เทรนด์การทำงานในอนาคต แนวโน้มการทำงานในอนาคต และปี 2564

เทรนด์การทำงานในอนาคต หลังไทยติดโควิด นานเกือบสองปี!

อัปเดตล่าสุด 30 ส.ค. 2564
  • Share :

การระบาดของโควิดในไทยมานานเกือบสองปี สร้างการเปลี่ยนแปลงต่อธุรกิจ บุคลากร และเทคโนโลยี สู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) ทำให้เทรนด์การทำงานในอนาคตแตกต่างจากเดิม

 

8 เทรนด์การทำงานในอนาคต ได้แก่  1. ทำงานที่ไหนก็ได้  2. ผู้บริโภคเปลี่ยนมาใช้ชีวิตผ่านช่องทางดิจิทัล  3. Cloud Economy คลาวด์จะตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจ และเศรษฐกิจ  4. ข้อมูลที่องค์กรมีสามารถนำมาสร้างมูลค่าได้   5. การร่วมมือทางธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวเชื่อมต่อ  6. การพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะทางดิจิทัลมากขึ้น  7. การรักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่เหมาะสม   8. Sustainable Development Goals จะเป็นเรื่องที่ละเลยไม่ได้อีกต่อไป 

Advertisement

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2564 ในงานสัมมนาเผยแพร่ความรู้ “Thailand Quality Award 2020 Winner Conference : Journeys to the Pride of World-Class Excellence” บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยคุณชนิกานต์ โปรณานันท์ รองกรรมการผู้จัดการสายงานการตลาดและปฎิบัติการ ได้ร่วมบรรยายในหัวข้อ “Future Trend for Business” โดยมีเนื้อหาสำคัญ ดังนี้

19 เดือนที่ผ่านมา ธุรกิจไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร?

จากผลสำรวจของบริษัทฯ และคู่ค้าในประเทศไทย พบว่า ในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมานี้ บริษัทในไทยมีการเปลี่ยนแปลงแบ่งเป็น 3 หมวดใหญ่ ได้แก่

1. การเปลี่ยนแปลงของบุคลากร 

ในปีที่ผ่านมา บริษัทในไทยมองเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับบุคลากร โดยในอุตสาหกรรมไอทีมีบุคลากรยุคใหม่เข้ามาในอุตสาหกรรมมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ เช่น ในอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ และการเลิกจ้าง

2. การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ

ในปีที่ผ่านมา ไมโครซอฟต์เห็นว่าธุรกิจส่วนมากหันมาทำงานแบบ Work from Home, เปลี่ยนรูปแบบธุรกิจจากออฟไลน์เป็นออนไลน์, และการเกิดขึ้นของสตาร์ทอัพในกลุ่มเทคโนโลยีที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

3. การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

การเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนที่สุดของธุรกิจไทยในปี 2563 คือ Digital Transformation, การนำข้อมูลเข้ามาใช้, และการสร้างแพลตฟอร์มใหม่ ๆ ทั้ง E-Commerce, Logistics, และ Delivery 
 

“ในช่วง 19 เดือนที่ผ่านมา เป็น 19 เดือนแห่งการไม่ยอมแพ้ในหลายภาคส่วน เราเห็นคนที่มองเห็นโอกาสในวิกฤติ มองเห็นโจทย์ในปัญหา และพัฒนาความสามารถของบริษัทจนสามารถสร้างการเติบโตได้ และอีกปัจจัยบวกที่เราเห็น คือ Digital Skills ซึ่งมีการเติบโตอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา”

 

Digital Optimism และ Digital Transformation

การมาของโควิดทำให้ธุรกิจมีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งเมื่อผนวกกับการที่เทคโนโลยีมีราคาถูกลง เกิดเป็นคำนิยามใหม่ว่า “Digital Optimism” ซึ่งหมายความว่าการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในองค์กรไม่ยากอย่างที่คิด สามารถนำมาเพิ่มประสิทธิภาพองค์กรในด้านต่าง ๆ เช่น ลดเวลาการทำงาน, สร้างช่องทางการขาย, เชื่อมต่อกับธุรกิจอื่น, ไปจนถึงสร้างคุณภาพชีวิตให้พนักงานได้

และสำหรับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ ไมโครซอฟต์แนะนำว่า ให้ลืมไปก่อนว่าจะเลือกเทคโนโลยีใด แต่ให้พิจารณาจากด้านอื่น แบ่งเป็น 4 ด้านใหญ่ คือ ลูกค้า, พนักงาน, การดำเนินงาน, และผลิตภัณฑ์ ว่าธุรกิจสามารถทำอะไรให้ดีขึ้นได้สำหรับ 4 เป้าหมายนี้ จากนั้นจึงเลือกว่าจะนำเทคโนโลยีใดมาปรับใช้ในองค์กร ซึ่งทางบริษัทแสดงความเห็นว่า สิ่งที่เริ่มได้ง่ายที่สุดในสายตาของธุรกิจไทยคือ การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลูกค้า

 

ในปี 2563 ที่ผ่านมา ธุรกิจไทยมีการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล Digital Transformation ดังนี้

จากรายงานผลสำรวจของดีลอยท์พบว่า ในปี 2563 ที่ผ่านมา ธุรกิจไทยมีการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล Digital Transformation โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้พัฒนาเว็บไซต์และแอปพลิเคชันมือถือเป็นสองเรื่องหลัก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากโควิด อย่างไรก็ดี ไมโครซอฟต์เปิดเผยว่า ธุรกิจไทยมีแนวโน้มเช่นนี้มาตั้งแต่ปี 2561 และโควิดเป็นเพียงตัวกระตุ้นให้เกิดการใช้งานมากขึ้นเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีอีกเหตุผล คือ การประสบความสำเร็จของเว็บไซต์และแอปพลิเคชันมือถือของหลายธุรกิจ ทำให้เกิดความมั่นใจแก่บริษัทอื่น ๆ 

 

พฤติกรรมของคนไทยในปี 2563 - 2564

การนำข้อมูลพฤติกรรมของคนไทยในปี 2563 - 2564 มาคำนวนว่าอะไรน่าจะเกิดขึ้นใน 1-2 ปีข้างหน้า จากแบบสอบถามที่จัดทำโดย DataReportal แสดงให้เห็นว่า ในปี 2564 ประเทศไทยมีการใช้โซเชียลมีเดียและอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ 

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่น่าสนใจคือ 99.0% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทย ใช้ผ่านโทรศัพท์มือถือ และ 98.9% ใช้ผ่านสมาร์ทโฟน ในขณะที่การใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านคอมพิวเตอร์และโน้ตบุ๊กอยู่ที่ 48.5% การใช้งานอินเตอร์เน็ตผ่านแท็บเล็ตอยู่ที่ 34.7% เท่านั้น ซึ่งปี 2564 เป็นปีแรกที่มีการใช้งานโทรศัพท์มือถือเข้าสู่เว็บไซต์แซงหน้าคอมพิวเตอร์

อีกจุดที่น่าสนใจ คือการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทวอทช์อยู่ที่ 21.9% และผ่านอุปกรณ์ VR ที่ 3.4% ซึ่งมีการเติบโตจากปี 2563 เป็นอย่างมาก ไมโครซอฟต์จึงเห็นว่าทั้งสองเพราะเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ควรจับตามอง

ในด้านการใช้งานอินเทอร์เน็ต เทรนด์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นชัดที่สุด คือการฟังวิทยุ และพอดแคสต์ ซึ่งแต่เดิมมีสัดส่วนน้อย แต่เพิ่มขึ้นมาติด Top 8 ได้ตั้งแต่ปี 2563 สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้ใช้

นอกจากนี้ยังพบว่า ในปี 2563 ผู้ใช้สมาร์ทโฟนในไทยมากถึง 50.0% ได้เลือกใช้สมาร์ทโฟนในการประชุมทางไกล 

และหากพิจารณาเฉพาะธุรกิจ E-Commerce พบว่าในปีที่ผ่านมา คนไทย 33.67 ล้านคนหันมาซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ คิดเป็นมูลค่า 7.29 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 48.2% เฉลี่ยตกที่คนละ 216 ดอลลาร์ต่อปี โดยมีหมวดสินค้าที่ถูกซื้อขายเติบโตสูงสุดคืออาหาร 74.3% ตามด้วยของเล่นและงานอดิเรก 42.4%

และในปี 2564 นี้ พฤติกรรมของคนไทยที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน คือการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันสำหรับซื้อของผ่านระบบออนไลน์ โดยมีผู้ใช้งานแอปพลิเคชันมากถึง 83.4% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทย เพิ่มขึ้นจากปี 2563 เป็นอย่างมาก และเบียดการสั่งซื้อสินค้าผ่านเว็บไซต์จนตกอันดับ Top 5 ได้สำเร็จ

Advertisement

7 เทรนด์การทำงานในปี 2564 ที่เจ้าของธุรกิจควรรู้

ไมโครซอฟต์รายงานว่า เทรนด์การทำงานที่เจ้าของธุรกิจควรรู้ในปี 2564 มี 7 ข้อ ดังนี้

1. การทำงานต้องยืดหยุ่นได้ ไปต่อแบบ Hybrid แบบสอบถามของไมโครซอฟต์พิสูจน์แล้วว่า การทำงานแบบไฮบริดระหว่างการทำงานดั้งเดิม และการทำงานทางไกลไม่ทำให้ประสิทธิภาพการลดลงแต่กลับเพิ่มขึ้น ซึ่งหลายบริษัทได้ปรับ Policies มาเป็นการทำงานแบบไฮบริด เช่น ไมโครซอฟต์ให้พนักงานเลือกได้ว่าจะทำงานที่ออฟฟิศ หรือทำงานทางไกล และเปลี่ยนระบบชั่วโมงทำงาน ให้พนักงานเริ่มงานและเลิกงานเวลาไหนก็ได้จนกว่าจะครบ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่ง 60% ของผู้ตอบแบบสอบถามในไทยอยากทำงานไฮบริด และมีเพียง 26% ที่อยากกลับไปทำงานออฟฟิศ
2. ผู้บริหารต้องเรียนรู้การสานสัมพันธ์รูปแบบใหม่ เนื่องจากผู้นำธุรกิจมักห่างเหินกับลูกจ้าง
3. คนทำงานส่วนใหญ่เหนื่อยจาก Digital Overload โดย 63% ของผู้ตอบแบบสอบถามแสดงความเห็นว่าการทำงานที่บ้านเหนื่อยกว่าการทำงานที่ออฟฟิศ
4. เมื่อ Gen Z เจอความท้าทายในการ engage แบบ Virtual ที่ผ่านมา คนส่วนมากเข้าใจว่า Gen Z คุ้นเคยกับคอมพิวเตอร์ แต่ในความเป็นจริง หลายองค์กรพบว่า Gen Z มีปัญหาในการทำงานทางไกล โดยปัญหาส่วนใหญ่คือไม่กล้าแสดงความเห็นแทรกขึ้นมาระหว่างทำงาน
5. เมื่อวงการทำงานแคบลง เป็นอุปสรรคต่อความคิดใหม่ ๆ เนื่องจากการทำงานทางไกลทำให้พนักงานไม่ได้พบปะผู้คน ทำให้มีเครือข่ายการทำงานที่แคบลงจากเดิม
6. เปิดเผย จริงใจ ในสภาพเรียล ๆ เพื่อสร้างความเข้าใจ และสมดุลในชีวิตการทำงาน ไมโครซอฟต์แนะนำว่า หากไม่ใช่การประชุมที่เป็นทางการมากอย่างเช่นการประชุมผู้ถือหุ้น พนักงานไม่ควรเครียดเกินไป เช่น หากมีเสียงเด็กร้อง เสียงสุนัขเห่าเข้ามาในไมค์ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรต้องถือเป็นความผิด เพื่อช่วยลดความเครียดของพนักงาน
7. ตลาดแรงงานเปลี่ยนไปเมื่อคนเก่งสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ ตลาดแรงงานในอนาคตจะเปลี่ยนไป เพราะคนเก่งทำงานจากที่ไหนก็ได้ ไม่ได้จำกัดเพียงการนั่งทำงานในออฟฟิศ ซึ่งรวมไปถึงนายจ้างก็จะมีอิสระในการจ้างงานมากขึ้น เช่น เลือกจ้างพนักงานที่พักอยู่ในต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ 

8 เทรนด์การทำงานในอนาคต

ไมโครซอฟต์รายงานว่า การทำงานวิถีใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 1 - 3 ปีข้างหน้าจากเทคโนโลยีดิจิทัล มี 8 ข้อ ดังนี้

1. ทำงานที่ไหนก็ได้ ทั้งในแง่เทคโนโลยี และ Policy แต่ต้องตอบโจทย์ Productivity ขององค์กร
2. ผู้บริโภคเปลี่ยนมาใช้ชีวิตผ่านช่องทางดิจิทัล ทั้งการซื้อของ การเรียน ไปจนถึงการรับสื่อบันเทิง ซึ่งองค์กรควรตอบโจทย์ผู้บริโภคให้ได้ 
3. Cloud Economy คลาวด์จะตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจ และเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็น Pay to Use ทำให้องค์กรไม่จำเป็นต้องลงทุนเทคโนโลยี แต่ใช้ผ่านคลาวด์ เช่น การเช่าระบบแทนการติดตั้งระบบของตัวเอง
4. ข้อมูลที่องค์กรมีสามารถนำมาสร้างมูลค่าได้ เช่น การนำข้อมูล และ AI มาเป็นส่วนหนึ่งของแอปพลิเคชัน ซึ่งในอนาคตจะมีการนำมาใช้มากขึ้น ทั้งรถไร้คนขับ ระบบอัตโนมัติ และอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Digital Twin ที่สามารถจำลองโรงงานออกมาได้ 100%
5. การร่วมมือทางธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างธุรกิจสู่ธุรกิจ และธุรกิจสู่ลูกค้า
6. การพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะทางดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งอาจรวมไปถึงการพัฒนาให้บุคลากรสามารถทำงานแอปพลิเคชัน หรือระบบอัตโนมัติง่าย ๆ ได้
7. การรักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่เหมาะสม สร้างความมั่นใจให้องค์กร และลูกค้า
8. Sustainable Development Goals (SDGs) จะเป็นเรื่องที่ละเลยไม่ได้อีกต่อไป บริษัทไม่อาจมุ่งเพียงการพัฒนาธุรกิจ แต่ต้องนึกถึงสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งหลายองค์กรไทยก็ได้เริ่มต้นแล้ว

 

​อ่านต่อ: 8 เมกะเทรนด์ รูปแบบการดำเนินธุรกิจในอนาคตที่ผู้ประกอบการต้องติดตาม

#เทรนด์การทำงานในอนาคต #แนวโน้มการทำงานในอนาคต #แนวโน้มธุรกิจ 2564 #เทรนด์ธุรกิจ 2021 #เทรนด์ธุรกิจหลังโควิด  #พฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน #พฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน 2021 #พฤติกรรมผู้บริโภค 2022 #พฤติกรรมผู้บริโภค 2021  #เทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน #เทรนด์ #อนาคต #ดิจิทัล #Digital Transformation #DX #เทคโนโลยี ดิจิทัล #อินเตอร์เน็ต #อุตสาหกรรมไทย #ข่าวอุตสาหกรรม #Mreport #M Report #mreportth

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH