เทคโนโลยี CAV ของไทย, สวทช, Autonomous Vehicles, Autonomous Driving, Self-Driving Car, กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

กรมวิทยาศาสตร์บริการ จับมือ TusPark Thailand จัดสัมมนาขับเคลื่อน CAV สู่การใช้งานจริง

อัปเดตล่าสุด 29 ก.ย. 2566
  • Share :
  • 588 Reads   

กรมวิทยาศาสตร์บริการ จับมือ TusPark Thailand จัดสัมมนาความร่วมมือ ไทย-จีน พัฒนาเทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติและหุ่นยนต์ มุ่งสร้างมาตรฐานการทดสอบพร้อมขับเคลื่อนเทคโนโลยี CAV สู่การใช้งานจริง   

เมื่อวันที่ 25 และ 26 กันยายน 2566 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ร่วมมือกับ TusPark Thailand จัดกิจกรรม “ประชุมสัมมนาวิชาการความร่วมมือไทย-จีน ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติและหุ่นยนต์ 2566: มาตรฐานการทดสอบและการขับเคลื่อนสู่การใช้งานจริงของยานยนต์อัตโนมัติไร้คนขับ” โดยได้รับเกียรติจาก ดร.นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ เป็นประธานเปิดงาน ณ โรงแรม Graph Hotel เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ และเยี่ยมชมดูงาน ศูนย์ทดสอบยานยนต์เชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติ (T-CAVs) ณ EECi วังจันทร์วัลเลย์ อ.วังจันทร์ จ.ระยอง เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระบบโครงสร้างพื้นฐานการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมยานยนต์อัตโนมัติของเซินเจิ้น Smart city และความพร้อมในการขับเคลื่อนเทคโนโลยี CAV ของไทยในอนาคต

ดร.นพ.ปฐมฯ อธิบดี วศ. เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2566 วศ. พร้อมด้วย TusPark Thailand และ Shenzhen Automatic Driving Intelligence Research Center (ADIRC) ฝ่ายสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ลงนามในรายงานการประชุมข้อตกลงความร่วมมือ ไทย-จีน ด้านการพัฒนาโครงการนวัตกรรมประเทศไทย โดยมีข้อตกลงความร่วมมือกันในด้านการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีอัจฉริยะร่วมกัน ไทย-จีน ด้านการเชื่อมต่ออัจฉริยะ การขับขี่ยานยนต์สมัยใหม่ Internet of Things (IoT) หุ่นยนต์อัจฉริยะ เทคโนโลยีดิจิตอล ด้านการส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีอัจฉริยะโดยพัฒนาระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนและรองรับการเติบโตของการขับขี่อัจฉริยะ และด้านส่งเสริมการพัฒนาสนามทดสอบยานยนต์ไร้คนขับ (Cav Proving Ground) ของ วศ. เพื่อการให้บริการทดสอบคุณภาพรวมถึงการวิจัยด้านเทคโนโลยีขับขี่อัจฉริยะทั้งไทยและจีนได้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งทั้ง 3 หน่วยงาน ผนึกกำลังร่วมกันนำมาสู่การจัดประชุม “สัมมนาวิชาการความร่วมมือไทย-จีน ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติและหุ่นยนต์ 2566: มาตรฐานการทดสอบและการขับเคลื่อนสู่การใช้งานจริงของยานยนต์อัตโนมัติไร้คนขับ” ในครั้งนี้

ด้าน ดร.กนิษฐ์ ตะปะสา ผู้อำนวยการกองวัสดุวิศวกรรม วศ. กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมสัมมนาฯ ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ในการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และแนวคิดในการพัฒนาเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสู่การนำเทคโนโลยียานยนต์อัตโนมัติไร้คนขับมาใช้งานได้จริงอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคตอันใกล้ โดยวันที่ 25 กันยายน 2566 เป็นการสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผู้ทรงคุณวุฒิด้านเทคโนโลยียานยนต์อัตโนมัติทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายจีน ร่วมบรรยายในประเด็นที่ครอบคลุมทั้งในเรื่องของเทคโนโลยีของตัวรถ มาตรฐานและการทดสอบ ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องพัฒนาเพื่อรองรับกับการนำยานยนต์อัตโนมัติมาใช้งานจริงบนถนน เราโชคดีที่ได้มีโอกาสเรียนรู้ประสบการณ์ตรงจากผู้ทรงคุณวุฒิและเจ้าหน้าที่ของเมืองเซินเจิ้น สาธารณรัฐประชาชนจีน มาถ่ายทอดความสำเร็จของเมืองเซินเจิ้น smart city  นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมเสวนาหัวข้อ “การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศไทย” เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากมุมมองผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภาครัฐและภาคเอกชนทั้งไทยและจีน ใช้เป็นแนวทางในการวางแผนขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาและนำ CAV มาใช้ในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม  ซึ่งกิจกรรมประชุมสัมมนาฯ ดังกล่าว วศ.อว. และ TusPark Thailand  ร่วมดำเนินการทั้ง Onsite และแบบ “เรียลไทม์ออนไลน์ลิงค์ หนึ่งงานสัมมนาฯ สองสถานที่ประชุม” คือ จัดพร้อมกันทั้งที่กรุงเทพฯ - เซินเจิ้น ได้รับความสนใจจากกลุ่มเป้าหมายกว่า 200 คน ดร.กนิษฐ์ฯ กล่าว

สำหรับวันที่ 26 กันยายน 2566 ผู้ร่วมสัมมนาทั้งสองฝ่ายและสื่อมวลชน ได้เดินทางไปเยี่ยมชมศูนย์ทดสอบยานยนต์เชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติ (T-CAVs) ของ วศ.อว. บนพื้นที่ 26 ไร่ ณ EECi วังจันทร์วัลเลย์ อ.วังจันทร์ จ.ระยอง โดยมี ดร.ปาษาณ กุลวานิช นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ หัวหน้าโครงการพัฒนาสนามทดสอบยานยนต์ CAV Proving Ground ของ วศ. พร้อมทีมงานผู้วิจัย ได้สาธิตการทดสอบแสดงการทำงานของรถอัตโนมัติบนสนามทดสอบฯ ดังกล่าว ทั้งนี้ วศ. เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทและภารกิจในการให้บริการด้านปฏิบัติการวิทยาศาสตร์เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมไทย รวมถึงการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยกลไกการตรวจสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ และการวิจัยพัฒนานวัตกรรม ซึ่งในปัจจุบัน วศ. ได้พัฒนาศักยภาพในการให้บริการทดสอบยานยนต์สมัยใหม่ไร้คนขับ รวมถึงการทดสอบด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ดังนั้น การแสวงความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรของประเทศต่างๆ และไทย-จีน ถือเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีกันมาอย่างยาวนาน และประเทศจีนมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีขั้นสูงอย่างรวดเร็ว จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ วศ. มุ่งหวังสร้างความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นไป

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH