ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม MPI สิงหาคม 2565

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม MPI ปี 2565 เดือน ส.ค. เพิ่มขึ้น 14.52% ยานยนต์-อิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวดีขึ้น

อัปเดตล่าสุด 28 ก.ย. 2565
  • Share :
  • 898 Reads   

ดัชนี MPI ส.ค. 65 อยู่ที่ระดับ 99.28 เพิ่มขึ้น 14.52% (YoY) โดย ยานยนต์ น้ำมันปิโตรเลียม เครื่องปรับอากาศ ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ รถจักรยานยนต์ ปรับตัวสูงกว่าปีก่อน ส่งผลให้ภาพรวมดัชนี MPI 8 เดือนแรก ขยายตัว 2.72% ด้านส่งออกสินค้าอุตฯ โตต่อเนื่องเดือนที่ 21 การบริโภคฟื้นตัวหลังเปิดประเทศ

วันที่ 28 กันยายน 2565 กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนสิงหาคม ปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 14.52 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 9.04 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 21 ประกอบกับสถานการณ์การผลิตกลับมาปรับตัวดีขึ้น ตอบรับรัฐบาลเปิดประเทศช่วยฟื้นการบริโภคในประเทศ อุตสาหกรรมหลักกลับมาขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ จักรยานยนต์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่องจากการบริโภคในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนสิงหาคม 2565 อยู่ที่ 99.28 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.52 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับ 63.78 สำหรับภาพรวมดัชนี MPI 8 เดือนแรกของปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 99.81 ขยายตัวร้อยละ 2.72 โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิต 8 เดือนแรก เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 63.43 จากการที่รัฐบาลเปิดประเทศทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น ส่งผลดีต่อการบริโภคในประเทศปรับตัวดีต่อเนื่อง รวมถึงมีคำสั่งซื้อและเพิ่มการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมากขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าดัชนี MPI หลังจากนี้จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยได้อานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อาทิ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 ที่จะทำให้การบริโภคในประเทศขยายตัว

นายสุริยะกล่าวเพิ่มเติมว่า ภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ขยายตัวตามคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าที่เพิ่มขึ้นและการบริโภคในประเทศที่เพิ่มขึ้นหลังเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนสิงหาคม 2565 ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ จักรยานยนต์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกัน สะท้อนให้เห็นถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว อีกทั้งการอ่อนค่าของเงินบาทส่งผลดีต่อภาคการส่งออก ทำให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 ติดต่อกัน จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงอุตสาหกรรมสำคัญที่ขยายตัว อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมพลาสติก และอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์

โดยมีเพียงอุตสาหกรรมบางกลุ่มปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ประกอบกับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) เดือนสิงหาคม 2565 อยู่ที่ 18,213.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 9.04 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 21 การนำเข้าสินค้าทุน ขยายตัวร้อยละ 5.30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปขยายตัวร้อยละ 5.30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนให้เห็นถึงการเตรียมพร้อมสำหรับการผลิต ขณะที่ภาพรวมสถานการณ์เงินเฟ้อที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมมีทิศทางชะลอตัวลง สะท้อนได้จากดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หมวดสินค้าอุตสาหกรรม เดือนสิงหาคมขยายตัวร้อยละ 8.7 ลดลงจากเดือนกรกฎาคมขยายตัวที่ร้อยละ 10.5

สศอ. ใช้เครื่องมือระบบเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย (The Early Warning System Industry Economics : EWS-IE) คาดการณ์จากดัชนีชี้นำสถานการณ์การผลิตโลก (PMI) พบว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยใน 1-2 เดือนข้างหน้า ปัจจัยภายในประเทศยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ภาคการผลิตขยายตัวต่อเนื่องตามอุปสงค์ในประเทศ ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นจากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ในขณะที่ปัจจัยต่างประเทศเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม เกิดความผันผวนของเศรษฐกิจโลก การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในหลายประเทศ ข้อพิพาทระหว่างประเทศ รวมทั้งประเทศคู่ค้าอยู่ในภาวะไม่ปกติและคำสั่งซื้อชะลอตัวลง ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ที่คาดว่าอาจเกิดเศรษฐกิจถดถอยในปีนี้และต้องเผชิญต่อภาวะขาดแคลนพลังงาน และประเทศจีนที่เศรษฐกิจชะลอตัวจากวิกฤติอสังหาริมทรัพย์และข้อพิพาทระหว่างประเทศในช่องแคบไต้หวัน ส่งผลให้สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศไทยเริ่มส่งสัญญาณไม่ปกติ ทั้งนี้ ต้องจับตาดูสถานการณ์ค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ปัญหาการขาดแคลนชิป ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นของภาคอุตสาหกรรมไทย ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ต่าง ๆ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย นอกเหนือจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของตลาดคู่ค้าส่งออกที่สำคัญของไทย

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตในเดือนสิงหาคม 2565 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่

ยานยนต์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 63.37 จากผลิตภัณฑ์รถบรรทุกปิคอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และเครื่องยนต์ดีเซล เป็นหลัก หลังมีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงในปีก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้โรงงานต้องปิดชั่วคราว และมีการล็อกดาวน์บางพื้นที่

น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 17.60 จากผลิตภัณฑ์น้ำมันดีเซล น้ำมันเครื่องบิน และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ เป็นหลัก หลังการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเต็มรูปแบบ และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 

เครื่องปรับอากาศ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 54.62 ตามเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า รวมถึงการเร่งผลิตเพื่อส่งมอบรองรับงานแสดงสินค้าที่จะมีขึ้นในเดือนกันยายนปีนี้ โรงงานสามารถผลิตและส่งสินค้าได้ตามปกติ ในขณะที่ปีก่อนมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.61 จากผลิตภัณฑ์ integrated circuits (IC) และ PCBA เป็นหลัก หลังจากได้รับคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่องตามความต้องการของตลาดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์โลก เนื่องจากเป็นอุปกรณ์สำคัญในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ

จักรยานยนต์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 131.01 จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงในปีก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีการล็อกดาวน์บางพื้นที่

 

#ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 2565 #ดัชนี mpi 2565 #ผลผลิตอุตสาหกรรม industrial production #การส่งออกอุตสาหกรรม #อุตสาหกรรมไทย #สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม #สศอ.

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH