กำหนดมาตรฐาน “หลอดไฟ LED” และ “ยางหล่อดอกซ้ำ” บังคับใช้ 29 มี.ค. และ 5 พ.ค. 65

สมอ. ออกมาตรฐาน “หลอดไฟ LED” และ “ยางหล่อดอกซ้ำ” บังคับใช้ 29 มี.ค. และ 5 พ.ค. 65

อัปเดตล่าสุด 28 มี.ค. 2565
  • Share :
  • 1,418 Reads   

สมอ. ควบคุมหลอดไฟ LED และยางหล่อดอกซ้ำสำหรับรถบรรทุก ต้องได้มาตรฐาน มอก. มีผลบังคับใช้ 29 มีนาคม 2565 และ 5 พฤษภาคม 2565 เตือนผู้ประกอบการทุกราย ก่อนทำ นำเข้า ต้องขออนุญาตจาก สมอ.  

วันที่ 28 มีนาคม 2565 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรม และการคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้าที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้า โดยกำหนดเป็นนโยบายสำคัญและได้มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. ดำเนินการ เนื่องจากเป็นหน่วยงานหลักที่ดำเนินงานด้านการมาตรฐานของประเทศ ทั้งการกำหนดมาตรฐาน การควบคุมและกำกับติดตามการจำหน่ายสินค้าในท้องตลาดให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อความปลอดภัยและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน 

“การดำเนินงานด้านการกำหนดมาตรฐานของ สมอ. มีบทบาทสำคัญโดยเฉพาะการคุ้มครองประชาชนที่ต้องได้รับการดูแลด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพัฒนาควบคู่กันไป เพื่อให้การขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมของประเทศ สามารถแข่งขันทางการค้าได้อย่างยั่งยืนและเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน ซึ่งผมได้กำชับกับสมอ. ให้เร่งรัดดำเนินการ โดยเฉพาะมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของประชาชนให้ประกาศเป็นสินค้าควบคุมเป็นอันดับแรก” นายสุริยะฯ กล่าว

ด้าน นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า สมอ. ดำเนินงานตามนโยบายท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมอย่างเคร่งครัด โดยประกาศควบคุมสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนแล้วจำนวน 127 รายการ รวมถึงสินค้า 3 รายการ ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้เร็วๆ นี้ ได้แก่ หลอดแอลอีดีเปลี่ยนทดแทนขั้วคู่  มอก.2779-2562  และหลอดแอลอีดีมีบัลลาสต์ในตัว มอก.2780-2562 จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 29 มีนาคม 2565 และยางหล่อดอกซ้ำสำหรับรถบรรทุก รถบัส และรถพ่วง มอก.2979-2562 จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2565 นี้ด้วย 

ซึ่งผู้ประกอบการทุกรายที่จะทำ หรือนำเข้าสินค้าดังกล่าว ต้องได้รับอนุญาตจาก สมอ. ก่อน เพื่อดำเนินการตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัย โดยสินค้าทุกชิ้นจะต้องแสดงเครื่องหมายมาตรฐานบังคับ คู่กับ QR code  เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบข้อมูลผู้รับใบอนุญาตได้ หากฝ่าฝืนจะมีโทษตามกฎหมาย ผู้ทำหรือนำเข้าโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน  2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จำหน่ายสินค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  และแสดงเครื่องหมายมาตรฐานโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

เลขาธิการ สมอ. กล่าวต่อว่า มาตรฐานหลอดแอลอีดีเปลี่ยนทดแทนขั้วคู่  ซึ่งโดยทั่วไปอาจเรียกว่า หลอดแอลอีดีชนิด T5, T8  หรือ หลอดแอลอีดีแบบยาว จะควบคุมเรื่องความปลอดภัยในขณะใช้งาน เพื่อป้องกันไฟรั่ว  ไฟดูด ควบคุมอุณหภูมิของขั้วหลอดในภาวะไฟฟ้าวิกฤติ และการติดไฟ เป็นต้น ขณะนี้มีผู้ยื่นขออนุญาตแล้วจำนวน 3 ราย เป็นผู้ทำ 1 ราย ผู้นำเข้า 2 ราย  

ส่วนมาตรฐานหลอดแอลอีดีมีบัลลาสต์ในตัว เช่น หลอดแอลอีดีแบบขั้วเกลียว จะควบคุมเรื่องความปลอดภัยในขณะใช้งาน เพื่อป้องกันไฟรั่ว ไฟดูด ความแข็งแรงของเกลียวหมุน การทนความร้อนได้ ซึ่งมีผู้ยื่นขออนุญาตแล้วจำนวน 7 ราย เป็นผู้ทำ 1 ราย  และผู้นำเข้า 6 ราย  

สำหรับมาตรฐานยางหล่อดอกซ้ำ จะมีผลบังคับใช้วันที่ 5 พฤษภาคม 2565 เนื่องจากมีการนำยางล้อแบบสูบลมของรถบรรทุก รถบัส และรถพ่วง นำกลับมาหล่อดอกยางใหม่แล้ววางขายในท้องตลาด ซึ่งมีราคาถูกกว่ายางใหม่ค่อนข้างมาก จึงอาจเกิดความไม่ปลอดภัยต่อประชาชนในการนำไปใช้งาน แต่หลังจากที่ สมอ. ประกาศเป็นสินค้าควบคุมแล้ว ยางหล่อดอกซ้ำเหล่านี้ต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยตามมาตรฐาน มอก. ก่อนนำมาวางจำหน่าย โดยจะต้องผ่านการทดสอบความทนทานของยางล้อ ทดสอบสมรรถนะในการรับน้ำหนัก และความสามารถในการทำความเร็วได้ตามความเร็วสูงสุดที่ระบุในแต่ละประเภท ซึ่งมาตรฐานฉบับนี้สอดคล้องกับข้อกำหนดทางเทคนิคยานยนต์ของสหประชาชาติ (UN Regulation No. 109) ครอบคลุมเฉพาะยางล้อสูบลมหล่อดอกซ้ำที่ถูกออกแบบสำหรับรถยนต์ 5 ประเภท ได้แก่

1. รถยนต์สำหรับขนส่งผู้โดยสาร มีที่นั่งมากกว่า 8 ที่นั่ง ไม่รวมคนขับ และมีน้ำหนักไม่เกิน 5 ตัน
2. รถยนต์สำหรับขนส่งผู้โดยสาร มีที่นั่งมากกว่า 8 ที่นั่ง ไม่รวมคนขับ และมีน้ำหนักมากกว่า 5 ตัน
3. รถยนต์สี่ล้อขึ้นไปและใช้สำหรับขนส่งสินค้า
4. รถพ่วงที่มีน้ำหนักมากกว่า 3.5 ตัน แต่ไม่เกิน 10 ตัน
5. รถพ่วงที่มีน้ำหนักมากกว่า 10 ตัน

ขณะนี้มีผู้ทำในประเทศยื่นขออนุญาตแล้วจำนวน 20 ราย สมอ. จึงขอแจ้งไปยังผู้ประกอบการที่ทำสินค้าดังกล่าว ให้เตรียมตัวดำเนินการตามมาตรฐาน ทั้งที่ทำในประเทศ และนำเข้า เพราะท่านจะต้องขออนุญาตจาก สมอ. ก่อนทำหรือนำเข้า พร้อมทั้งให้เตรียมตัวยื่นขอใบอนุญาตก่อนวันที่มาตรฐานจะมีผลบังคับใช้ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถติดต่อได้ที่ สมอ. หรือจะยื่นขอ มอก. ออนไลน์ผ่านระบบ E-license ได้ที่ https://itisi.go.th/e-license/ ตลอด 24 ชั่วโมง” เลขาธิการ สมอ. กล่าวทิ้งท้าย

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH