หัวรถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ การรถไฟแห่งประเทศไทย, รถไฟไทย, โปรเจกต์รถไฟไทย

เปิดทดสอบ "รถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่" รถต้นแบบคันแรกของไทย

อัปเดตล่าสุด 12 ม.ค. 2566
  • Share :
  • 1,823 Reads   

การรถไฟฯ ผนึกหน่วยงานรัฐ-เอกชน ทดสอบใช้งานรถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ รถต้นแบบคันแรกของไทยในการพัฒนารถไฟระบบ EV on Train เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เตรียมใช้ลากจูงรถโดยสาร-รถสินค้า

วันที่ 11 มกราคม 2566 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีทดสอบการใช้งานรถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ รถต้นแบบคันแรกในการพัฒนารถไฟระบบ EV on Train ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และบริษัท พลังงานบริสุทธ์ จำกัด (มหาชน) โดยมีนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย รศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สจล. พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงคมนาคม หน่วยงานภาครัฐภาคเอกชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมพิธีฯ ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เขตจตุจักร กรุงเทพฯ

นายศักดิ์สยาม เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายส่งเสริมยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) เพื่อให้ประเทศไทยสามารถลดก๊าซเรือนกระจกลงได้ ร้อยละ 20 - 25 ภายในปี พ.ศ. 2573 โดยมุ่งเน้นส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แทนน้ำมันเชื้อเพลิงในระบบขนส่งของประเทศ รวมทั้ง "นวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า" หรืออุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-generation Automotive) ซึ่งเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลให้การส่งเสริม 

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า กระทรวงคมนาคม จึงมีนโยบายสนับสนุนให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย เพื่อลดมลพิษ และบรรเทาภาวะโลกร้อน โดยมอบหมายให้การรถไฟฯ ดำเนินการศึกษาการใช้เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าสำหรับการขนส่งสาธารณะ กรณีรถไฟขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า (EV on Train) ให้มีการใช้หัวรถจักรพลังงานไฟฟ้า ซึ่งได้ร่วมมือกับ สจล., และเอกชน จนเกิดรถต้นแบบคันแรกในการพัฒนารถไฟระบบ EV on Train นับเป็นข่าวดีที่ประเทศไทยสามารถประกอบติดตั้งระบบแบตเตอรี่สำหรับรถไฟที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าเองได้ อย่างไรก็ตามการทดสอบในวันนี้ ได้ใช้รถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ลากจูงขบวนรถโดยสารขึ้นมาบนสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ถือว่าประสบความสำเร็จเรียบร้อยดี ซึ่งการรถไฟฯ จะพิจารณานำไปลากจูงรถโดยสาร และรถสินค้าในโอกาสต่อไป

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การทดสอบการใช้งานรถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ รถต้นแบบคันแรกในการพัฒนารถไฟระบบ EV on Train เพื่อใช้ในระบบสับเปลี่ยนขบวน (Shunting) เป็นไปตามนโยบายขับเคลื่อนการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะด้วยการนำเทคโนโลยียานยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (EV) แทนที่ยานยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของกระทรวงคมนาคม รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งในแผนการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพ การให้บริการ และสร้างรายได้ของการรถไฟฯ ถือเป็นรถจักรพลังงานไฟฟ้ารุ่นใหม่ คุณภาพสูง ที่ผลิตโดยคนไทย 

ในระยะแรกการรถไฟฯ จะนำรถจักรดังกล่าวมาใช้ลากเป็นบริการรถสับเปลี่ยน (Shunting) ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อลดมลพิษในอาคารสถานีชั้นที่ 2 จากขบวนรถโดยสารทางไกล ที่ยังเป็นรถไฟดีเซล ซึ่งจากผลการทดสอบ ของ รฟท. สามารถลากขบวนรถจากย่านสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ไปที่ชานชาลาสถานีที่ชั้น 2 ได้จำนวน 12 เที่ยว ต่อการชาร์จ  1 ครั้ง ระยะเวลาการชาร์จจนแบตเตอรี่เต็มประมาณ  1 ชั่วโมง  จากนั้นในระยะต่อไป จะทดลองวิ่งในระยะทางใกล้ เช่น ขบวนรถโดยสารชานเมือง ระยะทางประมาณ 30 – 50 กิโลเมตร และระยะทางที่ไกลมากขึ้น เช่น ขบวนรถข้ามจังหวัด ระยะทางประมาณ 100 - 200 กิโลเมตร และขบวนรถขนส่งสินค้า จาก ICD ลาดกระบัง ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง เป็นต้น

ขณะนี้จุดชาร์จแบตเตอรี่ไฟฟ้าดำเนินการติดตั้งที่บริเวณย่านบางซื่อ และในอนาคตมีแผนจะติดตั้งจุดชาร์จแบตเตอร์รี่ไฟฟ้าที่สถานีอื่นๆ เพิ่ม เพื่อชาร์จไฟตามแนวเส้นทางรถไฟต่อไป รองรับการใช้หัวรถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ที่จะพ่วงไปกับขบวนรถโดยสาร อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ได้ทำการทดสอบลากจูงขบวนรถในระยะใกล้ เส้นทาง วิหารแดง - องครักษ์ (ไป-กลับ) ระยะทาง 100 กิโลเมตร มาแล้ว นอกจากนี้ยังได้ทดสอบวิ่งรถจักร Battery ตัวเปล่าคันเดียว รวมทั้งการลากขบวนรถโดยสารขึ้น และลงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ โดยใช้ความเร็วตลอดการทดสอบเฉลี่ย 25 กิโลเมตร(กม.)ต่อชั่วโมง(ชม.) ซึ่งเป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี 

สำหรับจุดเด่นของรถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ดังกล่าว ได้ถูกออกแบบ และผลิตด้วยเทคโนโลยีทันสมัย และในอนาคตหากจะใช้งานด้วยนวัตกรรมระบบชาร์จ Ultra Fast Charge ในเวลา 1 ชั่วโมง (ชม.) ในระยะแรก และ Battery Swapping Station เพื่อการสลับเปลี่ยนแบตเตอรี่ในเวลาไม่เกิน 10 นาที เพื่อลดเวลาการรอชาร์จ และนำมาขยายผลใช้งานในระบบขนส่งได้จริง ถือเป็นก้าวแรกของการรถไฟฯ ในการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ในการทดสอบรถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ รถต้นแบบคันแรกในการพัฒนารถไฟระบบ EV on Train นับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของประเทศไทยที่ก่อให้เกิดนวัตกรรม และเทคโนโลยีของคนไทยที่ทัดเทียมกับนานาชาติได้อย่างก้าวกระโดด เป็นเทคโนโลยี Zero emission ไม่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลด carbon footprint สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของรัฐบาลในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Asian Logistics Hub  และตอบสนองนโยบาย Thai First ของรัฐบาลที่มุ่งส่งเสริมการผลิต ทดสอบ ประกอบยานยนต์ โดยใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตได้ในประเทศ

ทั้งนี้ การรถไฟฯ มั่นใจว่ารถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ดังกล่าว เป็นก้าวสำคัญที่จะพลิกโฉมการให้บริการรถไฟไทย ช่วยยกระดับการเดินทาง และการขนส่งทางราง ให้เป็นรูปแบบการคมนาคมหลักของประเทศ เป็นระบบรางไร้มลพิษ ประหยัดพลังงาน ลดต้นทุนขนส่งไทย ที่มุ่งสู่ความยั่งยืนทางด้านพลังงาน และสิ่งแวดล้อม รวมถึงประชาชนชาวไทย จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จะได้รับการให้บริการด้วยรถไฟฟ้าที่มีความสั่นสะเทือนน้อยลง มีความสะดวกสบาย และมีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น เปิดโลกอนาคตของรถไฟยุคใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH