ส่งออกไทย 2566 เดือนกุมภาพันธ์ (ก.พ.) กระทรวงพาณิชย์

ส่งออกไทย 2566 เดือน ก.พ. หดตัว 4.7% ลดต่อเนื่องเดือนที่ 5

อัปเดตล่าสุด 30 มี.ค. 2566
  • Share :
  • 2,603 Reads   

สถานการณ์ส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ไทยทำตัวเลขส่งออกอยู่ที่ระดับ 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 4.7% เมี่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน จากตัวเลขฐานสูงในปีก่อนหน้า และสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว กระทบความต้องการสินค้า โดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า

วันที่ 30 มีนาคม 2566 นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยตัวเลขการส่งออกเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีมูลค่า 22,376.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (730,123 ล้านบาท) หดตัวร้อยละ 4.7 หักน้ำมัน สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย หดตัวเพียงร้อยละ 0.05 เนื่องจากฐานที่สูงในปีก่อนหน้า และแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว กระทบต่อความต้องการสินค้า โดยกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้ายังคงหดตัว รวมทั้งสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน (โดยเฉพาะเม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์) และทองคำ มีการปรับลดลงจากปัจจัยราคาเป็นหลัก

อย่างไรก็ดีการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรกลับมาขยายตัวในรอบ 5 เดือน และสินค้าอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนต่อการส่งออกสูงยังคงขยายตัวได้ดี ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) และเครื่องปรับอากาศ แม้ว่าการส่งออกไปตลาดหลัก (ได้แก่ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น) ยังคงหดตัว แต่การส่งออกไปตลาดเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญในปี 2566 เติบโตดี โดยเฉพาะตลาดตะวันออกกลาง และอินเดีย อีกทั้งการส่งออกไปฮ่องกงที่เป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทย กลับมาขยายตัวในรอบ 10 เดือน ทั้งนี้ การส่งออกไทย 2 เดือนแรก หดตัวร้อยละ 4.6 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย หดตัวร้อยละ 1.4

สรุปมูลค่าการค้ารวม

มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนกุมภาพันธ์ 2566 การส่งออก มีมูลค่า 22,376.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 4.7 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 23,489.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 1.1 ดุลการค้า ขาดดุล 1,113.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ภาพรวม 2 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออก มีมูลค่า 42,625.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 4.6 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 48,388.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 3.3 ดุลการค้า 2 เดือนแรกของปี 2566 ขาดดุล 5,763.1 ล้านเหรียญสหรัฐ

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร

มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 3.6 (YoY) กลับมาขยายตัวในรอบ 5 เดือน โดยเป็นการขยายตัวทั้งหมวดสินค้าเกษตร ขยายตัวร้อยละ 1.5 และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 5.6 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย ขยายตัวร้อยละ 21.4 กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา มาเลเซีย และลาว) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัวร้อยละ 5.2 กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน ฟิลิปปินส์ อินเดีย เนเธอร์แลนด์ และลาว) ข้าว ขยายตัวร้อยละ 7.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดอิรัก อินโดนีเซีย เซเนกัล โมซัมบิก และแอฟริกาใต้) ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัวร้อยละ 95.0 ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน มาเลเซีย สหรัฐฯ ฮ่องกง และอินโดนีเซีย) ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 171.4 ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดอินเดีย เมียนมา เคนยา เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น) ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง ขยายตัวร้อยละ 61.6 ขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย เกาหลีใต้ และสิงคโปร์) 

สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ยางพารา หดตัวร้อยละ 34.0 หดตัวต่อเนื่อง 7 เดือน (หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และตุรกี แต่ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ อินเดีย ไต้หวัน โรมาเนีย และปากีสถาน) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป หดตัวร้อยละ 9.1 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดา และอียิปต์ แต่ขยายตัวในตลาดลิเบีย ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิสราเอล และเปรู) อาหารสัตว์เลี้ยง หดตัวร้อยละ 23.4 หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ มาเลเซีย อินเดีย เวียดนาม และอิตาลี แต่ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และเกาหลีใต้) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป หดตัวร้อยละ 23.9 หดตัวต่อเนื่อง 5 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย กัมพูชา และเนเธอร์แลนด์ แต่ขยายตัวในตลาดจีน ลาว สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมียนมา และซาอุดีอาระเบีย) ทั้งนี้ 2 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 0.6

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม

มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 6.2 (YoY) หดตัวต่อเนื่อง 5 เดือน แม้ว่าการส่งออกภาพรวมของหมวดจะหดตัว แต่ยังมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 3.6 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และเวียดนาม) อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 81.7 กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดฮ่องกง สิงคโปร์ กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และฝรั่งเศส) เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบฯ ขยายตัวร้อยละ 22.2 กลับมาขยายตัวในรอบ 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดฮ่องกง แอฟริกาใต้ อาร์เจนตินา จีน และฟิลิปปินส์) รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 15.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือน (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น จีน ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ และฟิลิปปินส์) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด ขยายตัวร้อยละ 60.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เวียดนาม อินเดีย แคนาดา และตุรกี) หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 39.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 16 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น อิตาลี และเยอรมนี) เครื่องใช้สำหรับเดินทาง ขยายตัวร้อยละ 53.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 24 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ จีน ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส)

สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัวร้อยละ 20.6 หดตัวต่อเนื่อง 7 เดือน (หดตัวในตลาดจีน อินเดีย มาเลเซีย กัมพูชา และเวียดนาม แต่ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น ลาว และโอมาน) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 22.9 หดตัวต่อเนื่อง 5 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์ แต่ขยายตัวในตลาดสิงคโปร์ มาเลเซีย ไอร์แลนด์ เกาหลีใต้ และเวียดนาม) เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ หดตัวร้อยละ 12.9 หดตัวต่อเนื่อง 6 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย แต่ขยายตัวในตลาดจีน เมียนมา ลาว เยอรมนี และสิงคโปร์) ทั้งนี้ 2 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 5.8

ตลาดส่งออกสำคัญ

การส่งออกไปยังตลาดสำคัญในภาพรวมส่วนใหญ่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับภาวะการชะลอตัวของอุปสงค์จากประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปหลายตลาด อาทิ จีน ญี่ปุ่น และ CLMV หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อน ตลาดตะวันออกกลางขยายตัวดีต่อเนื่อง รวมถึงฮ่องกงที่กลับมาขยายตัว

ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้ (1) ตลาดหลัก หดตัวร้อยละ 5.9 หดตัวในสหรัฐฯ ร้อยละ 9.5 จีน ร้อยละ 7.9 ญี่ปุ่น ร้อยละ 2.5 CLMV ร้อยละ 4.9 และอาเซียน (5) ร้อยละ 6.4 ขณะที่สหภาพยุโรป (27) ขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 0.1 (2) ตลาดรอง ขยายตัวร้อยละ 2.4 โดยขยายตัวในตลาดฮ่องกง ร้อยละ 28.6 ตะวันออกกลางร้อยละ 23.8 และทวีปแอฟริกา ร้อยละ 11.2 แต่หดตัวในตลาดเอเชียใต้ ร้อยละ 9.4 ทวีปออสเตรเลีย ร้อยละ 9.2 ลาตินอเมริกา ร้อยละ 4.7 รัสเซียและกลุ่ม CIS ร้อยละ 26.0 และสหราชอาณาจักร ร้อยละ 3.5 (3) ตลาดอื่น ๆ หดตัวร้อยละ 67.1 อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ หดตัวร้อยละ 80.7

 

แนวโน้มการส่งออกระยะถัดไป

สำหรับแนวโน้มการส่งออกระยะถัดไป กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่า ช่วงครึ่งปีแรกการส่งออกของไทยจะได้รับผลกระทบตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง ประเทศคู่ค้าหลักยังคงเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องจะชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดีคาดว่าช่วงหลังของปี การส่งออกจะปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากแรงกดดันเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงตามแนวโน้มราคาพลังงาน และปัญหาห่วงโซ่อุปทานโลกที่ทยอยคลี่คลาย นอกจากนี้ แรงหนุนจากการเปิดประเทศของจีน และการฟื้นตัวของภาคบริการและการท่องเที่ยวจะช่วยหนุนอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าในระยะต่อไป

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH