RCEP คือ ข้อดี ข้อเสีย

บทวิเคราะห์ RCEP ข้อดี ข้อเสีย

อัปเดตล่าสุด 6 ม.ค. 2565
  • Share :
  • 12,676 Reads   

RCEP เริ่มแล้ว เปิดโอกาสซัพพลายเชน ลดอัตราภาษีนำเข้าเหลือ 0% สินค้าอุตสาหกรรมได้ประโยชน์เต็ม ขณะที่ SME น่าห่วง ท่ามกลางความเสี่ยงจากสงครามการค้าจีน - สหรัฐฯ

Advertisement

RCEP คืออะไร มีผลบังคับใช้

และแล้ว RCEP หรือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership) ก็มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งถูกจับตามองในฐานะความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดในโลก จึงเป็นที่คาดการณ์ว่า ประเทศสมาชิกจะได้รับผลพวงด้านการเติบโตของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในระยะยาวเป็นอย่างดี

แม้ว่าในช่วงเริ่มต้น หากเทียบระหว่าง RCEP และ CPTPP แล้ว ภายใต้ข้อตกลง RCEP จะมีการลดภาษีนำเข้าเหลือ 0% ทันทีครอบคลุมรายการสินค้า 91% ซึ่งน้อยกว่า CPTPP ที่ครอบคลุมรายการสินค้ามากถึง 99% แต่ในระยะยาวจะมีสินค้าอีกหลายรายการที่ RCEP ทยอยลดภาษีจนเหลือ 0% ในปีที่ 10 และปีที่ 20   

นอกจากนี้ อีกประเด็นสำคัญคือ RCEP มีญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเข้าร่วมเป็นสมาชิก 

RCEP มีกี่ประเทศ

RCEP คือ ข้อดี ข้อเสีย

RCEP มีสมาชิกรวม 15 ประเทศ ประกอบด้วยญี่ปุ่น, จีน, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, และ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม

โดย GDP ภาพรวมของกลุ่มประเทศสมาชิก RCEP คิดเป็นสัดส่วนราว 30% จาก GDP ทั่วโลก อีกทั้งยังมีประชากรรวมกันมากถึง 2,200 ล้านคน ทำให้รัฐบาลประเทศสมาชิกประเมินว่า การเข้าร่วม RCEP จะนำมาซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างแน่นอน

RCEP ข้อดี 

Hidehiko Mukoyama นักวิเคราะห์อาวุโสจาก Japan Research Institute คาดการณ์ว่า สินค้าอุตสาหกรรมจะได้รับผลประโยชน์จาก RCEP เป็นอย่างมาก 

โดยยกตัวอย่างการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าไปขายยังประเทศจีนที่ไม่เพียงแต่สะดวกง่ายดายแล้ว ชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้ากว่า 90% ยังได้รับการลดภาษีนำเข้าเหลือ 0% อีกด้วย

นอกจากนี้ Hirotoshi Ito หัวหน้ากองเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ฝ่ายวิจัยต่างประเทศจาก JETRO ยังได้แสดงความเห็นว่า อีกความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจาก RCEP คือ “ตัวเลือกซัพพลายเชน” ซึ่งผู้ประกอบการจะมีตัวเลือกมากกว่าที่ผ่านมา โดยสมมุติให้บริษัทญี่ปุ่นส่งออกชิ้นส่วนมาประกอบในไทย จากนั้นส่งออกไปขายที่จีน จะช่วยสร้างมูค่าเพิ่มและเม็ดเงินให้กับทั้งญี่ปุ่นและไทยไปพร้อมกันได้มากกว่าที่แล้วมา

RCEP คือ ข้อดี ข้อเสีย

ส่วนในด้าน e-commerce เอง RCEP จะช่วยให้การรับส่งข้อมูลข้ามประเทศทำได้อย่างอิสระ ผู้ให้บริการสามารถเลือกเปิดบริการด้านระบบคลาวด์ในประเทศสมาชิกได้โดยไม่จำเป็นต้องตั้งเซิร์ฟเวอร์เพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม JETRO แสดงความเห็นว่าในด้าน e-commerce นี้ RCEP มีข้อยกเว้นต่าง ๆ น้อยกว่า CPTPP จึงจำเป็นต้องพิจารณากฎเกณฑ์ให้ถี่ถ้วนเสียก่อน
ในส่วนของประเด็นภาษีนั้น นับจากวันที่ 1 มกราคม 2565 ยังคงมีสินค้าหลายรายการที่ยังไม่ได้รับการลดอัตราภาษีเหลือ 0 แต่จะทยอยเพิ่มรายการสินค้าอย่างต่อเนื่อง ทำให้ RCEP แม้มีผลบังคับใช้ แต่ไม่ได้นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงในทันทีทันใด อาจต้องใช้เวลา 5 - 10 ปี  โดย Hirotoshi Ito เปิดเผยว่า ปัจจุบันยังมีหลายบริษัทที่รอดูแนวโน้มด้านภาษีอยู่ 

RCEP ข้อเสีย

ในฐานะที่ RCEP เป็น FTA ขนาดใหญ่และมีจีนเป็นสมาชิก ทำให้หลายฝ่ายแสดงความเห็นว่า ความเสี่ยงสูงสุดคือสงครามการค้าจีน - สหรัฐฯ ที่อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจโดยตรง 

Junichi Sugawara นักวิจัยอาวุโสจากสำนักวิเคราะห์ Mizuho Information & Research Institute แสดงความเห็นว่า ความเป็นไปได้ที่บริษัทต่าง ๆ จะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้ามีอยู่จริง แต่เป็นไปได้ยาก เนื่องจากแนวโน้มด้าน Decoupling หรือการลดการพึ่งพาประเทศอื่นกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยประเด็นทางด้านการเมือง ทำให้สหรัฐฯ ไม่อาจลดการพึ่งพาประเทศต่าง ๆ ในเอเชียนอกจากจีนได้

Advertisement

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือปัญหาสิทธิมนุษยชน ซึ่งผู้ประกอบการต้องมั่นใจให้ได้ว่าในโลกยุคใหม่นี้ ซัพพลายเชนของตนจะต้องไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่เช่นนั้นอาจประสบปัญหากับการค้าระหว่างประเทศได้ เช่น ในกรณีที่สหรัฐฯ ผ่านร่างกฎหมายแบนสินค้าจากซินเจียงเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา หรือการที่ตลาดจีนบอยคอตแบรนด์ต่างชาติที่พูดถึงปัญหาในซินเจียง

โดยแนวโน้มจะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้คือการยื่นคำร้องขอเข้าร่วม CPTPP ของอังกฤษและจีน ซึ่งทำให้หลายฝ่ายจับตาว่าสหรัฐฯ จะมีท่าทีอย่างไร และจะกลับเข้ามาใน CPTPP หรือไม่ ซึ่งความเคลื่อนไหวของจีนและสหรัฐฯ ย่อมส่งผลต่อประเทศสมาชิกอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ แม้ FTA จะมีความสำคัญมากขึ้น แต่สถานการณ์ต่าง ๆ ทั่วโลกทำให้เกิดความไม่แน่นอนขึ้นอย่างมาก ซึ่ง RCEP และ CPTPP เองก็ได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนเหล่านี้เช่นเดียวกัน

และอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ SME จะปรับตัวอย่างไร ในยุคที่ผู้ประกอบการรายใหญ่สามารถเปลี่ยนซัพพลายเชนได้อย่างง่ายดายเช่นนี้

Junichi Sugawara แสดงความเห็นว่า สิ่งแรกที่ SME ทำได้คือการพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อให้บริษัทมีศักยภาพในการแข่งขันสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว SME หลายรายไม่มีเงินทุนและเวลาเพียงพอในการพัฒนาบุคลากรหรือประสิทธิภาพการผลิต ทำให้ FTA หลายฉบับมีเสียงต่อต้านจาก SME เป็นอย่างมาก และเป็นเรื่องที่ภาครัฐจำเป็นต้องให้การสนับสนุน

 

#RCEP #FTA #CPTPP #ความตกลงการค้าเสรี # ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค #เศรษฐกิจ #ส่งออก #ซัพพลายเชน #SME #M Report #mreportth #ข่าวอุตสาหกรรม

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH