เทคโนโลยีชีวภาพ สร้างสารเคลือบสี สมานรอยขีดข่วนบนพื้นผิวรถยนต์

อัปเดตล่าสุด 10 ก.ค. 2562
  • Share :
  • 622 Reads   

สำหรับผู้ใช้ยานยนต์ รอยขีดข่วนบนตัวรถนั้น แม้จะไม่ส่งผลต่อการขับขี่ก็จริง แต่ก็คงไม่ใช่สิ่งที่น่าพึ่งประสงค์นัก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้รถหรู ซึ่งรอยขีดข่วนแม้เพียงเล็กน้อย ก็อาจทำให้รถคันนั้นดูเสียราคาลงไปได้

คณะวิจัยจาก Leibniz-Institut für Neue Materialien (INM) และ Saarland University ประเทศเยอรมนี พัฒนาสารเคลือบสีจากแป้งข้าวโพด ด้วยโครงสร้างโมเลกุลแบบวงแหวนที่มีการจัดเรียงกับเป็นพิเศษ ได้เป็นสารเคลือบผิวที่มีความยืดหยุ่น และมีคุณสมบัติในการซ่อมแซมตัวเอง ด้วยการประสานสารเคลือบเข้าหากันได้เมื่อนำไปผ่านความร้อน

โดยคณะวิจัย ใช้สารสกัดจากแป้งข้าวโพดที่มีชื่อว่า Cyclodextrin ซึ่งมีโครงสร้างแบบวงแหวน นำมาประสานเข้ากับโมเลกุลของโพลีเมอร์ด้วยปฏิกิริยาทางเคมี ซึ่งเมื่อถูกความร้อน โมเลกุลแบบวงแหวนนี้จะเคลื่อนตัวไปตามแนวรอยขีดข่วน เพื่อสมานให้รอยขีดข่วนนั้นหายไป

ในช่วงต้นของการพัฒนา สารเคลือบชนิดนี้ ใช้เวลาหลายชั่วโมงจึงจะสามารถประสานรอยขีดข่วนเข้าหากันได้ และยังไม่ทนทานนัก อย่างไรก็ตาม คณะวิจัยได้ทำการปรับสูตร ด้วยการเติมสารอื่น ๆ เช่น Heteropolysiloxanes และ Inorganic Nanoparticles เข้าไป จนได้สารเคลือบที่มีความทนทานต่อแรงกระทำ และสภาพอากาศ รวมถึงสามารถลบรอยขีดข่วนได้ในเวลาไม่กี่นาที ซึ่งในการทดสอบ คณะวิจัย ได้ใช้สารเคลือบทาลงบนชิ้นส่วนที่ยังไม่ทำสี และนำไปผ่านความร้อนที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส ซึ่งได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ และอยู่ระหว่างการพัฒนาต่อเพื่อให้ได้มาตรฐาน ISO และพัฒนากระบวนการผลิตให้สามารถผลิตในโรงงานจริงได้ต่อไป