วิกฤตชิปขาดตลาด โรงงานเซมิคอนดักเตอร์

ชิปขาดตลาดเป็นเหตุ แจ้งเกิดโรงงานผลิต Semiconductor ทั่วโลกเฉียด 30 แห่ง

อัปเดตล่าสุด 7 ก.ค. 2564
  • Share :
  • 6,721 Reads   

“ชิปขาดแคลน” หนึ่งในวิกฤตที่สร้างผลกระทบต่อหลายอุตสาหกรรมทั่วโลก และกำลังถูกจับตามอง พร้อมรอคอยการแก้ปัญหาระยะยาวที่ต้องอาศัยเม็ดเงินลงทุนในการสร้างโรงงานแห่งใหม่

  • ฟรี ทดลองวัดชิ้นงานอะไหล่ วัดทุกจุดใน 3 วินาที ด้วยเครื่องดิจิตอลโปรไฟล์โปรเจคเตอร์ Keyence คลิกเลย
Advertisement

ผู้ผลิตเบอร์ต้น คว้าโอกาสน้ำขึ้น ผุดโรงงานใหม่ปีนี้

TSMC ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์อันดับ 1 ในตลาดโลก ประกาศสร้างโรงงานแห่งใหม่ที่รัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา ด้วยเงินลงทุน 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยรอยเตอร์รายงานว่า ทางบริษัทมีแผนสร้างโรงงานในแอริโซนารวมทั้งหมด 6 แห่งในอีก 10-15 ปีข้างหน้านี้ ในขณะรายงานจากบลูมเบิร์กเปิดเผยว่า TSMC มีแผนจ้างพนักงานหลายร้อยตำแหน่งสำหรับโรงงานใหม่เหล่านี้ นอกจากนี้ยังมีการประกาศสร้างศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงในประเทศญี่ปุ่น และมีแผนสร้างโรงงานภายในปี 2025 อีกด้วย 

Samsung ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์อันดับ 2 ยังไม่มีประกาศอย่างเป็นทางการ แต่มีรายงานจากหนังสือพิมพ์เกาหลีใต้และรอยเตอร์ว่ามีแผนสร้างโรงงานใหม่ในสหรัฐฯ ภายในไตรมาสที่ 3 ปี 2021 นี้

UMC ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์อันดับ 3 ยังไม่มีประกาศสร้างโรงงานใหม่ แต่มีการยืนยันว่าจะขยายโรงงานเดิมทางตอนไต้ของไต้หวันภายใต้เงินลงทุนราว 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

GlobalFoundries ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์อันดับ 4 มีแผนสร้างโรงงานใหม่ที่สิงคโปร์ 1 โรงงาน ภายใต้งบประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อทดแทนกับโรงงานเดิมที่ย้ายออกจากจีน

SMIC ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์อันดับ 5 รายงานว่ามีแผนสร้างโรงงานใหม่ในจีน 1 โรงงาน โดยได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลจีนรวม 2.35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อยกระดับกำลังการผลิตให้สามารถตอบโต้กับสหรัฐฯ ในสงครามการค้าได้

นอกจากนี้ ผู้ผลิตชิปรายใหญ่อย่าง Intel ก็มีรายงานว่าจะสร้างโรงงานผลิตชิปเพิ่มอีก 2 แห่งเช่นเดียวกัน

 

SEMI คาดทั่วโลกแจ้งเกิด 29 โรงงานผลิต Semiconductor ภายในปี 2022

เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์นานาชาติ หรือ SEMI คาดการณ์ว่า วิกฤตชิปขาดตลาด จะนำไปสู่การเร่งสร้างโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ High-Volume Fabs จำนวน 19 โรงงานภายในสิ้นปี 2021 และอีก 10 โรงงานในสิ้นปี 2022 เพื่อตอบสนองต่อความต้องการชิปในอุตสาหกรรมยานยนต์, คอมพิวเตอร์, การสื่อสาร, การแพทย์, และบริการออนไลน์

Ajit Manocha ประธานสมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์นานาชาติ คาดการณ์ว่า การสร้างโรงงาน 29 แห่งจะมีมูลค่าการลงทุน 1.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเป็นการตอบสนองต่อวิกฤตขาดแคลนชิปทั่วโลก และปริมาณความต้องการชิปเซมิคอนดักเตอร์ที่พุ่งสูงอย่างต่อเนื่องในหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะความต้องการใหม่จากการนำไปใช้งานในยานยนต์อัตโนมัติ, ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI), คอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูง, และการสื่อสารแบบ 5G และ 6G

สมาคมฯ คาดการณ์ว่า ผู้นำในการสร้างโรงงานผลิตเซมิคอนดัคเตอร์จะเป็นจีนและไต้หวัน ตามด้วยอเมริกา ยุโรปและตะวันออกกลาง ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ตามลำดับ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • จีน 8 โรงงาน
  • ไต้หวัน 8 โรงงาน
  • อเมริกา 6 โรงงาน
  • ยุโรปและตะวันออกกลาง 3 โรงงาน
  • ญี่ปุ่น 2 โรงงาน
  • เกาหลี 2 โรงงาน

โดยคาดว่า โรงงานเหล่านี้จะถูกใช้ในการผลิตเวเฟอร์ (Wafer) ขนาด 300mm 22 โรงงาน ส่วนอีก 7 โรงงานที่เหลือจะถูกใช้ในการผลิตเวเฟอร์เซมิคอนดักเตอร์ขนาด  100mm, 150mm, และ 200mm ซึ่งจะมีกำลังผลิตรวมเทียบเท่าเวเฟอร์ขนาด 200mm เดือนละ 2.6 ล้านหน่วย

“ไทย” อยากได้ “โรงงานผลิตชิป” เข้ามาลงทุน

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นว่าไม่มีประเทศไทยในแผนลงทุนนี้ แม้ว่า มติบอร์ดบีโอไอล่าสุดเมื่อ 30 มิถุนายน 2564 ได้ปรับปรุงเพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมต้นน้ำของอิเล็กทรอนิกส์ เช่น อุตสาหกรรมการผลิตเวเฟอร์ที่ใช้เงินลงทุนสูง และใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และแผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) อุตสาหกรรม PCBA

นอกเหนือจากการมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนแล้ว การตั้งโรงงานผลิตชิปยังต้องมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่พร้อมเกื้อหนุน สิ่งที่ประเทศไทยคาดหวัง คงเป็นไปได้ยากหากเราไม่ได้จริงจังกับการตั้งเป้าหมายและทำให้สำเร็จ


#Semiconductor ขาดตลาด #ทำไมชิปขาดตลาด #วิกฤตชิปขาดแคลน #วิกฤตชิปขาดตลาด #ผลกระทบ ชิปขาดแคลน #ผลกระทบ ชิปขาดตลาด #อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย 2021 #Chip Shortage 2021 #Semiconductor Shortage 2021#ชิปขาดตลาด #ชิปขาดแคลน #ผู้ผลิตชิป #TSMC #Samsung Electronics #Intel #โรงงานผลิตชิปวงจรรวม #ปัญหาการขาดแคลนชิปวงจรรวมในตลาดโลก #ชิปวงจรรวม ขึ้นราคา #อุตสาหกรรมชิปวงจรรวม#วงในอุตสาหกรรม #ข่าวอุตสาหกรรม #Mreport #M Report #mreportth

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH