316-อุตสาหกรรมรถยนต์-ลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์-ชิ้นส่วนยานยนต์-โควิด

จี้รัฐฟื้นอุตสาหกรรมรถยนต์ ชงลด “ภาษีสรรพสามิต” 10%

อัปเดตล่าสุด 13 พ.ค. 2563
  • Share :
  • 879 Reads   

สภาอุตฯจี้รัฐบาลอัดมาตรการระยะยาวฟื้นดีมานด์รถยนต์ต่อเนื่อง 3 ปี “ลดภาษีชิ้นส่วนนำเข้า-ภาษีสรรพสามิต” หลัง 630 โรงงานชิ้นส่วนยานยนต์ระส่ำพิษโควิด คาดทั้งปีตลาดติดลบ23% ห่วงภัยแล้งทุบกำลังซื้อฉุดยอดขายรถยนต์ซึมยาวครึ่งปีไม่ฟื้นทั้งตลาดภายใน-ตลาดส่งออกชี้กลุ่ม OEM หนักสุดทำอะไหล่ทดแทนพอไปได้

นายกรกฤช จุฬางกูร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และเลขาธิการสมาคมชิ้นส่วนยานยนต์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ภาพรวมของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนทั้งปีนี้ คาดว่าจะลดลง 23% จากข้อมูลคาดการณ์การผลิตยานยนต์ทั้งปี ไม่ถึงเป้าหมาย 1.9 ล้านคัน

โดยในยอดการผลิตยานยนต์เดือน พ.ค.ติดลบ 50-70% และโดยเฉพาะผู้ส่งออกอาจจะลดลงถึง 70-75% ซึ่งคาดว่าหลังจากไตรมาส 2 ประมาณเดือนกรกฎาคม น่าจะเห็นภาพชัดเจนว่าลดลงต่อเนื่องจากไตรมาส 1 ที่ปรับตัวลดลงไปแล้ว 19.2% ซึ่งเป็นการส่งออก ติดลบ 17.78% และการขายภายในประเทศลดลง 35.32%

“ผลจากการผลิตลดลง ทำให้แต่ละบริษัทต้องปรับตัววางแผนการผลิตและสต๊อกวัตถุดิบ ปัจจุบันกลุ่มชิ้นส่วนมีสมาชิกประมาณ 632 ราย จะมีทั้งผู้ที่รับจ้างผลิต (OEM) ให้กับผู้ผลิตยานยนต์และส่งออก ซึ่งจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าผู้ที่ทำ OEM อย่างเดียว เพราะช่วงเมษายนยังมียอดการส่งออกรถยนต์เข้ามาบ้าง

“ขณะที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนสำหรับเป็นอะไหล่และอุปกรณ์แต่งรถ (REM) จะได้ผลกระทบน้อยกว่ากลุ่ม OEM เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจแบบนี้จะทำให้ผู้บริโภคชะลอการซื้อรถยนต์ใหม่ และหันไปซื้อชิ้นส่วนมาซ่อมแซมรถยนต์คันเก่าแทน

“กลุ่มนี้จะมียอดขายเพิ่ม 10-20% ซึ่งแต่ละบริษัทจะต้องวางแผนการสต๊อกลอว์แมทีเรียลที่ต้องนำเข้าอย่างเหล็ก ที่ตอนนี้เราเห็นคำสั่งซื้อเดือน พ.ค.ก็เริ่มวางแผนสต๊อก 2-3 เดือนข้างหน้าไว้ ส่วนเม็ดพลาสติกเราสามารถหาในประเทศได้ โดยจะพยายามรักษาพนักงานประจำไว้ให้ได้มากที่สุด”

สำหรับทิศทางตลาดยานยนต์ในประเทศภายหลังจากการกลับมาเปิดธุรกิจใหม่ ระยะแรก เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้ความมั่นใจเพิ่มขึ้น โดยหากมองส่วนของตลาดในประเทศ ยอดขายส่วนใหญ่จะเป็นรถปิกอัพ กลุ่มผู้ซื้อคือเกษตรกร ซึ่งในปีนี้ประสบปัญหาภัยแล้งอีกปัจจัยหนึ่งที่อาจจะทำให้กำลังซื้อชะลอตัวลง เพิ่มจากปัจจัยเรื่องโควิด-19

ขณะที่ตลาดส่งออกในบางประเทศเริ่มฟื้นตัวได้ดีขึ้น เช่น จีนดีขึ้น ญี่ปุ่นและเกาหลียังทรงตัว และตลาดหลักทั้งสหรัฐ และออสเตรเลียยังกระทบหนัก ไม่มีทีท่าชัดเจนว่าจะดีขึ้น เราจึงหวังว่าตลาดในประเทศจะมาช่วย แต่ก็ติดปัญหาแล้งอีก

กรกฤช จุฬางกูร

“หากมีการจัดโปรโมชั่นหรือมีมาตรการกระตุ้นการซื้อรถอย่างโครงการรถยนต์คันแรกออกมา มองว่าจะเป็นเพียงมาตรการกระตุ้นระยะสั้นเท่านั้น จังหวะตลาดตอนนี้กับตอนที่ใช้โครงการรถยนต์คันแรกแตกต่างกัน ตอนนั้นตลาดรถยนต์ดี การใช้มาตรการรถคันแรกก็มาช่วยเสริม แต่ตอนนี้ดีมานด์ไม่มี หากใช้มาตรการนี้เท่ากับเป็นการไปดึงดีมานด์ของปีหน้ามาใช้ ซึ่งจะไม่ยั่งยืน หากปีนี้ดี ปีหน้าก็แย่

“ดังนั้นมาตรการที่จะออกมาควรมุ่งส่งเสริมกระตุ้นตลาดระยะยาวอย่างน้อย 3 ปี เช่น การลดภาษีสรรพสามิตลงอีก 10% ทำให้ราคาขายปลีกรถยนต์ต่ำลงก็จูงใจการซื้อ หรือการลดภาษีนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อมาประกอบลง จากปัจจุบันที่เก็บอยู่ 10% ก็จะเป็นการช่วยผู้ผลิตได้ ซึ่งมาตรการต่าง ๆ ทางกลุ่มได้นำเสนอต่อ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ไปแล้ว”

นอกจากนี้ ยังขอให้ภาครัฐให้ความชัดเจนเรื่องการจ่ายชดเชยค่าแรงงานให้ลูกจ้างประกันสังคม 62% สำหรับโรงงานที่อาจหยุดบางส่วน หรือหยุดเพียงแค่ไม่ถึงเดือน เพื่อให้เกิดความชัดเจน สำหรับมาตรการที่ได้เสนอผ่านทาง ส.อ.ท. ได้รวบรวมนำเสนอต่อภาครัฐไปแล้ว ประกอบด้วย

1) มาตรการด้านประกันสังคม/กองทุน/และแรงงาน อาทิ การลดเงินสมทบประกันสังคมนายจ้างจาก 4% เหลือ 1% การนำค่าใช้จ่ายด้านค่าจ้างงานในช่วงโควิด มาหักลดภาษี 3 เท่า 3 เดือน คงกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไว้ แม้ว่านายจ้างหรือลูกจ้างจะหยุดส่งอนุญาตให้จ้างงานเป็นรายชั่วโมง ผ่อนผันการต่ออายุใบอนุญาตแรงงานต่างชาติ 6 เดือน การช่วยเหลือแรงงานที่เงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท และการชดเชยกรณีเลิกจ้าง

2) มาตรการด้านภาษี อาทิ ปรับภาษีหัก ณ ที่จ่าย เป็นอัตราเดียวตลอดปี ขยายการลดหย่อนภาษีการกุศลของนิติบุคคล ให้เอกชนผู้เช่าสถานที่นำส่วนลดค่าเช่าและค่าบริการมาลดหย่อนได้ 3 เท่า เป็นต้น

3) มาตรการด้านสาธารณูปโภค/ที่ดิน เช่น ลดค่าเอฟที เลื่อนการจ่ายค่าน้ำ-ไฟไปอีก 4 เดือน ลดค่าจดจำนองที่ดิน การยกเลิกค่า demand charge ไปถึงสิ้นปี เป็นต้น

4) มาตรการด้านการเงิน อาทิ สินเชื่อเสริมสภาพคล่องขอให้ บสย.ค้ำประกัน 80% ขอให้ธนาคารพาณิชย์ลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มจาก 0.4% เป็น 1% และพิจารณาประวัติการผิดนัดชำระจาก 3 ปี เหลือ 1 ปี เป็นต้น

5) มาตรการด้านอื่น ๆ อาทิ การจัดสรรงบประมาณจัดซื้อสินค้าเมดอินไทยแลนด์ การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณรัฐ การขยายสัญญาจัดจ้างออกไป 4 เดือน เลื่อนการใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีหลังแม้ว่าตลาดยังไม่มีสัญญาณการฟื้น แต่ก็จะยังเห็นภาพการลงทุนโมเดลใหม่ ตามแผนการผลิตที่วางไว้ ซึ่งเท่าที่มีการคุยกันในวงการ เพราะแต่ละรายมองว่าสถานการณ์น่าจะเริ่มคลี่คลายปีนี้ และโดยปกติการผลิตนิวโมเดลจะต้องวางแผนการผลิตล่วงหน้า 9-12 เดือน กว่าจะมีการผลิตจริงแบบ mass production ได้จริง ดังนั้นจึงยังดำเนินการตามแผนเดิมส่วนใหญ่ ยกเว้นบางรายที่แผนทำ mass production ในปีนี้ก็อาจจะชะลอออกไป เพราะไม่ใช่จังหวะที่เหมาะสม

ส่วนปัจจัยจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนรอบใหม่น่าจะเป็นผลพลอยได้กับไทย อาจมีการย้ายฐานการผลิตจากจีนมาที่ไทย เพราะโรงงานที่จีนส่งออกไปสหรัฐ 80-90% หากสหรัฐขึ้นภาษีก็จะกระทบต่อการส่งออก ซึ่งผู้ผลิตที่ย้ายมา สเต็ปแรกจะเป็นการย้ายมาเฉพาะโรงงานผลิต ไม่มีการดึงซัพพลายเออร์พ่วงมาด้วย และไม่เข้ามาแข่งขันกับตลาดในประเทศแน่นอน จึงไม่กระทบต่อผู้ผลิตในไทย

 

อ่านเพิ่มเติม: