Indo-Pacific Economic Framework: IPEF, อุตสาหกรรมไฟฟ้า, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์, Electronics, สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, EEI, อุตสาหกรรมไทย

กรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF)

อัปเดตล่าสุด 27 ม.ค. 2566
  • Share :
  • 3,276 Reads   

กรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) เป็นกรอบความร่วมมือที่จะเน้นการเชื่อมโยงเศรษฐกิจในภูมิภาค เพื่อผลักดันเรื่องความยืดหยุ่น ความยั่งยืน การเปิดกว้าง ความเป็นธรรม การแข่งขัน และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ1

กรอบความร่วมมือดังกล่าวเพิ่งเริ่มเปิดตัวที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2022 ที่ผ่านมา หลังจากการเจรจาเริ่มต้นขึ้น คาดว่าจะใช้เวลาในการวางกรอบความร่วมมือภายใน 12 – 18 เดือน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เร็วที่สุดที่จะมีขึ้นในการเจรจาทางการค้าในระดับนานาชาติโดยมีประเทศสมาชิก ได้แก่ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ อินเดีย และ 7 ชาติอาเซียนคือ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม รวมทั้งหมด 13 ประเทศ2
โดยประเทศสมาชิกทั้งหมดมีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของประเทศรวมแล้วคิดเป็นร้อยละ 40 ของ GDP ของทั้งโลก3

1 https://www.whitehouse.gov/briefing-room/statements-releases/2022/05/23/statement-on-indo-pacific-economic-framework-forprosperity/
2 https://www.mfa.go.th/th/content/ipef-2022
3 https://www.cnbc.com/2022/05/26/ipef-what-is-the-indo-pacific-framework-whos-in-it-why-it-matters.html

การค้ารวมระหว่างไทยกับประเทศสมาชิก IPEF ปี 2021

จากข้อมูลการค้ารวมระหว่างไทยกับประเทศสมาชิก IPEF ในปี 2021 แสดงให้เห็นว่า การค้ารวมระหว่างไทยกับประเทศสมาชิก IPEF มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 253,893 ล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 47 ของการค้ารวมทั่วโลก) มูลค่าการนำเข้าของไทยจากประเทศสมาชิก IPEF คือ 112,637 ล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 42 ของการนำเข้าจากทั่วโลก) โดยสินค้าที่ไทยนำเข้าจากประเทศสมาชิก IPEF สูงสุด ได้แก่ สินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์(HS 84 และ HS 85) มีมูลค่าการนำเข้ารวม 25,573 ล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 23) และสินค้ากลุ่มเชื้อเพลิงและแร่ธรรมชาติ(HS 27) มีมูลค่าการนำเข้า 12,534 ล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 11) ในขณะที่มูลค่าการส่งออกของไทยไปยังประเทศสมาชิก IPEF คือ 141,256 ล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 53 ของการส่งออกไปทั่วโลก) โดยสินค้าที่ไทยส่งออกไปยังประเทศสมาชิก IPEF สูงสุด ได้แก่ สินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์(HS 84 และ HS 85) มีมูลค่าการส่งออก 41,072 ล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 29) และสินค้า
กลุ่มยานยนต์(HS 87) มีมูลค่าการส่งออก 17,608 ล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 12) ซึ่งไทยเป็นฝ่ายที่ได้ดุลทางการค้า

ที่มา: Global Trade Atlas รวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์โดยแผนกนโยบายและแผน สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส

การค้าของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างไทยกับประเทศสมาชิก IPEF

ในปี 2021 ที่ผ่านมา ไทยมีการค้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์กับประเทศสมาชิก IPEF มูลค่ารวม 66,645 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจำแนกเป็นการนำเข้า มูลค่า 25,573 ล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 40) โดยประเทศที่ไทยมีการนำเข้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์สูงสุด คือ ญี่ปุ่น ซึ่งมีมูลค่าการนำเข้ารวม 8,027 ล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 13) ในขณะที่การส่งออกนั้น ไทยส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่า 41,072 ล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 57) โดยประเทศที่ไทยมีการส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์สูงสุด คือ สหรัฐฯ มีมูลค่าการส่งออกรวม 18,043 ล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 25) ซึ่งไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าในการค้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์กับประเทศสมาชิก IPEF

ที่มา: Global Trade Atlas รวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์โดยแผนกนโยบายและแผน สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
หมายเหตุ: 1) ร้อยละ (%) หมายถึง ค่าส่วนแบ่งการตลาด
2) ไทยไม่มีการนำเข้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จากบรูไน

สำหรับสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ไทยมีการค้ากับประเทศสมาชิก IPEF ในปี 2021 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการนำเข้าสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ 1) วงจรรวม (6,780 ล้านเหรียญสหรัฐ) 2) เทปแม่เหล็กและจานแม่เหล็ก แผ่นซีดี(2,677 ล้านเหรียญสหรัฐ) และ 3) ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบคอมพิวเตอร์ (1,902 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในขณะที่การส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยมีการส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไปประเทศสมาชิก IPEF รวมทั้งสิ้น 41,072 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการส่งออกสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ 1) Storage Units (6,312 ล้านเหรียญสหรัฐ) 2) วงจรรวม (3,661 ล้านเหรียญสหรัฐ) และ 3) เครื่องปรับอากาศ (3,355 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยจากมูลค่าการค้าสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในภาพที่ 2 แสดงให้เห็นว่า ไทยเป็นฝ่ายที่ได้ดุลการค้ารวมถึงตลาดประเทศสมาชิก IPEF ยังมีส่วนแบ่งการตลาดค่อนข้างสูงทั้งการนำเข้าและส่งออก

ที่มา: Global Trade Atlas รวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์โดยแผนกนโยบายและแผน สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
หมายเหตุ: 1) จัดกลุ่มสินค้าอ้างอิงตามศูนย์ข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (EIU)
2) ร้อยละ (%) หมายถึง ค่าส่วนแบ่งการตลาด

การค้าของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ

ไทยได้มีการทำข้อตกลงทางการค้าเสรี (Free Trade Area: FTA) กับประเทศสมาชิก IPEF แล้ว 11 ประเทศ จากประเทศสมาชิก 12 ประเทศ เหลือเพียงสหรัฐฯ ที่ไทยยังไม่มี FTA ด้วย อีกทั้งสหรัฐฯ ยังเป็นตลาดส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หลักของไทย รวมถึงเป็นผู้ริเริ่มกรอบความร่วมมือฯ นี้ ดังนั้น ในบทความนี้ผู้วิเคราะห์จะเน้นวิเคราะห์การค้าของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ เป็นหลัก

หากพิจารณาเฉพาะการค้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ พบว่า สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ไทยนำเข้าจากสหรัฐฯ สูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ 1) วงจรรวม (1,260 ล้านเหรียญสหรัฐ) 2) ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ (264 ล้านเหรียญสหรัฐ)และ 3) สายไฟฟ้าชุดสายไฟ (131 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในขณะที่การส่งออกนั้น สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ สูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ 1) Storage Units (4,748 ล้านเหรียญสหรัฐ)2) เครื่องอุปกรณ์สำหรับการส่งหรือการรับเสียง ภาพ หรือข้อมูลอื่น ๆ และอุปกรณ์สำหรับสื่อสารในระบบเครือข่ายทางสาย ไร้สาย (1,588 ล้านเหรียญสหรัฐ) และ 3) โซล่าร์เซลล์(1,025 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยจากมูลค่าการค้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยในภาพที่ 3แสดงให้เห็นว่า ไทยเป็นฝ่ายที่ได้ดุลการค้า

ที่มา: Global Trade Atlas รวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์โดยแผนกนโยบายและแผน สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
หมายเหตุ: 1) จัดกลุ่มสินค้าอ้างอิงตามศูนย์ข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (EIU)
2) ร้อยละ (%) หมายถึง ค่าส่วนแบ่งการตลาด

สินค้า Storage Units ถือเป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีมูลค่าและมีอัตราการเติบโตในระดับสูง ในปี 2021 ไทยมีการส่งออกสูงสุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลก โดยมีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 13,071 ล้านเหรียญสหรัฐ และเป็นสินค้าที่มีการส่งออกไปยังสหรัฐฯ สูงสุดเป็นอันดับที่ 1

สำหรับการนำเข้าสินค้า Storage Units จากประเทศสมาชิก IPEF ของสหรัฐฯ ในปี 2021 นั้น พบว่า ไทยเป็นประเทศที่สหรัฐฯ นำเข้าสินค้า Storage Unitsสูงสุดคิดเป็นร้อยละ 82 ของการนำเข้ารวมจากประเทศสมาชิก IPEF หรือมูลค่า 6,447 ล้านเหรียญสหรัฐ

นอกจากไทยจะเป็นประเทศที่สหรัฐฯ มีการนำเข้าสินค้า Storage Units สูงสุด เมื่อเทียบกับประเทศสมาชิก IPEF แล้ว ไทยยังเป็นประเทศที่สหรัฐฯ มีการนำเข้าสินค้า Storage Units สูงสุด เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกอีกด้วย คิดเป็นร้อยละ 62 ของการนำเข้าจากทั่วโลก จากข้อมูลที่กล่าวมาจะเห็นว่า สหรัฐฯ เป็นประเทศคู่ค้าที่มีความสำคัญอย่างยิ่งของไทย โดยเฉพาะกับสินค้า Storage Units

ที่มา: Global Trade Atlas รวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์โดยแผนกนโยบายและแผน สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ประเด็นที่น่าจับตามองต่ออุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย

ประเด็นที่น่าจับตามองสำหรับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยต่อกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก อีกประเด็นก็คือ กรอบความร่วมมือนี้ไม่ใช่ทั้งข้อตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Area: FTA) ความตกลงการค้าเพื่อเปิดตลาดสหรัฐฯ ให้เอเชีย รวมทั้งยังไม่มีการพูดถึงการลดภาษีหรือเปิดเสรีให้สินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศที่เข้าร่วมกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกต้องการ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับกรอบความร่วมมือนี้มากนัก โดยทางรัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวว่า จะมีการเผยข้อมูลรายละเอียดอื่น ๆ ออกมามากขึ้นเมื่อมีการเจรจาในขั้นต่อ ๆ ไป อีกทั้ง สหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่ริเริ่มกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจนี้ ต้องการยกระดับมาตรฐานและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ อาทิเช่นมาตรฐานแรงงาน สิ่งแวดล้อม กฎระเบียบมาตรฐานในเรื่องการค้า และมาตรฐานด้านทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นที่ค่อนข้างน่ากังวลว่าประเทศสมาชิกจะสามารถปฏิบัติตามมาตรฐานที่สหรัฐฯ กำหนดขึ้นได้หรือไม่ หรือจะถูกเบี่ยงเบนจนกลายเป็นเครื่องมือในการกีดกันทางการค้าในที่สุด

หากพิจารณาความสำคัญระหว่างกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) กับข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคแปซิฟิก (CPTPP) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับมาตรฐานต่าง ๆ และมีความเกี่ยวข้องเชิงเศรษฐกิจที่กำลังเป็นที่น่าจับตามองในขณะนี้สามารถเปรียบเทียบความสำคัญของแต่ละกลุ่มเศรษฐกิจ ได้ดังนี้

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคแปซิฟิก (CPTPP) นั้นเกิดขึ้นมานานแล้วและมีผลบังคับใช้ไปแล้ว ทำให้สามารถคำนวณข้อดีและข้อด้อยของการเข้าร่วมของไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่กรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) นั้นเพิ่งเริ่มต้นขึ้น ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน จึงอาจจะเปรียบเทียบกันได้ไม่มากนัก

4 https://www.mfa.go.th/th/content/ipef-2022?page=5d5bd3c915e39c306002a907&menu=5d5bd3d815e39c306002aac5
5 กองเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ (https://www.oie.go.th/assets/portals/1/files/study_report/CPTPP(final).pdf)
6 7 8 Global Trade Atlas

สรุปบทความ

กรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) เป็นกรอบความร่วมมือที่น่าจับตามองในขณะนี้ โดยกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันมากถึงร้อยละ 40 ของ GDP ของโลก เพราะมีทั้งสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก รวมถึงยังมีญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ด้วย อย่างไรก็ตาม กรอบความร่วมมือดังกล่าวน่าจะให้ประโยชน์แก่อาเซียนได้น้อยกว่าความตกลงการค้าอื่น ๆ เนื่องจากกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) ไม่ใช่ความตกลงการค้าเสรีที่มีเป้าหมายในการเปิดตลาดให้กับประเทศสมาชิก หากแต่เน้นความเป็นธรรมทางการค้ามากกว่าการค้าเสรี

ในปัจจุบัน กรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกนี้ยังมีรายละเอียดไม่มากนัก ไม่มีความชัดเจนและไม่ได้ก่อให้เกิดภาระผูกพันใด ๆ ซึ่งอนาคตจะมีการหารือการวางหลักเกณฑ์และเติมเต็มรายละเอียดที่จะเป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทยต่อไป ดังนั้นหากไทยให้ความสนใจเข้าร่วมในกรอบความร่วมมือนี้ จะทำให้ไทยไม่เสียโอกาสในการหารือกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจใหม่ในภูมิภาคที่มีประเทศหุ้นส่วนที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจกับไทย สามารถต่อรองและรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศได้

ทั้งนี้ แนวคิดความร่วมมือพหุภาคีของสหรัฐฯ มีความไม่แน่นอน ดังจะเห็นได้จากการเข้าร่วมข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคแปซิฟิก หรือ TPP (ชื่อเดิมของ CPTPP) เมื่อปี 2016 ในสมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามา และสหรัฐฯ ได้ถอนตัวออกจากข้อตกลงฯ ในปี 2017 ในสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งนักวิชาการหลายท่านแสดงความกังวลต่อกรอบความร่วมมือนี้ว่า หรือสหรัฐฯ เพียงแค่ต้องการหาพันธมิตรทางการเมืองระหว่างประเทศเพื่อคานอำนาจจีนเท่านั้น ไม่ได้มุ่งหมายที่จะสร้างความเข้มแข็งทางการค้าระหว่างประเทศกับประเทศสมาชิก

อย่างไรก็ตาม ทางภาครัฐควรทำการศึกษารายละเอียดต่าง ๆ พิจารณาข้อดีและข้อด้อย ผลประโยชน์ระยะยาวที่จะส่งผลถึงผู้บริโภคและผู้ประกอบการในประเทศควบคู่ไปกับการยกระดับความสามารถของผู้ประกอบการไทยให้ชัดเจน รวมถึงขีดความสามารถในการปฏิบัติตามกฎระเบียบและมาตรฐานที่คาดว่าสหรัฐฯ จะกำหนดเพิ่มเติมให้ถี่ถ้วน เพื่อที่ว่าในอนาคต หากไทยได้เข้าร่วมกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจ IPEF แล้ว ผู้ประกอบการไทยจะได้รับประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ กรอบความร่วมมือนี้ ยังมีข้อควรระวังเกี่ยวกับมาตรฐานและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มกรอบความร่วมมือนี้ต้องการยกระดับขึ้น ทำให้ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ค่อนข้างน่ากังวลและควรระวังอย่างยิ่ง เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการไทย

 

นิยามสินค้าตามพิกัดศุลกากร

สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยแผนกนโยบายและแผน ได้อ้างอิงนิยามสินค้าที่เกี่ยวข้องตามพิกัดศุลกากร จากกรมศุลกากร มีรายละเอียดดังนี้

1) พิกัด HS 27 หมายถึง กลุ่มสินค้าเชื้อเพลิงที่ได้จากแร่ น้ำมันแร่ และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นสิ่งดังกล่าว สารบิทูมินัส ไขที่ได้จากแร่

2) พิกัด HS 84 หมายถึง กลุ่มสินค้าเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ บอยเลอร์ เครื่องจักร เครื่องใช้กล และส่วนประกอบของเครื่องดังกล่าว

3) พิกัด HS 85 หมายถึง กลุ่มสินค้าเครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า และส่วนประกอบของเครื่องดังกล่าว เครื่องบันทึกเสียงและเครื่องถอดเสียง เครื่องบันทึกและเครื่องถอดภาพและเสียงทางโทรทัศน์ รวมทั้งส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องดังกล่าว

4) พิกัด HS 87 หมายถึง กลุ่มสินค้ายานบกนอกจากรถที่เดินบนรางรถไฟหรือรางรถราง ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของยานดังกล่าว

ที่มา: สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (EEI)

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH