้นใยกัญชงสัญชาติไทยสู่ตลาดโลก

อัปเดตล่าสุด 25 ก.ค. 2563
  • Share :
  • 586 Reads   

กระทรวงอุตสาหกรรม เผยแนวโน้มตลาดสินค้าเส้นใยกัญชงโตกว่าร้อยละ 5 ต่อปี และแนวโน้มขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมมอบหมายกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สนับสนุนเครื่องจักรกลคุณภาพ วิจัยเพื่อพัฒนาเส้นใยกัญชงคุณภาพสัญชาติไทย และเร่งกำหนดกรอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้อยู่ในระดับสากล

นายสุชาติ ไตรแสงรุจิระ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากเส้นใยกัญชงได้รับความนิยมสูงอย่างต่อเนื่องจากผู้บริโภค ภาพรวมของตลาดโลกในอุตสาหกรรมกัญชงมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2019 มูลค่าการตลาดอยู่ที่ 4.6 พันล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา หรือ ราว 1.4 แสนล้านบาท และคาดการณ์ว่าในปี 2025 มูลค่าการตลาดจะมีโอกาสเติบโตถึง 2.66 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ราว 8.06 แสนล้านบาท ถือเป็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 34 เฉลี่ยกว่าร้อยละ 5 ต่อปี จึงเป็นโอกาสสำคัญสำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยในการเข้าถึงส่วนแบ่งทางการตลาดนี้ โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมาย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผ่านการดำเนินการของสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ วิจัยกระบวนการผลิตเส้นใยที่มีคุณภาพ ลดการนำเข้า รวมทั้งขยายผลในเชิงพาณิชย์ เพื่อนำเสนอต่อ คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการใช้กัญชงอย่างเป็นระบบ ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการใช้กัญชา กัญชง และกระท่อมอย่างเป็นระบบ

ด้าน นายนายเจตนิพิฐ รอดภัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ระบุว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้รวบรวมข้อมูลการใช้ประโยชน์และแนวทางการพัฒนาเส้นใยกัญชง นำเสนอคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการใช้กัญชงอย่างเป็นระบบ ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการใช้กัญชา กัญชง และกระท่อมอย่างเป็นระบบ เพื่อเป็นข้อมูลในมิติของอุตสาหกรรมสำหรับประกอบการพิจารณาของคณะกรรมมาธิการวิสามัญฯ  ทั้งนี้ที่ผ่านมาสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ได้กำหนดแนวทางสำหรับการพัฒนา ผ่านรวบรวมข้อมูลคุณสมบัติพิเศษของกัญชงแต่ละสายพันธุ์ รวมทั้งศึกษาความแตกต่างของการปลูกในแต่ละพื้นที่ เพื่อพัฒนาให้เป็นเส้นใยกัญชงไทย 

นอกจากนี้ จะผลักดันและส่งเสริมพืชกัญชงในภาคอุตสาหกรรมผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของเครื่องจักรและเครื่องมือ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค เพิ่มขีดความสามารถที่จะแข่งขันในตลาดของอเมริกา ยุโรป และเอเชีย โดยองค์ความรู้เทคโนโลยีในการผลิตและการแปรรูป การส่งเสริมด้านการตลาด รวมถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุน สร้างความเชื่อมั่นและช่วยสนับสนุนเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการผ่านการจัดทำมาตรฐานเส้นใยกัญชงที่มีคุณภาพ เพื่อการยกระดับให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล และสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคจากนานาชาติต่อไป