สสว.-สวทช. จัดเวทีพบปะนักลงทุนและผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ สร้างโอกาสขยายตลาด ต่อยอดนวัตกรรมเชิงพาณิชย์

อัปเดตล่าสุด 20 มิ.ย. 2561
  • Share :
  • 410 Reads   

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) จัดงาน “Technology Investment Conference 2018” 

นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า งาน “Technology Investment Conference 2018” จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องการลงทุนจากวิทยากรระดับสากล รวมถึงเปิดโอกาสการหาพันธมิตรทางธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการสตาร์ทอัพในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงนักลงทุน สถาบันการเงิน และพันธมิตรผู้สนใจที่เข้าร่วมงาน โดยงานนี้นับเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพไทยได้พบกับหน่วยงานภาครัฐ และบริษัทชั้นนำในต่างประเทศ อาทิ Frost & Sullivan (APAC) ที่จะมาแบ่งปันประสบการณ์ในด้านเครื่องมือทางการเงินและการลงทุนที่ทันสมัย รวมถึงได้รับความรู้ความเข้าใจในหัวข้อต่างๆ อาทิ การระดมทุนในรูปแบบใหม่ ๆ มุมมองของเทคโนโลยีสำหรับอาเซียนและการประเมินเทคโนโลยี การอัพเดทเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มศักยภาพและโอกาสในการดำเนินธุรกิจระดับสากล การคิดไอเดียใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพและการทำงานร่วมกับ Startup และการสาธิตเทคโนโลยี Blockchain ที่จะเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจในอนาคต

“เราทุกคนตระหนักดีว่านวัตกรรมเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งผู้ประกอบการ SME ที่อยู่ในช่วงพัฒนานวัตกรรมถือมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและการเติบโตของประเทศ โดยเฉพาะในยุคที่ประเทศไทยกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติให้เป็นประเทศไทย 4.0 การส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพให้สามารถแข่งขันได้จึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมหรือเทคสตาร์ทอัพ (Tech Startup) เพราะในการดำเนินธุรกิจจริงในภาคออนไลน์ ความสามารถในการขยายตลาด การขาย การติดต่อกับลูกค้าได้อย่างทันท่วงที

การสนับสนุนการชำระเงินของลูกค้า เป็นต้น ล้วนต้องสามารถทำได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมงและทุกวัน ทั้งนี้ กลุ่มเทคสตาร์ทอัพถือเป็นผู้ประกอบการ SME แบบใหม่ที่ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างเศรษฐกิจไทยผ่านเทคโนโลยีที่กลุ่มนี้พัฒนาขึ้นมา รวมถึงเทคโนโลยี Blockchain ที่เป็นแพลตฟอร์มซอฟต์แวร์ชั้นนำของโลก เพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจจริงในการเติบโตและขยายฐานลูกค้าผ่านการเข้าถึงที่สะดวกรวดเร็วในทันที ซึ่ง สสว. จะมีส่วนในการผลักดันธุรกิจเทคโนโลยีนี้ให้สำเร็จ รวมถึงความร่วมมือกับซอฟต์แวร์พาร์ค สวทช. ในการจัดงาน Technology Investment Conference 2018 เพื่อสนับสนุนการผู้ประกอบการ SME และสตาร์ทอัพให้แข็งแกร่งขึ้น ทั้งด้านการผลิตและบริการ ด้วยทรัพยากรที่จำกัดของผู้ประกอบการ โดยอาศัยการลงทุนจากนักลงทุน VC และความร่วมมือจากภาคส่วนอื่น ๆ ต่อไป” ผู้อำนวยการ สสว. กล่าว

ด้าน นายเฉลิมพล ตู้จินดา ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวถึงการจัดงาน Technology Investment Conference 2018 ร่วมกับ สสว. ภายใต้หัวข้อ “Investments that Sparks Science and Technology Innovation” เป็นงานประชุมเกี่ยวกับวิวัฒนาการของเทคโนโลยีและความเข้าใจของการนำดิจิทัลมาใช้ประโยชน์ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึง Platform สามารถสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอำนวยความสะดวกและเสริมสร้างคุณภาพชีวิต เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางธุรกิจ สร้างการเชื่อมโยงเครือข่ายระดับโลกเข้าด้วยกัน หัวข้อในวันนี้เน้นเรื่อง ICO และ Blockchain ที่กำลังมาแรงและจะมีผลต่ออุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างมาก ซึ่งสามารถทำให้เข้าถึงแหล่งเงินทั่วโลกได้โดยง่าย ในขณะที่ทางรัฐบาลไทยได้เล็งเห็นปัญหาด้านการประเมินมูลค่าของเทคโนโลยี จึงได้พัฒนาเครื่องมือซึ่งจะช่วยให้การหาทุนมาต่อยอดเทคโนโลยีเพื่อการพาณิชย์หรือสังคมนั้น เกิดขึ้นได้มากและมีประสิทธิภาพขึ้น 

Technology Investment Conference 2018 นี้ได้มีการพัฒนาจากการสร้างเวที Pitching ของ Startup ที่เมื่อ 5-6 ปีที่แล้วถือเป็นเรื่องใหม่ มาเป็นการสร้างเวทีให้เกิดความคิดด้านการสร้างเทคโนโลยีที่มีศักยภาพ และเป็นเวทีผลักดันผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยและหน่วยงานของรัฐที่มีศักยภาพออกสู่เชิงพาณิชย์เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการนำผลงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง

ในช่วงปีกว่าที่ผ่านมาทางสวทช. ร่วมกับ สำนักปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ได้ทุ่มงบประมาณกว่า 180 ล้านบาท ริเริ่มโครงการ Research Gap Fund เพื่อสนับสนุนงบประมาณในการทำ Industry scale prototyping และศึกษาตลาด ทำให้เกิดการพัฒนาสินค้าที่เกิดจากผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยและหน่วยงานของรัฐกว่า 100 ผลงาน ภายใน 6 เดือนสามารถสร้างรายได้และการลงทุนในเทคโนโลยีกว่า 320 ล้านบาท โครงการ Research  Gap Fund ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยีและงานวิจัยไทยที่หากผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อปิดช่องว่างระหว่างการพัฒนาผลงานในห้อง lab ไปสู่การสร้างนวัตกรรมต้นแบบอุตสาหกรรม และทดสอบกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ผมมีความมั่นใจในคุณภาพและโอกาสของผลงานวิจัยของไทยไปสู่ตลาดโลก   

จากการสร้าง Ecosystem อย่างจริงจังของรัฐบาลใน 3 ปีที่ผ่านมา ริเริ่มโครงการ และกลไกการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีออกสู่เชิงพาณิชย์ ทั้งโครงการ Research Gap Fund และการจัดงาน Technology Investment Conference  มา 6 ปี ทำให้ผมมีความมั่นใจในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศสู่ยุค Thailand 4.0 และมั่นใจว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะก้าวขึ้นเป็นประเทศแนวหน้าในการขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 

งาน Technology Investment Conference 2018 จะประกอบด้วยการบรรยายเรื่องการรับประกันเทคโนโลยีสำหรับธุรกิจเทคโนโลยี / ICO (Initial coin offering) หรือการระดมทุนผ่านเหรียญดิจิทัล ในบริบทประเทศไทย / หัวข้อเสวนาการเลือกกลไกการระดมทุนที่ทันสมัย ตลอดจนรับชมนิทรรศการผลงานเทคโนโลยีของผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพ จากนั้นช่วงบ่าย จะมีการแบ่งหัวข้อเทคโนโลยีตามความสนใจของผู้ร่วมงานออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่

ส่วนที่ 1 : เทคโนโลยีในอนาคตสำหรับอาเซียน ประกอบด้วย เทคโนโลยี Foresight หรือเครื่องมือคาดการณ์อนาคต สำหรับประเทศไทย / 1001 ไอเดียสำหรับการเริ่มต้น / นวัตกรรมการเริ่มต้นสร้างองค์กรและรายงานทิศทางการทำงานร่วมกันในปี 2018 / การลงทุนในธุรกิจ Blockchain ในยุคอุตสาหกรรม 4.0 และการสาธิตการเริ่มต้นใช้งานเทคโนโลยี 

ส่วนที่ 2 : นวัตกรรมวิจัยหน่วยงานภาครัฐและมหาวิทยาลัย ภายใต้โครงการ Leaders in Innovation Fellowships (LIF) Programme ประจำปี 2561 ที่เป็นหนึ่งในกิจกรรมของทุน Newton Fund เพื่อสนับสนุนให้นักวิจัยสามารถนำผลงานวิจัยของตนมาจัดทำแผนธุรกิจเพื่อผลักดันให้ผลงานวิจัยเกิดการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ผ่านรูปแบบการนำเสนอผลงานแบบพิชชิ่ง รวมถึงยังมีหัวข้อแบ่งปันประสบการณ์การผลักดันนวัตกรรมงานวิจัยสู่ตลาด โดยผู้รับทุนในโครงการ LIF ปีก่อนๆ