ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย 2564 พฤศจิกายน

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย พ.ย. 64 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเดือนที่ 2

อัปเดตล่าสุด 9 ธ.ค. 2564
  • Share :
  • 965 Reads   

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC Confidence Index) ประจำเดือนพฤศจิกายน 2564 อยู่ที่ระดับ 28.1 เพิ่มขึ้น 8.2 จากเดือนก่อนหน้า โดยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ผลจากการเปิดประเทศรับนั่งท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้ภาคเอกชนมีความมั่นใจมากขึ้น 

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจสมาชิกผู้ประกอบการ 369 รายทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 22-26 พฤศจิกายน 2564 พบว่า ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการปรับตัวดีขึ้น ค่าดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 28.1 เพิ่มขึ้นถึง 8.2 จากเดือนตุลาคม 2564 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 19.9 โดยเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน เป็นผลจากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนพฤศจิกายน , จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง, การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง., รวมถึงการส่งออกไทยเดือน ต.ค. 64 ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าไทย

ปัจจัยด้านลบ

  • ความวิตกกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในประเทศไทยที่ถึงแม้จำนวนยอดติดเชื้อจะลดลง แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังอนาคตหากสายพันธุ์โอไมครอนเข้ามาในประเทศ
  • ความกังวลเกี่ยวกับการกลับมา lockdown หากมีการแพร่ระบาดของโอไมครอน
  • ผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ที่สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของ
    ประชาชน รวมถึงผลผลิตทางการเกษตร
  • สศค. ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยไตรมาสที่ 3/2564 ติดลบ 0.3% โดยคาดว่าจีดีพี ปี 2564 จะขยายตัวได้ 1.2%
  • SET Index เดือน พ.ย. 64 ปรับตัวลดลง 54.74 จุด จาก 1,623.43 ณ สิ้นเดือน ต.ค. 64 เป็น 1,568.69 ณ สิ้นเดือน พ.ย. 64
  • ความกังวลเสถียรภาพทางการเมืองและสถานการณ์ทางด้านการเมือง ตลอดจนการชุมนุมทางการเมือง
  • ความกังวลด้านสภาพคล่องในการเปิดดำเนินกิจการของธุรกิจ หลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการบางส่วน อีกทั้งผู้ประกอบการยังรู้สึกว่ารายได้จากการทำธุรกิจในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายที่ปรับตัวสูงขึ้น

ปัจจัยด้านบวก

  • ศบค. ผ่อนปรนมาตรการล็อคดาวน์เพื่อเป็นการรองรับมาตรการเปิดประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ (ประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ) บินเข้ามาประเทศไทยโดยไม่ต้องกักตัว
  • จำนวนติดเชื้อรายวันในประเทศมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งจำนวนผู้ฉีดวัคซีนในประเทศเป็นไปตามแผนที่ได้วางไว้
  • กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี
  • การส่งออกของไทยเดือน ต.ค. 64 ขยายตัวร้อยละ 17.35 มูลค่าอยู่ที่ 22,738.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 34.64 มีมูลค่าอยู่ที่ 23,108.91 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล 370.20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือทรงตัวในระดับที่ดี โดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน และมันสำปะหลัง ส่งผลให้เกษตรกรในบางพื้นที่เริ่มมีรายได้สูงขึ้น และกำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น 
  • ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลงโดยแก๊สโซฮอล ออกเทน 91 (E10) และแก๊สโซฮอล ออกเทน 95 (E10) ปรับตัวลดลงประมาณ 2.10 บาทต่อลิตร และราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศ มีการปรับตัวลดลงเช่นกันที่ 1.60 บาทต่อลิตร 
  • ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับ 33.037 ฿/$ ณ สิ้นเดือน ก.ย. 64 เป็น 33.482 ฿/$ ณ สิ้นเดือน ต.ค. 64

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ และแนวทางการดำเนินการของภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหา

  • กระตุ้นเศรษฐกิจในภาคการท่องเที่ยวของประเทศให้กลับมาคึกคักในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวสิ้นปี
  • มาตรการรับมือและแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่างๆ หากไวรัสโควิด 19 สายพันธุ์โอไมครอนระบาด
  • เร่งการกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านการใช้จ่ายของประชาชนภายในประเทศ และส่งเสริมให้ประชาชนเดินทางออกต่างจังหวัดในรูปแบบที่ปลอดภัยช่วงเทศกาล
  • ต้องการให้รัฐดำเนินการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในการเปิดกิจการและมีต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้นจากมาตรการสาธารณสุข
  • มาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน และธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดกิจการมาอย่างยาวนาน

 

#หอการค้า #หอการค้าไทย #สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย #ภาคเอกชน #โควิด-19 #วิกฤตโควิด 19 ผลกระทบ #ผลกระทบธุรกิจจากโควิด-19 #บรรเทาผลกระทบโควิด #มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ #มาตรการควบคุมการระบาด #GDP #จีดีพี #เศรษฐกิจไทย

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH