โควิด ปั้น 2 เทคโนโลยีคลื่นลูกใหม่ ใช้ร่วมหุ่นยนต์โรงงาน

อัปเดตล่าสุด 11 พ.ค. 2563
  • Share :
  • 1,742 Reads   

อีกหนึ่งผลกระทบจากโควิด-19 ที่กำลังจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับอนาคตของหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในประเทศญี่ปุ่น ก็คือการชะงักงันของสายการผลิตที่ปัจจุบันยังให้ความสำคัญกับการทำงานของมนุษย์อยู่มาก ในทุกครั้งที่เกิดวิกฤตซึ่งพนักงานอาจไม่สามารถปฏิบัติงานได้ รวมถึงการหาพนักงานทดแทนหรือการอบรมพนักงานใหม่ เพื่อรองรับการฟื้นตัวสู่สภาวะปกติกลับกลายเป็นเรื่องยาก  ทำให้การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้สายการผลิตดำเนินต่อไปได้ ทั้งการควบคุมหุ่นยนต์ให้ทำงานจากระยะไกล และ การทำแบบจำลอง หรือ ซิมูเลชัน ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างมากจนถูกคาดการณ์ว่า เทคโนโลยีควบคุมระยะไกล (Remote Controlling Technology) และ เทคโนโลยีดิจิทัลทวิน (Digital Twin Technology) จะเป็นคลื่นลูกใหม่ที่จะใช้ร่วมกับหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในสายการผลิตแห่งอนาคต 

หากมีหุ่นยนต์ที่เป็นพื้นฐาน การพัฒนาหุ่นยนต์ และการอบรมพนักงานก็จะเป็นเรื่องง่าย

Kobe University ศาสตราจารย์ Yasuyoshi Yokokoji แสดงความเห็นว่า “โรคระบาดในครั้งนี้ ทำให้เรารับรู้ถึงข้อจำกัดของเทคโนโลยีแบบจำลอง (Simulation Technology)” เนื่องจากการทดสอบชิ้นงานผ่านคอมพิวเตอร์ ยังมีความคลาดเคลื่อนกับการทำงานในสายการผลิตจริง โดยเฉพาะการที่เครื่องจักรในสายการผลิตได้เสื่อมสภาพตามอายุการใช้งาน ในขณะที่ข้อมูลของเครื่องจักรในระบบยังไม่เป็นข้อมูลที่แท้จริง ทำให้ต้องปรับแต่งการทำงานในหลายส่วนจึงจะสามารถได้ผลลัพธ์ตามที่ทดลองในซิมูเลชันได้  อย่างไรก็ตาม แนวโน้มที่มาตรการ Social Distancing จะถูกยืดระยะเวลาออกไปนั้นมีความเป็นไปได้มาก  “เทคโนโลยี Digital Twin” ซึ่งมีความแม่นยำในการทำงานที่เหนือกว่าซิมูเลชัน จึงได้รับความสนใจจากนักศึกษาและนักวิจัยเป็นอย่างยิ่ง และอีกเทคโนโลยีที่ถูกพูดถึงในแวดวงนักวิชาการไม่แพ้กัน คือ “Cyber Physical System” ซึ่งทั้งสอง ล้วนเป็นเทคโนโลยีที่สามารถนำมาใช้บริหารจัดการปัญญาประดิษฐ์ (AI) เซนเซอร์ และอื่น ๆ อีกทั้งเป็นหัวข้อวิจัยที่ถูกเลือกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในขณะนี้ 

แม้เทคโนโลยีเหล่านี้ จะยังไม่สามารถทดแทนการทำงานในสายการผลิตได้ 100% แต่ก็จะช่วยให้การทำงานทางไกลในโรงงานผลิตมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน

RoboCup Federation เป็นอีกองค์กรที่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ โดยให้ความสำคัญกับการทำงานทางไกล และมีแผนนำเสนอการพัฒนาซอฟต์แวร์การควบคุมระยะไกล (Remote Controlling Software) ให้เป็นหนึ่งในโจทย์การแข่งขัน  โดยให้ผู้เข้าแข่งขันใช้ซอฟต์แวร์พื้นฐานที่เตรียมไว้ให้ไปพัฒนาต่อยอด และใช้วิธีแข่งขันด้วยการควบคุมหุ่นยนต์จากทางไกลโดยไม่ต้องมาร่วมแข่งในเวทีจริง ซึ่งศาสตราจารย์ Hiroyuki Okada จาก Tamagawa University ผู้ดำรงตำแหน่งประธานสมาคม แสดงความเห็นว่า แนวคิดนี้จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันจากทั่วโลก เช่น ผู้เข้าแข่งสามารถควบคุมหุ่นยนต์อยู่ที่ฝรั่งเศสได้โดยไม่ต้องเดินทางมาญี่ปุ่น

RoboCup Japan (สิงหาคม 2019)

ในอนาคต การพัฒนาหุ่นยนต์ นอกจากตัวหุ่นยนต์ และซอฟต์แวร์แล้ว อีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือเทคโนโลยีเซนเซอร์ เพื่อให้หุ่นยนต์สามารถทำงานได้อย่างแม่นยำ และช่วยให้การควบคุมระยะไกลทำได้ง่ายยิ่งขึ้น การติดเซนเซอร์บนตัวหุ่น กล้องวงจรปิดในโรงงาน หรือกระทั่งการเชื่อมต่อหุ่นยนต์เข้ากับเครื่องจักรผ่าน IoT ก็มีความเป็นไปได้ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าหุ่นยนต์ และเทคโนโลยีควบคุมทางไกลจะพัฒนาไปแค่ไหน มนุษย์ก็ยังมีความจำเป็นต่อสายการผลิตอยู่ เช่น ในกรณีที่หุ่นยนต์ทำงานผิดพลาด

ในอีกด้านหนึ่ง ภาคอุตสาหกรรมบางส่วนแสดงความเห็นว่า การตัดสินใจผลักดันเทคโนโลยีควบคุมระยะไกลเป็นการด่วนตัดสินใจเกินไป หรือยึดติดกับแนวคิดเดิม ๆ เกินไปหรือไม่ เนื่องจากสถานศึกษาส่วนใหญ่ มีประสบการณ์ทำงานกับเครื่องจักรและหุ่นยนต์น้อยกว่าคนทำงานในสายการผลิตโดยตรง หรือหากมีซอฟต์แวร์ควบคุมระยะไกลที่ดี แต่ความต้องการในแต่ละอุตสาหกรรม และงานแต่ละแบบ ก็มีความหลากหลายเกินไป

Toyota เป็นอีกบริษัทหนึ่ง ที่เล็งเห็นว่าเทคโนโลยีควบคุมระยะไกล (Remote Controlling Technology) และเทคโนโลยีแบบจำลอง (Simulation Technolgoy) จะกลายเป็นมาตรฐานของหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในอนาคต และได้พัฒนาหุ่นยนต์ “HRS” สำหรับสนับสนุนการใช้ชีวิตประจำวัน โดยออกแบบให้มีเทคโนโลยีที่เป็นมาตรฐาน เพื่อให้สามารถปรับแต่งการใช้งานได้ง่าย 

หุ่นยนต์ “HRS” จาก Toyota

การพัฒนาหุ่นยนต์สนับสนุน หรือหุ่นยนต์บริการ เป็นโอกาสดีที่จะได้ทดลองฟังก์ชันการสื่อสารระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์ เช่น การสั่งการผ่านสมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่หาซื้อได้ง่าย หากสามารถนำไปต่อยอดในการพัฒนาหุ่นยนต์อุตสาหกรรมได้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานทางไกลเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งยังช่วยลดภาระในการพัฒนาฮาร์ดแวร์ในอนาคตได้อีกด้วย 

FA & Robot System Integrator Association ประเทศญี่ปุ่น Mr. Kazuo Kubota ประธานสมาคม  แสดงความเห็นว่า ความต้องการหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ ขึ้นอยู๋กับการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 สมาชิกสมาคมส่วนใหญ่ล้วนได้รับผลกระทบ จึงอยากให้นักวิจัยและผู้ใช้หุ่นยนต์ ควรหารือกันว่า ทางออกใดจะดีที่สุดสำหรับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในอนาคต เพราะหากทุกคนพึ่งพาการทำงานระยะไกล ก็จะส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานเป็นอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม หากมองจากมุมของ Sanmei Group ซึ่งเป็นบริษัท System Integrator ที่ Mr. Kazuo Kubota เป็นประธานบริษัทด้วยแล้ว การควบคุมระยะไกลเป็นประโยชน์ต่อพนักงานจริง โดยปัจจุบัน ทางบริษัทพิจารณานำเทคโนโลยี Virtual Reality และ Head Mount Display มาใช้ในการควบคุมหุ่นยนต์ ทำให้ผู้ควบคุมรู้สึกเหมือนตนเองอยู่ในสายการผลิตจริงได้ด้วยการส่งข้อมูลภาพ 3D จากโรงงานมาสู่ระบบควบคุม

Office FA.com บริษัท System Integrator อีกรายที่แสดงความเห็นตรงกันว่า เทคโนโลยีควบคุมระยะไกล และซิมูเลชันที่ดียิ่งขึ้น มีความจำเป็นต่ออุตสาหกรรมการผลิต แต่ต้องพัฒนาโดยคำนึงถึงการผลิตจริงด้วย  แพลตฟอร์มที่รองรับการทำงานร่วมกันได้จากหลายฝ่ายต่างองค์กรจะเป็นสิ่งจำเป็นในอนาคต จะทำให้การพัฒนาเครื่องจักรมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น