ร่วมถกธุรกิจ แบ่งปันแนวคิดอุตสาหกรรม ในงาน M Talk เสวนา 90 นาที “The next Money Machine - ฟัง G2 คุยธุรกิจใหม่”

อัปเดตล่าสุด 23 พ.ย. 2562
  • Share :
  • 930 Reads   

เมื่อวันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2562 ข่าวออนไลน์ M Report ได้จัดงาน M Talk เสวนา 90 นาที “The next Money Machine - ฟัง G2 คุยธุรกิจใหม่” ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพฯ มี 3 ทายาทธุรกิจรุ่นใหม่ของอุตสาหกรรมไทย ผู้ได้รับรางวัล “M Award - G2 of the Year 2019” ซึ่งประกอบด้วย คุณเกรียงไกร มโนบูรชัยเลิศ บริษัท ซี.ซี.เอส เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด , คุณภวเกียรติ กีรติชีวนันท์ บริษัท บิทไว้ส์กรุ๊ป, และคุณวรุตม์ รวยสว่างบุญ บริษัท ไมโคร ปรีซิชั่น จำกัด เป็นผู้ร่วมเล่าเรื่องธุรกิจ ปัญหาที่พบ และโอกาสทางธุรกิจใหม่ ในยุคที่สภาพเศรษฐกิจทั่วโลกกำลังผันผวนเช่นนี้ โดยมี คุณอานนท์ เรืองจรุงพงศ์ บริษัทไทยสเตนเลสสตีล จำกัด และ คุณศรายุธ ชูพรรคเจริญ บริษัท เอส ซี ซี เทค เป็นผู้ดำเนินรายการ 

งานเสวนาครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ หวังให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมสามารถรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างชาญฉลาด พร้อมเล็งหาโอกาส หรือสร้างแรงบันดาลใจในการบริหารงานในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจเช่นนี้ รวมถึงแนวทางการลงทุน ด้วยการพัฒนาธุรกิจในด้านอื่น ๆ อีกด้วย

คุณเกรียงไกร มโนบูรชัยเลิศ บริษัท ซี.ซี.เอส เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด

คุณเกรียงไกร มโนบูรชัยเลิศ จากบริษัท ซี.ซี.เอส เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด บริษัทที่ได้รับมาตรฐาน AS9100 และ NADCAP มาตรฐานอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยานเป็นรายแรกของไทย เป็นท่านแรกที่ได้เล่าประสบการณ์ของตนบนเวทีงานเสวนา เริ่มที่ประวัติความเป็นมาของบริษัทในรุ่นคุณพ่อ ถึงที่มาว่า ทำไมถึงผันตัวจากงานกลุ่มอื่นเข้าสู่อุตสาหกรรมอากาศยานได้ ซึ่งเป็นผลจากปรัชญาของคุณพ่อที่ว่า “หากไม่มีสินค้าเป็นของตัวเอง ก็ต้องเป็นโต๊ะที่มีมากกว่า 4 ขา” เพื่อให้สามารถรองรับการทำงานได้ในทุกอุตสาหกรรม เปลี่ยนจากผู้ผลิตชิ้นส่วนเรียบง่ายไปสู่การผลิตชิ้นส่วนแบบ OEM ซึ่งต้องใช้ความพยายาม เวลา และการลงทุนเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น คู่ค้าของ ซี.ซี.เอส ได้ปิดตัวลง ส่งผลให้บริษัทประสบความยากลำบาก ก่อนตัดสินใจลงทุนเพิ่มอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีกำไร ขาดทุนต่อเนื่องนับสิบปี จนกระทั่งได้รับคอนแทรคระยะยาวเป็นผลตอบแทนในท้ายสุด และได้ผลิตชิ้นส่วนให้บริษัทอากาศยานชั้นนำทั่วโลก เช่น Boeing, Airbus, Bombardier, และอื่น ๆ พร้อมย้ำถึงความสำคัญของความอดทน

คุณภวเกียรติ กีรติชีวนันท์ บริษัท บิทไว้ส์กรุ๊ป

ด้าน คุณภวเกียรติ กีรติชีวนันท์ จาก บิทไว้ส์กรุ๊ป กลุ่มธุรกิจเครื่องปรับอากาศครบวงจร และเจ้าของแบรนด์เครื่องปรับอากาศไทย “Tasaki” ได้ร่วมแชร์ 3 ปัจจัยสำคัญของบริษัทในการอยู่รอด อย่างแรกคือการแบ่งขาธุรกิจ ที่ช่วยให้บริษัทสามารถผ่านวิกฤตเศรษฐกิจ 2 ครั้งใหญ่ ทั้งวิกฤตต้มยำกุ้ง และวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ เพื่อให้มีฐานทั้งในประเทศ และนอกต่างประเทศ อย่างปัจจัยถัดมาคือความเป็นเลิศของบริษัท โดยได้ย้ำว่า “ISO เป็นเพียงมาตรฐานขั้นต่ำ” การมี ISO เป็นแค่เกณฑ์ขั้นต้นในการพิจารณาของลูกค้าเท่านั้น และควรให้ความสำคัญกับการมีจุดแข็ง ซึ่งในกรณีของบริษัท ได้ทำการล่ารางวัล ซึ่งกลายเป็นตัวบ่งบอกว่าบริษัทมีส่วนใดที่เหนือกว่าคนอื่น ช่วยให้ได้ลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น อย่างสุดสุดท้ายคือเทคโนโลยี  ความสำคัญในการทำวิจัย และบุคลากร ก่อนกล่าวถึงมุมมองธุรกิจใหม่ ว่าการขยับขยายไปยังธุรกิจอื่นที่ใกล้เคียงกับธุรกิจเดิม และการหาพาร์ทเนอร์ในกลุ่มสินค้าใกล้เคียงกัน ทำให้บริษัทสามารถมีโอกาสได้มากขึ้น พร้อมแสดงความเห็นถึงความน่าสนใจของธุรกิจพลังงาน

คุณวรุตม์ รวยสว่างบุญ บริษัท ไมโคร ปรีซิชั่น จำกัด 

คุณวรุตม์ รวยสว่างบุญ จากบริษัท ไมโคร ปรีซิชั่น จำกัด ผู้ผลิตแม่พิมพ์และชิ้นงานอลูมิเนียมแนวหน้าของประเทศไทย ได้เล่าถึงประสบการณ์ตั้งแต่เมื่อครั้งเข้ามารับช่วงบริษัทต่อ ก่อนแสดงความเห็นถึงวิกฤตในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจากความเปลี่ยนแปลงของแนวโน้มในตลาดโลก ที่ทำให้จำนวนลูกค้าของบริษัทลดลง ว่าการรับมือวิกฤตเหล่านี้ ต้องเริ่มจากดูว่า ต้นทุนเดิมของบริษัทคืออะไรบ้าง ที่สามารถนำไปต่อยอดในการเข้าสู่ธุรกิจใหม่ รวมถึงความสำคัญของการลงทุน และการวิจัย และพัฒนาเพิ่ม เนื่องจากงานที่เรียบง่ายนั้นไหลออกจากไทย ไปยังตลาดอินโดนีเซีย และเวียดนามมากกว่า ซึ่งในกรณีของบริษัทนี้ คือการเข้าสู่ตลาดเครื่องมือแพทย์ อีกสิ่งที่จำเป็นคือ ความสามารถในการปรับตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อให้สามารถรับมือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากปัจจัยภายนอกอย่างสงครามการค้า เพื่อให้บริษัทสามารถอยู่รอดต่อไปได้ในตลาด พร้อมย้ำว่า บริษัทจะอยู่รอดต่อไปไม่ได้หากทำทุกอย่างเหมือนเดิมโดยไม่มีการปรับตัว

ภาพบรรยากาศภายในงาน M Talk เสวนา 90 นาที “The next Money Machine - ฟัง G2 คุยธุรกิจใหม่”

จะเห็นได้ว่า ทั้ง 3 ท่าน ต่างมีจุดร่วมสำคัญ ที่ทำให้บริษัทสามารถอยู่รอดได้ในสถานการณ์ที่มีความผันแปร คือ การแบ่งขาธุรกิจ ทั้งธุรกิจที่ใกล้เคียงเดิม การมองหาตลาดใหม่ หรือการมีธุรกิจในหลายอุตสาหกรรมเพื่อเกื้อหนุนกันและกัน การให้ความสำคัญกับการวิจัย และพัฒนา (R & D) เพื่อยกคุณภาพสินค้า และการผลิต ให้บริษัทมีความพร้อมต่อโอกาสใหม่ที่จะเข้ามาหา หรือที่บริษัทจะเป็นฝ่ายคว้ามาเอง และการลงทุนเทคโนโลยี ลดต้นทุน และปรับปรุงการผลิตให้ก้าวทันอุตสาหกรรม

ข่าวออนไลน์ M Report หวังว่างาน M Talk เสวนา 90 นาที “The next Money Machine - ฟัง G2 คุยธุรกิจใหม่” จะเป็นประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมทุกท่าน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกท่านจะได้รับไอเดีย และแนวทางที่เป็นประโยชน์ สามารถนำไปต่อยอดประยุกต์ใช้ เพื่อให้ธุรกิจก้าวหน้ายิ่งขึ้นในสภาวะเศรษฐกิจที่ยากลำบากเช่นนี้

และต้องขอขอบคุณสปอนเซอร์ใจดีที่สนับสนุนการจัดงานในครั้งนี้ อาทิ Factory Max, HSM Machinery, Machine Tech, Min Sen Machinery, Pacific Mercury, PTSC, Sodick, Sumipol, TaeguTec, และTungaloy 

ภาพรวม G2 ผู้ได้รับรางวัล M Award - G2 of the Year 2019 ส่วนหนึ่งที่มารวมพลังในงาน M Talk เสวนา 90 นาที (จากซ้าย) คุณอานนท์ เรืองจรุงพงศ์ Thai Stainless Steel Co., Ltd., ด้วย คุณเกรียงไกร มโนบูรชัยเลิศ C.C.S. Engineering Co., Ltd., คุณวรุตม์ รวยสว่างบุญ Micro Precision Co., Ltd., คุณภวเกียรติ กีรติชีวนันท์ Bitwise (Thailand) Co., Ltd., คุณศรายุธ ชูพรรคเจริญ SCC Tech Co., Ltd., และคุณศิโรจน์ หัสดินไพศาล United Copper Co., Ltd.

 

บรรยากาศภายในงาน M Talk เสวนา 90 นาที “The next Money Machine - ฟัง G2 คุยธุรกิจใหม่”