ดัชนีราคาผู้ผลิตไทย 2565 เดือนตุลาคม และภาพรวม 10 เดือน ม.ค. - ต.ค.

ดัชนีราคาผู้ผลิตไทย 2565 เดือน ต.ค. เพิ่มขึ้น 9.9% ภาพรวม 10 เดือนเพิ่ม 11.3%

อัปเดตล่าสุด 18 พ.ย. 2565
  • Share :
  • 924 Reads   

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยสรุปรายงานดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศไทย เดือนตุลาคม 2565 อยู่ที่ระดับ 115.2 เพิ่มขึ้น 9.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ลดลง 0.6% จากเดือนก่อนหน้า ภาพรวม 10 เดือนแรก (มกราคม - ตุลาคม) เพิ่มขึ้น 11.3%

ดัชนีราคาผู้ผลิต​ แบ่งตามกิจกรรมการผลิต (CPA : Classification of Products by Activity) เดือนตุลาคม 2565 (ปี 2558 = 100) เท่ากับ 115.2 เทียบกับเดือนตุลาคม 2564 สูงขึ้นร้อยละ 9.9 (YoY) เป็นผลมาจากการปรับสูงขึ้นของราคาสินค้าผู้ผลิตทั้ง 3 หมวดหลัก ประกอบด้วย

Advertisement

  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 6.8 ตามต้นทุนการผลิตที่ทยอยปรับเพิ่มขึ้นในช่วงสองปีนี้ แต่เป็นการเพิ่มขึ้นในทิศทางชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สี่ โดยกลุ่มสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่น ๆ
  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 96.8 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และแร่โลหะ 
  • หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 8.3 เป็นผลจากสินค้าสำคัญ ได้แก่ ข้าวเปลือก หัวมันสำปะหลังสด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พืชผัก สุกรมีชีวิต ไก่มีชีวิต ไข่ไก่ ไข่เป็ด และผลิตภัณฑ์จากการประมง

ขณะที่ ดัชนีราคาผู้ผลิต แบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) พบว่าดัชนีหมวดสินค้าสำเร็จรูป หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) และหมวดสินค้าวัตถุดิบ สูงขึ้นร้อยละ 4.0, 11.6 และ 42.1 ตามลำดับ โดยมีสินค้าสำคัญในห่วงโซ่อุปทานที่ราคาปรับสูงขึ้นตามวัตถุดิบ ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวสารเจ้า/ข้าวนึ่ง/ปลายข้าว แป้งข้าวเจ้า และหัวมันสำปะหลังสด มันเส้น/มันอัดเม็ด/แป้งมันสำปะหลัง เนื่องจากมีความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ อ้อย น้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายขาว เนื่องจากราคาเคลื่อนไหวตามภาวะตลาดโลก

ดัชนีราคาผู้ผลิต 2565 เดือนตุลาคม เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 9.9 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้

  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 6.8 จากการสูงขึ้นของสินค้าสำคัญ ประกอบด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันเครื่องบิน และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91, 95 ซึ่งเป็นไปตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ เนื้อสุกร ไก่สด มันเส้น ข้าวนึ่ง ปลาทูน่ากระป๋อง น้ำสับปะรด และน้ำมันถั่วเหลืองบริสุทธิ์ เนื่องจากต้นทุนการผลิตปรับสูงขึ้น ประกอบกับปริมาณวัตถุดิบมีน้อย ขณะที่ความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศอยู่ในระดับสูง รวมทั้งค่าเงินบาทที่อ่อนค่าต่อเนื่อง ส่งผลให้สินค้าส่งออกมีราคาสูงขึ้น และน้ำตาลทราย ราคาเคลื่อนไหวตามภาวะราคาตลาดโลก กลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล (ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์) และ Integrated Circuit (IC) ราคาปรับสูงขึ้นตามค่าเงินบาทที่อ่อนค่า กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ โซดาไฟ ปุ๋ยเคมีผสม กรดกำมะถัน และเม็ดพลาสติก เนื่องจากราคาวัตถุดิบและราคาอ้างอิงตลาดต่างประเทศปรับสูงขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้แก่ ทองคำ เนื่องจากราคาปรับสูงขึ้นตามตลาดโลก นอกจากนี้ ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นทั้งราคาวัตถุดิบ บรรจุภัณฑ์ และพลังงาน (น้ำมัน ไฟฟ้า ก๊าซ) ส่งผลให้สินค้าอุตสาหกรรมหลายกลุ่มปรับราคาสูงขึ้น ประกอบด้วย กลุ่มเครื่องจักรและเครื่องมือ ได้แก่ เครื่องสูบน้ำ และเครื่องเก็บเกี่ยว กลุ่มยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ ได้แก่ รถยนต์นั่ง รถบรรทุก และชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับรถยนต์ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแร่อโลหะ ได้แก่ กระเบื้องปูพื้น-บุผนัง โถส้วม เสาเข็มคอนกรีต ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และคอนกรีตผสมเสร็จ กลุ่มสิ่งทอ ได้แก่ ผ้าดิบ ผ้าฝ้าย และสิ่งทอจากใยสังเคราะห์ (เส้นใย/ผ้า/ด้าย) และกลุ่มกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ได้แก่ เยื่อกระดาษ กล่องกระดาษ กระดาษคร๊าฟท์ และกระดาษพิมพ์เขียน

  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 96.8 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และแร่โลหะ (แร่สังกะสี เหล็ก วุลแฟรม) ตามทิศทางราคาตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้น
  • หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 8.3 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ประกอบด้วย กลุ่มพืชล้มลุก ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกเหนียว เนื่องจากตลาดทั้งในและต่างประเทศยังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง หัวมันสำปะหลังสด เนื่องจากตลาดยังมีความต้องการเพื่อใช้สำหรับเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมเอทานอล โดยเฉพาะประเทศจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ต้องการนำเข้าเพื่อทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีราคาสูงขึ้น ส่งผลให้ราคามันสำปะหลังปรับตัวสูงขึ้น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง พืชผัก (ต้นหอม พริกแห้ง พริกสด หน่อไม้ฝรั่ง กระเทียม ถั่วฝักยาว ผักกวางตุ้ง ผักบุ้ง แตงกวา มะเขือ ข้าวโพดฝักอ่อน กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ผักกาดหอม) เนื่องจากปริมาณผลผลิตลดลงจากภาวะฝนตกหนัก ส่งผลให้ผักบางชนิดเน่าเสียง่าย ประกอบกับพื้นที่เพาะปลูกได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม และผลไม้ (สับปะรดโรงงาน ส้มเขียวหวาน ลองกอง ลำไย มะละกอสุก กล้วยน้ำว้า ชมพู่ ฝรั่ง กล้วยหอม) เนื่องจากความต้องการบริโภคมีอย่างต่อเนื่อง กลุ่มสัตว์ ได้แก่ สุกรมีชีวิต ไก่มีชีวิต ไข่ไก่ และไข่เป็ด เนื่องจากต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ กุ้งทะเล หอยนางรม หอยแมลงภู่ ปลาหมึกกล้วย และปูม้า เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงจากสภาพอากาศที่แปรปรวนมีมรสุมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้มีการออกเรือจับสัตว์น้ำน้อยลง ปลาช่อน ปลาดุก และปลานิล เนื่องจากความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น สำหรับสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง กลุ่มไม้ยืนต้น ได้แก่ ผลปาล์มสด เนื่องจากปริมาณผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศทั้งเพื่อการบริโภคและอุตสาหกรรมพลังงานเริ่มปรับตัวลดลง ยางพารา เนื่องจากความต้องการใช้ยางในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องลดลงจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

ดัชนีราคาผู้ผลิต 2565 เดือนตุลาคม เทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) ลดลงร้อยละ 1.2 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้

  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.6 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 (E 85) และน้ำมันก๊าด ซึ่งเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันกับราคาตลาดโลก เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันเริ่มปรับสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาก๊าซในยุโรปที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มใช้น้ำมันแทนก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น ประกอบกับใกล้เข้าสู่ช่วงฤดูหนาว อย่างไรก็ตาม ทิศทางของราคาในเดือนนี้ค่อนข้างผันผวน จากความกังวลของตลาดเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มถดถอย เป็นแรงกดดันให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลกลดลง กลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล (ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์) และ Integrated Circuit (IC) ราคาปรับตามค่าเงินบาทที่อ่อนค่า กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้แก่ ทองคำ ซึ่งเคลื่อนไหวตามตลาดโลก จากตลาดคลายความกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) เพื่อสกัดเงินเฟ้อ กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก เนื่องจากราคาวัตถุดิบสูงขึ้น และค่าเงินบาทอ่อนค่า ประกอบกับบางโรงงานอยู่ในช่วงซ่อมบำรุง
    เครื่องจักรประจำปี ส่งผลให้อุปทานในประเทศตึงตัว สบู่ แชมพู และยาสีฟัน เนื่องจากวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์มีราคาสูงขึ้น และก๊าซที่ใช้ในอุตสาหกรรม เนื่องจากต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ใช้ในการผลิตปรับสูงขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแท่ง และยางแผ่นรมควัน เนื่องจากฝนตกหนักในแหล่งผลิตหลายพื้นที่ ส่งผลให้ปริมาณวัตถุดิบมีน้อย กลุ่มยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ ได้แก่ รถบรรทุกขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เนื่องจากผู้ผลิตบางรายปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่บางชิ้นส่วน กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแร่อโลหะ ได้แก่ ปูนเม็ด เนื่องจากค่าเงินบาทอ่อนค่า และเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารที่ทำจากเซรามิก จากราคาวัตถุดิบสูงขึ้น และกลุ่มสิ่งทอ ได้แก่ ผ้าฝ้าย ผ้าดิบ และสิ่งทอจากใยสังเคราะห์ (เส้นใย/ผ้า/ด้าย) จากราคาวัตถุดิบทั้งในประเทศและนำเข้าปรับสูงขึ้น

  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 12.7 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ คือ ก๊าซธรรมชาติ ตามทิศทางราคาตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้น เป็นผลจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้เกิดความไม่แน่นอนของระดับอุปทานก๊าซธรรมชาติ
  • หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 0.5 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ประกอบด้วย กลุ่มพืชล้มลุก ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกเหนียว เนื่องจากเป็นช่วงที่ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ขณะที่ความต้องการยังมีอย่างต่อเนื่อง พืชผัก (มะนาว ต้นหอม ถั่วฝักยาว ผักกวางตุ้ง มะเขือ แตงกวา ผักบุ้ง หน่อไม้ฝรั่ง ผักคะน้า ฟักทอง กะหล่ำปลี แตงร้าน) เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง จากภาวะฝนตกอย่างต่อเนื่องและมีน้ำท่วมขังในพื้นที่เพาะปลูก ส่งผลให้ผักบางชนิดเน่าเสียง่าย ผลไม้ (กล้วยน้ำว้า ลำไย กล้วยไข่ มะละกอสุก ชมพู่ ลองกอง) เนื่องจากความต้องการของตลาดมีอย่างต่อเนื่อง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากภาวะฝนตกอย่างต่อเนื่องในพื้นที่เพาะปลูก ส่งผลให้เกษตรกรชะลอการเก็บเกี่ยวผลผลิต สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง
    กลุ่มไม้ยืนต้น ได้แก่ ผลปาล์มสด เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ความต้องการใช้ภายในประเทศทั้งการอุปโภคและบริโภคชะลอตัว ยางพารา (เศษยาง) เนื่องจากปริมาณเศษยางเพิ่มขึ้น เป็นผลจากภาวะฝนตกชุก ขณะที่น้ำยางสดและยางแผ่นดิบมีปริมาณน้อยลง หัวมันสำปะหลังสด เนื่องจากเกิดสถานการณ์น้ำท่วมหลายพื้นที่เพาะปลูก เกษตรกรส่วนใหญ่จึงเร่งเก็บเกี่ยว ส่งผลให้คุณภาพมันสำปะหลังลดลง และสับปะรด เนื่องจากปริมาณผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดมากขึ้น กลุ่มสัตว์ ได้แก่ สุกร/ไก่มีชีวิต และผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ กุ้งแวนนาไม ปลากะพง ปลานิล ปลาตะเพียน ปลาดุก และปลาช่อน เนื่องจากฝนตกชุกในหลายพื้นที่ ส่งผลให้การซื้อขายในตลาดชะลอตัว

ดัชนีราคาผู้ผลิต 2565 เฉลี่ย 10 เดือน (ม.ค.- ต.ค.) เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 11.3 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้

  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม​ สูงขึ้นร้อยละ 9.6 
  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 68.3 
  • หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 7.8

แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต 2565 เดือนพฤศจิกายน

ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนพฤศจิกายน 2565 มีแนวโน้มสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง ตามราคาสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่มีแนวโน้มชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลก รวมถึงสินค้าเกษตรสำคัญบางรายการ อาทิ ปาล์มน้ำมัน ราคามีแนวโน้มลดลงตามราคาในตลาดโลก เนื่องจากปริมาณผลผลิตมีจำนวนมาก ประกอบกับฐานดัชนีราคาในเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ค่อนข้างสูง มีส่วนทำให้ดัชนีราคาผู้ผลิต ในเดือนพฤศจิกายน 2565 ชะลอตัว สำหรับปัจจัยที่ทำให้ดัชนีราคาผู้ผลิตยังคงขยายตัว ได้แก่ 1) ต้นทุนการผลิต (อาทิ ราคาพลังงาน ปุ๋ย อาหารสัตว์ และวัตถุดิบ) รวมทั้งค่าขนส่งและโลจิสติกส์ ที่ยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับปีก่อน รวมทั้งค่าแรงขั้นต่ำและอัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้น 2) ต้นทุนการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นจากเงินบาทที่อ่อนค่า และ 3) อุปสงค์ภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก การดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดในหลายประเทศ การดำเนินนโยบาย Zero COVID ของจีน ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ และการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มประเทศโอเปก อาจส่งผลต่ออุปสงค์และอุปทานของสินค้าและบริการ ซึ่งจะกระทบต่อภาคการผลิตและดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศไทยตามลำดับ ทั้งนี้ จะต้องมีการติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

 

#ดัชนีราคาผู้ผลิต 2565 #ดัชนีราคาผู้ผลิต ppi #ดัชนีราคาผู้ผลิต ย้อนหลัง #แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต #ดัชนีราคา #ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม #กองดัชนีเศรษฐกิจการค้า #สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า #กระทรวงพาณิชย์

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH