กกร. คาดการณ์ GDP ปี'67 ขยายตัว 2.8 - 3.3%, คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน

กกร. คาดการณ์ GDP ปี'67 ขยายตัว 2.8 - 3.3% โตน้อยกว่าระดับศักยภาพเป็นปีที่ 6

อัปเดตล่าสุด 7 ธ.ค. 2566
  • Share :
  • 2,712 Reads   

กกร. คงคาดการณ์ GDP ปี 2567 อยู่ที่ 2.8 ถึง 3.3% ส่งออกขยายตัวที่ 2 ถึง 3% เงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบ 1.7 ถึง 2.2% โตน้อยกว่าระดับศักยภาพต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 จากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และปัจจัยความเปราะบางในประเทศ เช่น หนี้ครัวเรือน หนี้ของธุรกิจ SMEs

การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือนธันวาคม 2566 โดยมี นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) โดยมีนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ร่วมในการแถลงข่าว เปิดเผยภายหลังการประชุม ณ ห้องประชุม 208 ชั้น 2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2566 เติบโตได้น้อยกว่าที่คาด 9 เดือนแรกเติบโตได้เพียง 1.9% โดยการส่งออกยังชะลอตัวตามทิศทางประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะจีน การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัวอย่างต่อเนื่องและชะลอการผลิตเพื่อเติมสินค้าคงคลัง นอกจากนี้ รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 28 ล้านคน แทนที่จะเป็นราว 30 ล้านคน การใช้จ่ายต่อหัวก็ลดลงเหลือเพียง 4.30 หมื่นบาท จากที่เคยประมาณการ 4.55 หมื่นบาท 

เศรษฐกิจโลกปี 2567 มีแนวโน้มชะลอตัว สหรัฐฯ และยุโรปชะลอตัวจากภาวะการเงินที่ยังตึงตัวต่อเนื่อง ส่วนเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มเติบโตไม่ถึง 5% เนื่องจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจของเอเชียไม่รวมจีน ได้แก่ อาเซียน-5 เกาหลีใต้ และไต้หวัน มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีขึ้นเฉลี่ยที่อัตรา 3.7% นอกจากนี้ ตะวันออกกลางและอินเดีย มีแนวโน้มเติบโตได้ในระดับสูงที่ประมาณ 3.4% และ 6.3% ตามลำดับ สามารถเป็นปัจจัยสนับสนุนการส่งออกของไทยในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ และอาหาร

เศรษฐกิจไทยปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวได้ที่ 2.8-3.3% มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะโตได้น้อยกว่า 3% ซึ่งเป็นระดับศักยภาพเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน โดยเผชิญทั้งเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และปัจจัยความเปราะบางในประเทศ เช่น หนี้ครัวเรือน หนี้ของภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs รวมถึงผลกระทบต่อการเข้าถึงสินเชื่อในระบบจากการเริ่มใช้มาตรการการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบของธปท. ที่เน้นเรื่องวินัยการไม่สร้างหนี้เกินกำลัง รวมถึงการกลับมาจัดชั้นคุณภาพหนี้ตามปกติหลังยุค COVID-19 นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายจากศักยภาพการเติบโตของประเทศที่ลดลง การปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน ทั้งด้านเทคโนโลยี เพิ่มผลิตภาพของแรงงานเพื่อเผชิญกับการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย และการก้าวสู่ low carbon society ปัจจัยบวกสำหรับปี 2567 ได้แก่ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยว 33 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นอีก 5 ล้านคนจากปี 2566 ทั้งนี้ หากนโยบายเติมเงินใน digital wallet ดำเนินการได้เต็มวงเงิน 5 แสนล้านบาท ประเมินว่าจะช่วยเพิ่มการเติบโตของ GDP ได้อีกอย่างน้อย 1-1.5%

 

โดยที่ประชุม กกร. คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะเติบโตที่ประมาณ 2.8% ถึง 3.3% และประเมินว่ามูลค่าการส่งออกมีโอกาสหดตัวในกรอบ 2.0% ถึง 3.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่ายังอยู่ในกรอบ 1.7 ถึง 2.2%
 
 
กรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2566-2567 ของ กกร.
 
%YoY

ปี 2566

(ณ ต.ค. 65)

ปี 2566

(ณ พ.ย. 65)

ปี 2566

(ณ ธ.ค. 66)

ปี 2567

(ณ ธ.ค. 66)

GDP  2.5 ถึง 3.0 2.5 ถึง 3.0 2.5 ถึง 3.0 2.8 ถึง 3.3
ส่งออก -2.0 ถึง -0.5 -2.0 ถึง -1.0 -2.0 ถึง -1.0 2.0 ถึง 3.0
เงินเฟ้อ 1.7 ถึง 2.2 1.7 ถึง 2.2 1.3 ถึง 1.7 1.7 ถึง 2.2

 

ปี 2567 มีหลายปัจจัยแปรผันที่กระทบต่อเศรษฐกิจ ประเทศไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันเน้นไปที่การเร่งเจรจา FTA ดึงดูดการลงทุนในยุค Decoupling การดูแลต้นทุนราคาพลังงานควบคู่ไปกับการสร้างเสถียรภาพให้เกิดความสมดุล และการเตรียมความพร้อมด้านกำลังคน รวมถึงดึงดูดแรงงานต่างด้าวที่มีทักษะสูง นอกจากนี้ ต้องเร่งแก้ปัญหาความเปราะบางในประเทศ โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนที่พบว่าหนี้เสีย (NPL) ในระบบธนาคารพาณิชย์ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 2.68% ณ Q1/2566 เป็น 2.79% ณ Q3/2566 จากทุก product และสินเชื่อรถยนต์ที่อยู่ใน stage 2 สูงราว 15%

นอกจากนี้ หนี้นอกระบบเป็นปัญหาต่อเนื่องมาจากการมี informal economy ขนาดใหญ่ ซึ่งจากข้อมูลการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ณ วันที่ 5 ธันวาคม 2566 มีประชาชนมาลงทะเบียนจำนวน 62,030 ราย รวมมูลหนี้ 2,793.29 ล้านบาท เป็นการเริ่มต้นที่ดีเพราะจะได้เห็นข้อมูลพื้นฐานของหนี้นอกระบบ สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนในการบังคับใช้กฎหมายโดยภาครัฐ และให้การดูแลประชาชนกลุ่มเปราะบาง โดยที่ประชุม กกร. เห็นว่ากลไกถัดไปในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบต้องผลักดันให้ลูกหนี้เข้าถึงสินเชื่อในระบบมากขึ้น รวมถึงการปรับโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ด้วยการสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

#เศรษฐกิจไทย #GDP Thailand #การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน #กกร. #หอการค้าไทย #สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย #สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย #สมาคมธนาคารไทย

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH