อุตสาหกรรมยาง ปรับตัวอย่างไรในยุคใหม่ของยานยนต์ ?

อัปเดตล่าสุด 13 มี.ค. 2562
  • Share :
  • 2,255 Reads   

อย่างที่ทราบกันดีว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ กำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV), แนวคิด CASE (Connected, Autonomous, Shared, Electric), และอื่น ๆ ซึ่งคาดการณ์กันว่า ในปี 2030  30% ของยานยนต์นั่งส่วนบุคคลในตลาดโลก จะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า จึงเป็นที่แน่นอนว่า การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ นำมาซึ่งความต้องการชิ้นส่วนที่ต่างไปจากเดิม ทั้งในแง่โครงสร้าง และเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตและพัฒนา ส่งผลให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนจำเป็นต้องปรับตัวตามความก้าวหน้าเหล่านี้เช่นเดียวกับผู้ผลิตยานยนต์ ซึ่งรวมไปถึงผู้ผลิตยางล้อรถ และอุตสาหกรรมยางเช่นเดียวกัน

เมื่อยาง ต้องเป็นมากกว่ายาง

ปัจจุบัน ในอุตสาหกรรมยาง มีวัสดุใหม่ชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า “High Strength Rubber (HSR)” ซึ่งมีคุณสมับติในด้านความยืดหยุ่นแบบเดียวกับยาง และความคงทนแบบเดียวกับเรซิ่น จึงเป็นวัสดุที่โดดเด่นในด้านอายุการใช้งานเป็นอย่างยิ่ง และจากการทดสอบ โดยเทียบกับยางธรรมชาติ (Natural Rubber: NR) แล้ว พบว่า HSR มีความแข็งแรงสูงกว่าถึง 5 เท่า จึงสามารถผลิตยางล้อยานยนต์ที่ทนทาน แต่บาง และเบากว่าได้ ทำให้ HSR เป็นวัสดุที่ถูกคาดการณ์ว่าจะเข้ามาแทนที่ยางธรรมชาติในอนาคต และมีส่วนสำคัญในการช่วยลดน้ำหนักยานยนต์ให้เบาลง และนำไปสู่การประหยัดน้ำมันในยานยนต์ที่ไม่ใช่รถยนต์ไฟฟ้าอีกด้วย

นอกจากการพัฒนายางแล้ว Bridgestone ยังเล็งเห็นว่า โซลูชันเพื่อผู้ใช้ยานยนต์ เป็นอีกสิ่งที่จำเป็นในการพัฒนา จึงเข้าซื้อกิจการของบริษัท TomTom Telematics ผู้ประกอบธุรกิจบริการบริหารจัดการยานยนต์ นำข้อมูลของ TomTom มาใช้ร่วมกับองค์ความรู้ของบริษัท ในการพัฒนา Connected Service ที่มีคุณสมบัติในการตรวจสอบอายุ และสภาพของยางรถ เพื่อนำเสนอการเปลี่ยนยางที่เหมาะสมให้กับลูกค้า


HSR ของบริษัท Bridgestone ซึ่งผลิตจากยาง และเรซิ่น

Mr. Akihiro Eto ประธาน และผู้บริหารอาวุโส บริษัท Bridgestone กล่าวแสดงความเห็นว่า “สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเรา คือการนำเสนอยางล้อคุณภาพสูง และบริการที่รวดเร็วให้กับลูกค้า”

ส่วนทางด้านของ Sumitomo Rubber Industries นั้น อยู่ระหว่างการตอบรับแนวคิด CASE ด้วยการพัฒนา “Smart Tyre Concept” ซึ่งตั้งเป้าพัฒนาให้สามารถใช้งานจริงได้ในช่วงหลังปี 2025 เป็นต้นไป

โดยแนวคิดในการพัฒนานี้ คือการพัฒนา “ Airless Tire” ยางล้อไร้อากาศ, “Sensing Core” เทคโนโลยีตรวจจับสภาพท้องถนนจากการหมุนของล้อรถ, “Active Thread” ดอกยางซึ่งมีคุณสมบัติในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างให้ตอบสนองต่ออุณหภูมิ ปริมาณน้ำ และลักษณะของถนน, และอื่น ๆ 

ทางบริษัท ชี้แจ้งว่า เทคโนโลยีที่ให้ความสำคัญที่สุดในการพัฒนาตอนนี้ คือ Sensing Core โดย Mr. Keita Ikuji ประธานบริษัท Sumitomo Rubber Industries  กล่าวแสดงความเห็นว่า “เป็นเพราะผู้ขับ ไม่มีทางทราบสภาพถนนข้างหน้า ซึ่งเป็นเรื่องที่เรามาเข้าใจตอนทดสอบยางแล้วพบว่าถนนลื่นกว่าที่คาดมาก” และกล่าวย้ำว่า “ปัจจุบันการพัฒนาใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว”

Mr. Masataka Yamaishi ประธานบริษัท Yokohama Rubber กล่าวแสดงความเห็นว่า ในแนวคิด CASE สิ่งที่ทรงอิทธิพลต่อผู้ผลิตยางที่สุดคือ “Sharing” ซึ่งการที่ยานยนต์ 1 คัน จำเป็นต้องวิ่งต่อเนื่องนานขึ้น และวิ่งเป็นระยะทางที่มากขึ้น ทำให้ยานยนต์ในแนวคิดนี้ต้องการยางล้อที่มีประสิทธิภาพมากกว่ายานยนต์ทั่วไป

ซึ่งแน่นอนว่า สำหรับผู้ให้บริการ Ride Sharing แล้ว การใช้ยางประสิทธิภาพสูง หรือการเปลี่ยนยางบ่อย ๆ อาจกลายเป็นเรื่องยุ่งยาก และทำให้ต้นทุนสูงขึ้น แต่ในทางกลับกัน สิ่งนี้จะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมยางเป็นอย่างยิ่ง และอาจเป็นโอกาสใหม่ทางธุรกิจก็เป็นได้

ด้าน Mr. Takashi Shimizu ประธานบริษัท Toyo Tires แสดงความเห็นว่า “ยางล้อเป็นหนึ่งในชิ้นส่วนที่สำคัญที่สุดของยานยนต์” จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนายางล้อตามแนวคิด CASE โดยปัจจุบัน ทางบริษัทอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลการวิ่งจากสนามทดสอบ เพื่อนำมาใช้ต่อยอดในการพัฒนา

นอกจากนี้ ทางบริษัทยังมุ่งไปที่การพัฒนายางซึ่งมีคุณสมบัติในการลดเสียง และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งหลายค่ายมุ่งพัฒนาให้วิ่งได้เงียบที่สุด นั่นคือ สามารถวิ่งได้โดยเกิดเสียงน้อยลง และคาดการณ์ว่า ในอนาคต ความต้องการ Airless Tires จะเพิ่มสูงขึ้นมาก

ความต้องการที่เปลี่ยนไป คือโอกาสใหม่ทางธุรกิจ


ชิ้นส่วนยางของ Nissan Leaf

อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนพฤษภาคม 2018 Sumitomo Riko ซึ่งมุ่งพัฒนาธุรกิจ CASE มาอย่างต่อเนื่อง ได้ปรับแผนธุรกิจของบริษัทใหม่ เนื่องจากพบว่าแนวคิดนี้ยังไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าที่คาดการณ์ไว้ อีกทั้งยังคาดการณ์แนวโน้มตลาดได้ยาก จึงตัดสินใจลดความเสี่ยงในธุรกิจนี้ลง และไปมุ่งเน้นพัฒนาชิ้นส่วนที่มีแนวโน้มว่าความต้องการจะสูงขึ้น

โดยทางบริษัทคาดการณ์ว่า ความแพร่หลายของรถยนต์ไฟฟ้า จะส่งผลให้ความต้องการยางกันสั่นสะเทือนสำหรับเครื่องยนต์ และท่อยางกันความร้อนลดลงเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม Mr. Tetsu Matsui ประธานบริษัท Sumitomo Riko ได้กล่าวแสดงความเห็นว่า “แม้ความต้องการชิ้นส่วนยางเดิมจะลดลง แต่ก็จะทำให้เกิดความต้องการชิ้นส่วนยางชนิดอื่นแทน” โดยยกตัวอย่างเช่น ความต้องการชิ้นส่วนยางสำหรับมอเตอร์ ซึ่งจะเข้ามาแทนที่ความต้องการชิ้นส่วนยางสำหรับเครื่องยนต์สันดาป ซึ่งทางบริษัท ได้นำการพัฒนาด้วยระบบดิจิทัลมาใช้คู่กับการออกแบบสนามทดสอบใหม่ เพื่อให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้รวดเร็วยิ่งขึ้นกว่าเดิม

ในทางกลับกัน Toyoda Gosei เล็งเห็นว่า ไม่ว่ายานยนต์จะพัฒนาไปในทิศทางใด ความต้องการชิ้นส่วนยางส่วนหนึ่งจะยังคงเดิม ซึ่งสำหรับบริษัทแล้ว ชิ้นส่วนที่ว่านั้นคือ “Weatherstripp” ชิ้นส่วนยางซึ่งใช้ในการอุดช่องว่างของกระจกหน้าต่าง ประตูรถ และอื่น ๆ เพื่อป้องกันเสียง และน้ำฝน ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่ถูกใช้ในยานยนต์ทุกชนิด ทางบริษัทจึงจะมุ่งรักษาส่วนแบ่งของตนไว้ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพสูงขึ้นต่อไป

นอกจากนี้ เทคโนโลยีที่ใช้ในการพัฒนายางเพื่ออุตสาหกรรม ยังสามารถนำไปต่อยอดในการพัฒนายางเพื่ออุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนายางที่มีอายุการใช้งานยาวนาน เพื่อตอบสนองความต้องการจากอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และอุตสาหกรรมการแพทย์ จึงกล่าวได้ว่า การพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมยางในครั้งนี้ จะเป็นมาตรฐานใหม่ ที่ส่งผลประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอื่น ๆ ถัดไป โดยมีตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ใกล้วางจำหน่ายแล้ว เช่น “e Rubber” วัสดุยางซึ่งสามารถยืดหดได้ตามการกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้า และถูกนำไปใช้พัฒนาอุปกรณ์จำลองการเต้นของหัวใจ


อุปกรณ์จำลองการเต้นของหัวใจซึ่งผลิตขึ้นจาก “e Rubber” (สนับสนุนภาพโดย Toyoda Gosei)