พลาสติก ไบโอพลาสติก พืช

พลาสติกจากพืช คุณสมบัติใกล้เคียง PET

อัปเดตล่าสุด 11 พ.ย. 2565
  • Share :
  • 2,141 Reads   

คณะวิจัยสวิตเซอร์แลนด์พัฒนาพลาสติกจากส่วนที่ทานไม่ได้ของพืช ได้พลาสติกความทนทานสูง ทนความร้อนได้ดีคล้าย PET และย่อยสลายเป็นน้ำตาลได้

การลดขยะพลาสติก เป็นหนึ่งในแนวทางการแก้ปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ นำมาซึ่งการพัฒนาพลาสติกจากที่ย่อยสลายหรือรีไซเคิลได้ ซึ่งพลาสติกจากพืช ถือเป็นตัวเลือกหนึ่ง แต่การพัฒนาพลาสติกจากพืชหรือชีวมวลไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากพลาสติกในปัจจุบันมีต้นทุนการผลิตต่ำ ทนความร้อนได้ดี แปรรูปง่าย และอื่น ๆ ทำให้พลาสติกที่จะมาทดแทนได้ ต้องมีคุณสมบัติเทียบเท่าหรือเหนือกว่า 

Advertisement

ซึ่งหนึ่งในทางที่มีการวิจัย คือ พลาสติกที่ผลิตจากส่วนที่ทานไม่ได้ของพืช หรือ “Lignocellulosic Biomass” ชีวมวลอินทรีย์ที่ประกอบด้วย เซลลูโลส เฮมิเซลลูโลส และลิกนิน

และเมื่อกลางปี 2022 ที่ผ่านมา สถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิส โลซาน (EPFL) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เผยแพร่งานวิจัยพลาสติกที่ผลิตจากส่วนที่ทานไม่ได้ของพืช โดยได้พลาสติกที่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับพลาสติก PET (Polyethylene Terephthalate) มีความทนทานสูง ทนความร้อนได้ดี กักเก็บก๊าซอย่างออกซิเจนได้ดี อีกทั้งมีโครงสร้างที่สามารถนำมารีไซเคิลด้วยสารเคมี และย่อยสลายเป็นน้ำตาลได้

ศาสตราจารย์ Jeremy Luterbacher จาก EPFL อธิบายว่า พลาสติกชนิดนี้ผลิตจากไม้หรือส่วนที่ทานไม่ได้ของพืช เช่น วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร นำมา “ปรุง” ในสารเคมีราคาถูก จนได้เป็นน้ำตาลที่มีโครงสร้างเหมือนสารตั้งต้นของพลาสติก

โดยเมื่อปี 2016 คณะวิจัยได้ตีพิมพ์เทคนิคการใช้ด้วยการใช้แอลดีไฮด์ (Aldehyde) รักษาโครงสร้างส่วนหนึ่งของพืชไม่ให้ถูกทำลายระหว่างการสกัดเป็นพลาสติก แต่ในงานวิจัยล่าสุด ได้เปลี่ยนแอลดีไฮด์ที่ใช้ จาก Formaldehyde เป็น Glyoxylic Acid แทน

Lorenz Manker ผู้ประพันธ์อันดับแรก (First author) กล่าวว่า เทคนิคนี้สามารถเปลี่ยนวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในสัดส่วน 25% ของน้ำหนักทั้งหมด และน้ำตาลบริสุทธิ์ในสัดส่วน 95% ของน้ำหนักทั้งหมดเป็นสารตั้งต้นพลาสติกได้  

ซึ่งคุณสมบัติของพลาสติกที่ได้ ทำให้คณะวิจัยคาดว่าพลาสติกชนิดนี้สามารถนำไปใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์ สิ่งทอ ยา และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ได้ ซึ่งปัจจุบันคณะวิจัยได้ทดลองนำไปผลิตฟิล์มถนอมอาหาร เส้นใยสำหรับเสื้อผ้าและสิ่งทอ และวัสดุ Filament สำหรับ 3D Printer แล้ว

 

#พลาสติก #ไบโอพลาสติก #นวัตกรรม #Mreport #onlinecontent #ข่าวอุตสาหกรรม

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH