ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้โอกาส "ฮับผลิตชิ้นส่วนยานยนต์" ป้อนอเมริกาและเอเชีย ขยายตลาดส่งออกรถ หากเข้าร่วม CPTPP

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้โอกาส "ฮับผลิตชิ้นส่วนยานยนต์" ป้อนอเมริกาและเอเชีย ขยายตลาดส่งออกรถ หากเข้าร่วม CPTPP

อัปเดตล่าสุด 2 ก.ย. 2563
  • Share :
  • 742 Reads   

หากไทยเข้าร่วม CPTPP อาจขึ้นเป็นฐานผลิตชิ้นส่วนการผลิตรถยนต์ในห่วงโซ่อุปทานของกลุ่มประเทศอเมริกาและเอเชียมากขึ้น โดยภายใน 5 ปี หลังข้อตกลงมีผลบังคับใช้ เพิ่มโอกาสส่งออกรถยนต์มากขึ้นไม่น้อยกว่า 8.5 พันล้านบาท และส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 1.2 หมื่นล้าน ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อการแสดงท่าทีเข้าร่วมเจรจาของไทยไม่ช้าจนเกินไป โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์ถึงเรื่องนี้ว่า

ปัจจุบันค่ายรถยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วน โดยเฉพาะค่ายญี่ปุ่น มีแนวโน้มที่จะปรับรูปแบบกระบวนการผลิตจากเดิมที่เน้นการลดต้นทุนแบบ Lean Production เป็นการผลิตแบบ Agile Supply Chain มากขึ้น เพื่อให้สามารถตอบสนองได้ทันต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเปลี่ยนแปลงไปได้มากขึ้น ส่งผลให้การเลือกหาฐานการผลิตเพื่อรองรับต่อรูปแบบการผลิตใหม่ดังกล่าวมีความสำคัญขึ้นมา และหนึ่งในปัจจัยที่นักลงทุนใช้เลือกประเทศฐานการผลิตรูปแบบใหม่ คือ การมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศฐานผลิตอื่นนอกภูมิภาคมากขึ้น อันจะทำให้การดำเนินงานแบบ Agile Supply Chain เกิด  Economies of Scale ได้ง่ายยิ่งขึ้น 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าการเข้าร่วมเป็นสมาชิกหนึ่งในกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงไปยังตลาดผู้บริโภคหลักของโลก เช่น ตลาดอียู และตลาดอเมริกา เป็นเรื่องสำคัญในการเพิ่มแรงดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ให้ไทยก้าวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานใหม่ โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า ที่เชื่อมโยงเอเชียและตลาดในต่างภูมิภาคให้เข้าหากันมากขึ้น ผ่านการใช้แพลตฟอร์มร่วมที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ การเข้าร่วมกลุ่มการค้าเสรี เช่น CPTPP ซึ่งมีประเทศในทวีปอเมริกาอย่างเม็กซิโกและแคนาดาเป็นสมาชิกด้วยอาจช่วยขยายโอกาสในการลงทุนและส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ของไทยไปยังญี่ปุ่นและเม็กซิโกได้มากขึ้น ผ่านการเชื่อมโยงการค้าที่เข้มข้นขึ้นของทั้ง 2 ทวีป  คือ อเมริกา (เม็กซิโกและแคนาดา) และเอเชีย (ญี่ปุ่น) โดยไทยมีโอกาสจะพัฒนาขึ้นไปเป็นฐานผลิตชิ้นส่วนในห่วงโซ่อุปทานการผลิตรถยนต์ของทั้ง 2 กลุ่มประเทศนี้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อค่ายรถนิยมใช้แพลตฟอร์มร่วมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ ไทยยังมีโอกาสที่จะส่งออกรถยนต์โดยตรงไปเม็กซิโกเพิ่มขึ้นเช่นกัน หลังเม็กซิโกต้องปรับลดภาษีลงจากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 0 ซึ่งคาดว่าหากไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม CPTPP ภายในช่วง 5 ปีหลังข้อตกลงเริ่มมีผลบังคับใช้ ไทยน่าจะมีโอกาสส่งออกรถยนต์ได้มากขึ้นเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 8,500 ล้านบาท และส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ได้เพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 12,000 ล้านบาท ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้จะเกิดได้ก็ต่อเมื่อการแสดงท่าทีของรัฐบาลในการเข้าร่วมเจรจานั้นไม่ล่าช้าจนเกินไป และการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้ายังเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป
 
ขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย


อ่านเพิ่มเติม: