Machine Tools ยุคดิจิทัล “แบรนด์หลัก” ตีโจทย์อย่างไร?

Machine Tools ยุคดิจิทัล “แบรนด์หลัก” ตีโจทย์อย่างไร?

อัปเดตล่าสุด 25 พ.ค. 2564
  • Share :
  • 7,334 Reads   

ในยุคดิจิทัลเช่นนี้ ผู้ผลิตเครื่องจักรกลเร่งปรับตัวให้ทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ร่วมกับเครื่องจักรกลก็ยังเป็นสิ่งที่น่าจับตามองอย่างยิ่งว่า แต่ละแบรนด์จะตีโจทย์วางกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์อย่างไรที่จะได้สอดรับต่อตลาดเป้าหมาย

Advertisement

OKUMA ขายเครื่องจักรออนไลน์ - สนับสนุนผู้ใช้เครื่องผ่าน Remote Controlling

Mr. Atsushi Ieki ประธานบริษัท Okuma ให้สัมภาษณ์ว่า เป้าหมายของบริษัท คือการสร้างบริการสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตยุคดิจิทัล ซึ่งไม่เพียงแต่การขายเครื่องจักรผ่านช่องทางออนไลน์ แต่ยังรวมไปถึงการสนับสนุนผู้ใช้ผ่านเทคโนโลยี Remote Controlling

โดยทางบริษัทฯ แสดงความเห็นว่า เทคโนโลยีดิจิทัลคือสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เครื่องจักรมีความฉลาดมากขึ้น นำไปสู่กระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเมื่อปี 2019 ทางบริษัทฯ ได้ทดลองเปิดสายการผลิตชิ้นส่วนสำหรับเครื่องแมชชีนนิ่งเซ็นเตอร์ที่โรงงานในจังหวัดกิฟุ และประสบความสำเร็จในการผลิตต่อเนื่อง 72 ชั่วโมงโดยไม่ต้องใช้มนุษย์ โดยสายการผลิตแห่งนี้มีคุณสมบัติในการตรวจวัดความคลาดเคลื่อนจากความร้อน และแรงสั่นสะเทือน เพื่อตั้งค่าให้เครื่องจักรสามารถทำงานต่อได้โดยไม่มีข้อผิดพลาด และได้ตั้งชื่อเทคโนโลยีนี้ว่า “3D Calibration” ซึ่งปัจจุบันได้ผ่านการทดลองใช้งานมากกว่า 1 ปีแล้ว

 

DMG MORI ลุย Digital Twin ร่นเวลาการผลิต - เปิดบริการออนไลน์ สั่งอะไหล่ เรียกช่าง

Mr. Masahiko Mori ประธานบริษัท DMG MORI เล่าว่า ในกระบวนการกัดชิ้นงาน แรงตัดและแรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นส่งผลต่อชิ้นงานเป็นอย่างมาก ขั้นตอนการทดลองผลิตชิ้นงานจึงใช้เวลา ทั้งการออกแบบ การตั้งค่า และการเลือกทูลส์ที่ใช้จนกว่าจะได้ชิ้นงานที่เหมาะสม จึงได้นำ Digital Twin เข้ามาช่วยในขั้นตอนนี้ เพื่อลดเวลาที่จำเป็นในการทดลองการผลิต พร้อมตั้งทีม Digital Twin Machining Technology Group เพื่อศึกษาการนำ Digital Twin มาใช้ใน Machine Tools, เครื่อง 5 แกน, และ Multi-Tasking Machine ซึ่ง Mr. Masahiko Mori กล่าวว่าเป็นครั้งแรกของโลกที่เทคโนโลยีนี้ถูกนำมาจำลองกระทั่งการสึกหรอของเครื่องจักร นอกจากนี้ ยังได้เริ่มให้บริการสั่งซื้ออะไหล่เครื่องจักร และบริการเรียกช่างผ่านเว็บไซต์สำหรับลูกค้าตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมาอีกด้วย

 

JTEKT จ่อเปิดตัว “แอปพลิเคชันสนับสนุนลูกค้าจากทางไกล”

JTEKT เปิดเผยว่า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลและสารสนเทศน์ (ICT) ทำให้คอมพิวเตอร์มีความคืบหน้าขึ้นเป็นอย่างมาก ทางบริษัทฯ จึงพัฒนาระบบทดสอบทูลส์ขึ้นมา สามารถลดกระบวนการทดสอบทูลส์สั่งทำพิเศษซึ่งทั่วไปใช้เวลาประมาณ 2 เดือนให้เหลือเพียงไม่กี่นาทีได้สำเร็จ และอยู่ระหว่างพัฒนาแอปพลิเคชันบนมือถือสำหรับสนับสนุนลูกค้าอีกด้วย

Machine Tools ยุคดิจิทัล “แบรนด์หลัก” ตีโจทย์อย่างไร?
แอปพลิเคชันมือถือสำหรับสนับสนุนทางไกลของ JTEKT

MAKINO เตรียมส่งเครื่องจักรกลคอนเซ็ปต์ “e-Machine” ลงสนาม

Mr. Shinichi Inoue ประธานบริษัท Makino แสดงความเห็นว่า สิ่งที่สำคัญไม่แพ้การติดตั้งเทคโนโลยี คือความคิดว่า “จะใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างไร จึงจะทำให้สินค้ามีมูลค่ามากกว่าเดิม” และกล่าวว่าการสร้างมูลค่าให้เครื่องจักรนี้เอง จะเป็นตัวตัดสินแพ้ชนะระหว่างผู้ผลิตเครื่องจักรกลในอนาคต ซึ่งทางบริษัทฯ ได้เลือกพัฒนาเครื่องจักรกลภายใต้คอนเซ็ปต์ “e-Machine” ที่สามารถอัปเดตให้สอดคล้องกับความต้องการด้านการผลิตของลูกค้าได้

Machine Tools ยุคดิจิทัล “แบรนด์หลัก” ตีโจทย์อย่างไร?
เครื่อง 5 แกน “a800Z” บริษัท Makino

MAZAK ติดตั้ง AI ในเครื่องจักรซีเอ็นซี ให้บริการผ่านระบบ iCONNECT ฟรี 3 ปี

Yamazaki Mazak รายงานว่า ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2020 ทางบริษัทฯ ได้เริ่มทดลองให้บริการสนับสนุนผู้ใช้งานทางไกลผ่าน “Mazak iCONNECT” โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ติดตั้งในเครื่องจักร โดยเบื้องต้น ทางบริษัทวางแผนให้บริการฟรีเป้นเวลา 3 ปี และได้ประกาศให้ฟังก์ชันบางส่วนใช้งานได้ฟรีสำหรับลูกค้าที่ซื้อเครื่อง CNC ทุกรายเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

 

Mitsubishi Heavy Industries เปิดบริการ AI Chatbot 

Mr. Kenichi Wakabayashi ประธานบริษัท Mitsubishi Heavy Industries Machine Tool รายงานว่า ทางบริษัทฯ ได้เปิดบริการแชทบอทสำหรับตอบคำถามอัตโนมัติตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยได้พัฒนา AI สำหรับตอบคำถามของผู้ใช้เครื่องจักรขึ้นมาโดยเฉพาะ และมีแผนขยับขยายจากแชทบอทเป็นเว็บไซต์เฉพาะทางในอนาคต และเปิดเผยว่าปัจจุบันทางบริษัทอยู่ระหว่างการทดลองให้บริการบำรุงรักษาเครื่องจักรทางไกลอยู่ในขณะนี้

 

ยุคดิจิทัลยกระดับ “ออนไลน์” สำคัญเท่าเทียม “ออฟไลน์” 

สมาคมเครื่องจักรกลญี่ปุ่น (JMTBA) เสนอว่า นอกจากงานจัดแสดงสินค้าออนไลน์แล้ว ช่องทางออนไลน์ยังสามารถนำมาใช้งานในรูปแบบอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดสัมมนา การจัดโปรโมชันพิเศษสำหรับลูกค้า การจัดเวิร์คช็อป ไปจนถึงการสร้างคลังข้อมูลให้เข้าถึงได้จากลูกค้าทุกโรงงาน และอยู่ระหว่างพิจารณาเปลี่ยนงานจัดแสดงสินค้าออนไลน์ให้กลายเป็นแพลตฟอร์มสำหรับซื้อขายเครื่องจักรที่เข้าชมได้ทุกเมื่อ

นอกจากนี้ Mr. Tsutomu Isobe ประธานบริษัท Amada เสริมว่า ปัจจุบัน ผู้ผลิตและผู้ใช้เครื่องจักรหลายรายให้ความสำคัญกับแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น และมีผู้ผลิตหลายรายที่เร่งพัฒนาเว็บไซต์ของตัวเองให้รองรับกับความต้องการที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต และแสดงความเห็นว่าหลังจากนี้ไป การบริการทั้งแบบปกติ และแบบดิจิทัลจะมีความสำคัญเท่าเทียมกัน

 

อ่านต่อ