อะไรคือการเปลี่ยนแปลงที่ประเทศไทยอยากจะเห็นหลังการเลือกตั้ง ?

อัปเดตล่าสุด 6 ก.พ. 2562
  • Share :
  • 617 Reads   

หลังจากที่รัฐบาลประกาศการเลือกตั้ง ภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมของไทยก็มีแนวโน้มด้านการลงทุนที่ดีขึ้น อันเป็นผลมาจากโครงการต่างๆ ของภาครัฐที่มีนโยบายที่จะผลักดันการลงทุนในภาคส่วนต่างๆ  เช่น โครงการพัฒนาในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งโครงการเหล่านี้จะส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมไทยหลังการเลือกตั้งจะมีความคึกคักมากเป็นพิเศษ และยังเป็นที่น่าสนใจว่าภาคอุตสาหกรรมไทยจะดำเนินไปในทิศทางใด ? 

คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ภายใต้หัวข้อ “อุตสาหกรรมไทยหลังการเลือกตั้ง” ภายในงานเปิดตัวอย่างเป็นทางการ สำนักข่าวออนไลน์ เอ็ม รีพอร์ต ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติติ์ ซึ่งคุณกิตติรัตน์กล่าวด้วยความชื่นชมว่า ภาคอุตสาหกรรมไทยมีศักยภาพในการแข่งขันสูง ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยีของผู้ลงทุนจากต่างประเทศที่เข้ามา และบุคลากรภายในประเทศที่มีการปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีการผลิตที่นำมาใช้ได้อย่างยอดเยี่ยม  ทั้งนี้การจะผลักดันประเทศให้ก้าวเข้าสู่ความเป็นผู้นำ สิ่งหนึ่งที่เราควรจะตระหนักคือการพัฒนาภาคส่วนอื่นๆ ให้มีการพัฒนาขึ้นมา และสอดคล้องไปกับภาคอุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมให้เศรษฐกิจประเทศเติบโตขึ้นได้ในภาพรวม 

จากที่คุณกิตติรัตน์ เคยดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีโอกาสได้ดูแล 4 กระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์  กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพลังงาน  ทำให้เห็นถึงสถานการณ์ในประเทศ ทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ ซึงคุณกิตติรัตน์ พบว่า “ความท้าทายของภาครัฐในการพัฒนาประเทศนั้นมีอยู่แทบจะทุกๆ ส่วน”  ซึ่งจะแสดงความเห็นในภาคส่วนต่างๆ ดังนี้


ภาคอุตสาหกรรม 

คุณกิตติรัตน์กล่าวว่า “ภาคอุตสาหกรรมของไทยนั้นมีความเข้มแข็งและก้าวหน้าอย่างมาก จากที่ประเทศเราเคยเป็นประเทศเกษตรกรรม แต่เมื่อเวลาผ่านไปภาคอุตสาหกรรมก็กลายเป็นส่วนที่ผลักดันประเทศให้ประสบความสำเร็จมากที่สุด”  ทั้งนี้ทั้งนั้นในปัจจุบันประเทศไทยมีคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่มีเป้าหมายให้ประเทศทำการผลิตทดแทนการนำเข้า จนในที่สุดภาคอุตสาหกรรมไทยในปัจจุบัน มีขีดความสามารถที่จะเป็นผู้ผลิตเพื่อการส่งออก และสามารถทำให้การส่งออกของประเทศไทยอยู่ในระดับที่สูงขึ้นเรื่อยๆ  แต่อีกปัจจัยหนึ่งที่คุณกิตติรัตน์ มองเห็นว่าควรจะพัฒนาควบคู่ไปกับการผลิตเพื่อการส่งออก คือการผลิตเพื่อขายในประเทศ และการทำให้ผู้ซื้อในประเทศมีกำลังซื้อ โดยสองสิ่งนี้คือประเด็นสำคัญที่จะต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการเติบโตทางอุตสาหกรรมของประเทศในลำดับถัดไป เพื่อสร้างให้ประเทศมีดุลการค้าที่สมบูรณ์

อีกทั้งการพัฒนาภาคส่วนอื่นๆ ให้เติบโตควบคู่กับภาคอุตสาหกรรม เป็นเรื่องที่ท้าทายมาก เพราะเมื่อภาคอุตสาหกรรมมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด การที่ภาคส่วนอื่นๆ ยังตามไม่ทัน ก็จะทำให้กลายเป็นปัญหาได้ในอนาคต ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ “การพัฒนาทุกภาคส่วนให้ควบคู่กันไปเป็นเส้นขนาน” รองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม


ภาคการเงิน

หากมองย้อนกลับไปก่อนปี 2540 ก่อนจะเกิดวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ประเทศไทยมีสถาบันการเงินเป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้ประกอบการและนักอุตสาหกรรมในขณะนั้นมีตัวเลือกในการทำธุรกรรมทางการเงินที่หลากหลาย แต่หลังจากเกิดวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งแล้วนั้น ทำให้เราปิดสถาบันการเงินไปกว่า 60 แห่ง รวมถึงปิดธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เคยใช้สถาบันการเงินเหล่านั้น ในการสนับสนุนธุรกิจของตัวเองก็ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ แต่ขณะนี้เวลาผ่านไปกว่า 2 ทศวรรษ สถาบันการเงินในประเทศไม่ได้มีเพิ่มขึ้น ทำให้โอกาสของนักธุรกิจยังคงน้อย การเพิ่มสถาบันการเงิน จึงเป็นหนึ่งแนวทางที่จะช่วยเสริมสร้างให้เกิดโอกาสใหม่ๆ แก่นักลงทุนได้


ภาคการเกษตร

แม้ว่าในปัจจุบันอัตราส่วนของภาคการเกษตรในปัจจุบันมีขนาดเพียงแค่ ร้อยละ 11-12 ของ GDP ในประเทศแต่ภาคการเกษตรก็ยังคงเป็นส่วนสำคัญที่มีหน้าที่ดูแลประชากรในประเทศกว่าร้อยละ 35 ของประเทศ แต่ในปัจจุบันภาคการเกษตรประสบกับปัญหาเรื่องประสิทธิภาพในการผลิต และราคาสินค้าการเกษตรที่ตกต่ำ จึงทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ประสบปัญหาขาดทุน และยังกลายเป็นปัญหาในระยะยาวที่จะต้องมีการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

คุณกิตติรัตน์ให้ความเห็นว่า สินค้าเกษตรหลักๆ ที่เราผลิตได้เอง ดูเหมือนจะไม่ได้อยู่ในเทรนด์ของโลกสักเท่าไหร่ เนื่องจากสินค้าบางอย่างก็มีสินค้าอื่นที่ทดแทนได้จึงทำให้สินค้าเกษตรมีแนวโน้มว่าจะไม่เป็นที่ต้องการมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรจะไม่ปรับตัวสูงขึ้น  ซึ่งในส่วนนี้ ภาครัฐจึงควรมีนโยบาย ไม่ให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ  เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และอีกแนวทางหนึ่ง คือการทำให้สินค้าเกษตรถูกนำไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่น เช่น ปาล์ม ที่ทั่วโลกไม่ส่งเสริมให้ใช้เป็นน้ำมันสำหรับบริโภค เนื่องจากคุณประโยชน์น้อยกว่าน้ำมันชนิดอื่นๆ ก็ควรจะส่งเสริมให้มีการนำไปผลิตเป็นน้ำมัน ไบโอดีเซล เพื่อใช้ลดมลภาวะ และเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้า  นอกจากนี้ยังมี ยางพารา ซึ่งในปัจจุบันมีการนำยางสังเคราะห์ที่ราคาถูกกว่ามาใช้แทนยางพารา จึงทำให้ราคายางพารานั้นตกต่ำ  เราก็สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้โดยการนำยางพาราไปผสมกับแอสฟัลต์เพื่อทำให้คุณภาพของถนนสูงขึ้น  

 

ภาคคมนาคมและการขนส่ง 

ประเทศไทยประสบกับปัญหาด้านการคมนาคมอย่างมาก ทั้งปัญหารถติดจากการจัดการจราจร และมลภาวะจากการใช้รถยนต์ จนทำให้ปัจจุบันเกิดภาวะวิกฤต “ฝุ่นพิษ” ที่เป็นที่น่ากังวลใจต่อความปลอดภัยของคนในประเทศ  ดังนั้นภาครัฐควรจะผลักดันโครงการที่จะช่วยพัฒนาระบบขนส่งของประเทศ นำไปสู่ทิศทางที่สามารถปรับปรุงประสิทธิภาพของคมนาคมเพื่อช่วยให้ประชาชนมีคมนาคมที่ดีมากขึ้น รวมถึงในส่วนของภาคอุตสาหกรรม ก็ควรมีนโยบายเพื่อการจัดการด้านโลจิสติกส์ที่คล่องตัวเพื่อลดต้นทุนการขนส่งสินค้า  รองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม