นโยบายและมาตรการเพื่อผลักดัน "อุตสาหกรรมระบบราง" จากโปรเจกต์รถไฟไทยทั่วประเทศ แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ก่อร่าง สร้างระบบราง อีกก้าวใหญ่ของประเทศไทย

อัปเดตล่าสุด 31 ก.ค. 2563
  • Share :
  • 2,347 Reads   

ระบบรางโดยโครงการรถไฟ-รถไฟฟ้าทั่วประเทศ ภายใต้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และการรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่เร่งดำเนินการอยู่ขณะนี้ นับเป็นเมกะโปรเจกต์ของประวัติศาสตร์ชาติไทยด้วยเม็ดเงินลงทุนกว่าล้านล้านบาท การตัดสินใจลงทุนครั้งใหญ่นี้เป็นก้าวสำคัญต่ออนาคตประเทศไทยในระยะยาว ที่นอกเหนือจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ ซึ่งจะกระจายความเจริญและพัฒนาคุณภาพชีวิตไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศแล้ว ยังเป็นเครื่องมือสำคัญของการพัฒนาและสร้างมูลค่าในมิติอื่น ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  

 
l ใส่ ‘เกียร์เดินหน้า’ อุตสาหกรรมระบบราง แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

การตัดสินใจครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญที่จะขับเคลื่อนการลงทุนและเศรษฐกิจไทย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศตามแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ประเด็นโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ ที่วางเป้าหมายให้โครงสร้างพื้นฐาน เชื่อมไทย เชื่อมโลก เชื่อมโยงเครือข่ายคมนาคมระดับเอเซีย โดยมีไทยเป็นจุดเชื่อมโยงหลัก พัฒนาโครงข่ายทางรางให้เป็นโครงข่ายหลักของประเทศ ดำเนินการเร่งรัดการพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการขนส่งทางราง ลดระยะเวลาในการโดยสารและการขนส่งสินค้า ลดต้นทุนการขนส่ง และประหยัดการใช้พลังงานของประเทศได้ในระยะยาว สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ซึ่งจะยกระดับเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม และยังสนับสนุนนอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากการพัฒนาระบบคมนาคม 

โดยแผนพัฒนาอุตสาหกรรมรางระยะที่ 2 ได้เปิดเผยข้อมูลว่า การใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศในสัดส่วน 40% จะสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศได้มากกว่า 7 พันล้านบาท ขณะที่การประกอบรถไฟขั้นสุดท้ายในประเทศจะทําให้ซื้อรถไฟในราคาถูกลงกว่า 2.8 พันล้านบาท และเกิดการจ้างงานกว่า 2 พันล้านบาท และยังช่วยลดภาระการจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศได้ไม่น้อยกว่า 1.7 พันล้านบาทต่อปี ทำให้แนวนโยบายของกระทรวงคมนาคม ผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมระบบรางขึ้นในประเทศ ด้วยหลักการ Thai First คือ ไทยทำ ไทยใช้ คนไทยต้องได้ก่อน จึงกำหนดให้การจัดซื้อจัดจ้างระบบขนส่งมวลชนทางรางของภาครัฐทั้งหมด จะต้องมีการจัดซื้อบางชิ้นส่วนที่ผลิตภายในประเทศ (Local-content) ซึ่งจะต้องมีการเขียนระบุไว้ในเงื่อนไขเอกสารประกวดราคา (TOR) อย่างชัดเจน 

ภายในปี 2566 ทุกหน่วยงานระบบรางจะต้องจัดซื้อชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศไม่น้อยกว่า 40% ของมูลค่าการจัดซื้อ และในปี 2567 ต้องซื้อในประเทศครบ 100% ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศได้ถึง 50% เพราะปัจจุบันมีชิ้นส่วน 3 รายการที่ผู้ประกอบการไทยยังผลิตเองไม่ได้ คือ โบกี้รถไฟ เกียร์ และชุดเกียร์ คิดเป็นมูลค่าราว 50% ของมูลค่านำเข้า

 
l มาตรการส่งเสริมกิจการอุตสาหกรรมระบบราง

โดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้ออกมาตรการส่งเสริมกิจการอุตสาหกรรมระบบรางใน 2 ส่วน คือ กิจการขนส่งทางราง ยกเว้น ภาษีนิติบุคคล 8 ปี  และ กิจการผลิตและ/หรือซ่อมรถไฟ ชิ้นส่วน หรืออุปกรณ์ระบบราง จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 - 8 ปี โดยมี 3 กลุ่ม คือ 

  1. กิจการผลิตขบวนรถและ/หรือตู้รถ เช่น ตู้รถโดยสาร ตู้สินค้า เป็นต้น จะได้สิทธิยกเว้นเงินได้นิติบุคคล 8 ปี
  2. กิจการซ่อมรถไฟ หรือชิ้นส่วน หรืออุปกรณ์สำหรับระบบราง ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี
  3. กิจการผลิตชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์สำหรับระบบราง เช่น โครงสร้างรถไฟ ตู้โดยสาร อุปกรณ์ควบคุม โบกี้รถไฟ ระบบห้ามล้อและชิ้นส่วนสำคัญ เป็นต้น ซึ่งมีขั้นตอนการผลิตตามที่คณะกรรมการเห็นชอบ ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีนิติบุคคล 8 ปี 

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการพิเศษเพื่อส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมระบบรางและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2564 ในทุกจังหวัดยกเว้นกรุงเทพมหานคร โดยให้ สิทธิและประโยชน์เพิ่มเติม ดังนี้

  1. โครงการลงทุนที่ตั้งในจังหวัดขอนแก่น และจังหวัดนครราชสีมา ให้ได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เพิ่มเติมเป็นเวลา 5 ปี 
  2. โครงการลงทุนในทุกพื้นที่ยกเว้นกรุงเทพมหานคร จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดนครราชสีมา ให้ได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เพิ่มเติมเป็นเวลา 5 ปี 

 
l พัฒนาเทคโนโลยีและบุคลากร จิ๊กซอว์สำคัญที่จะพาไปให้ถึงเป้าหมาย 

ปัจจุบันผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรางไทยยังมีน้อยราย และมีความสามารถในการแข่งขันในระดับตํ่า จึงเป็นอุปสรรคใหญ่สำหรับการผลิตชิ้นส่วนในประเทศ  กระทรวงคมนาคม โดยกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กระทรวงการอุดมการศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และอีก 14 หน่วยงาน เช่น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จํากัด บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จํากัด (มหาชน) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฯลฯ จึงได้มีการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันผ่านโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางของไทยให้มีความยั่งยืน ด้วยการสนับสนุนให้มีการผลิตชิ้นส่วนในประเทศ การถ่ายทอดเทคโนโลยี พัฒนาบุคคลกร การวิจัยและพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมทั้งระบบ วางเป้าหมายที่จะพัฒนาระบบขนส่งทางรางให้เข้มแข็ง 

ปัจจุบันประเทศไทยใช้เครื่องยึดเหนี่ยวรางและหมอนรองรางรถไฟอย่างมหาศาล โดยโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 ระยะทาง 993 กิโลเมตรนั้น ได้ใช้เครื่องยึดเหนี่ยวรางกว่า 6.6 ล้านตัว และใช้หมอนรองรางรถไฟ 1.65 ล้านหมอนรองราง ซึ่งทางรถไฟ ระยะทาง 1 กิโลเมตร จะใช้หมอนรองรางรถไฟ 1,660 หมอนรองราง และใช้เครื่องยึดเหนี่ยวราง 2 ชุด (เหล็กบน-ล่าง จำนวน 4 ตัว) ปัจจุบันนำเข้าชิ้นส่วนเหล่านี้จากประเทศจีนทั้งหมด โดยเครื่องยึดเหนี่ยวรางราคาประมาณ 1,500-1,700 บาทต่อ 1 ชุด ดังนั้น หากไทยสามารถพัฒนาและผลิตเครื่องยึดเหนี่ยวราง (Rail Fastener) และหมอนรองรางรถไฟได้ ก็จะสามารถนำมาใช้ในการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ระยะทาง 1,483 กม. ซึ่งจะช่วยประหยัดงบประมาณ รวมถึงช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศ และสนับสนุนการนำยางพารามาใช้เป็นวัตถุดิบได้อีกด้วย  โดยกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้เร่งกำหนดมาตรฐานรับรองให้ไทยสามารถพัฒนาและผลิตเครื่องยึดเหนี่ยวราง (Rail Fastener) และหมอนรองรางรถไฟได้เอง  และทาง วว. จะสนับสนุนด้านเทคโนโลยีสำหรับการผลิตวัสดุบางตัวที่สามารถสร้างเองได้ 

ในฝั่งของโครงการรถไฟความเร็วสูงไทยจีน ได้มีการบรรจุเงื่อนไขด้านการถ่ายโอนเทคโนโลยีให้แก่วิศวกรไทยใน 4 ด้าน คือ 1. หลักสูตรฝึกอบรมวิศวกรไทยด้านเทคโนโลยีการออกแบบรถไฟความเร็วสูง 2. การจัดตั้งองค์กรเพื่อรับผิดชอบการบริหารการเดินรถ 3. การพัฒนาอุตสาหกรรมระบบราง และ 4. การส่งเสริมขีดความสามารถการทดสอบ การก่อสร้าง การติดตั้ง การตรวจสอบและการซ่อมบำรุงโครงการรถไฟความเร็วสูง  สำหรับความคืบหน้าในเรื่องนี้ เบื้องต้นทางสภาวิศวกรได้รับมอบหมายในเรื่องหลักสูตรฝึกอบรมวิศวกรไทย เพื่อเตรียมความพร้อมวิศวกรไทยให้สามารถออกแบบงานโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธาได้เองในโครงการระยะที่ 2 ช่วงโคราช-หนองคาย และโครงการอื่น ๆ  ซึ่งจะเป็นหลักสูตรที่เน้นรถไฟความเร็วสูง ซึ่งอาจมีข้อกำหนดพิเศษกว่ารถไฟทั่วไป