ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม MPI ปี 2567 เดือน ก.พ. อยู่ที่ระดับ 99.27 หดตัว 2.84%

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม MPI ปี 2567 เดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ระดับ 99.27 หดตัว 2.84%

อัปเดตล่าสุด 29 มี.ค. 2567
  • Share :
  • 951 Reads   

สศอ. เผยดัชนี MPI ก.พ. 67 อยู่ที่ระดับ 99.27 หดตัวร้อยละ 2.84 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เหตุเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวช้า-เศรษฐกิจโลกชะลอ แม้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือน ม.ค. ยังขยายตัวได้

วันที่ 29 มีนาคม 2567 สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2567 อยู่ที่ระดับ 99.27 หดตัวร้อยละ 2.84 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เหตุจากเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวช้าและเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 5.2 คาดว่าจะทำให้ดัชนี MPI หลังจากนี้ปรับตัวดีขึ้น

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2567 อยู่ที่ระดับ 99.27 หดตัวร้อยละ 2.84 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน  ของปีก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวได้ช้าจากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงทำให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินและภาระหนี้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ เศรษฐกิจประเทศคู่ค้ายังคงชะลอตัว ส่งผลให้อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ชะลอการผลิต 

สำหรับระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทยเดือนมกราคม 2567 “ส่งสัญญาณเฝ้าระวัง” โดยเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวจากปัจจัยภายในประเทศ จากดัชนีปริมาณสินค้านำเข้าของไทยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ปัจจัยในประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังเป็นส่วนใหญ่ ทั้งความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ส่งสัญญาณเฝ้าระวังลดลง การลงทุนภาคเอกชนของไทยยังคงทรงตัว และความเชื่อมั่นทางธุรกิจของไทยปรับเพิ่มเล็กน้อย ในขณะที่ปัจจัยต่างประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังต่อเนื่อง และมีความไม่แน่นอนสูงจากความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ เนื่องจากจะมีการเลือกตั้งผู้นำของคู่ค้าสำคัญทั้ง อินโดนีเซีย อินเดีย และสหรัฐอเมริกา รวมถึงความผันผวนการเงินโลก และเศรษฐกิจจีนที่จะส่งผลต่อภาคการท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการผลิตอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ในปี 2566 หดตัวลง เนื่องจากปัจจัยเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวได้ช้า รวมถึงเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ยังคงชะลอตัว ในขณะที่การท่องเที่ยวที่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ส่งผลให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องฟื้นตัว โดยอุตสาหกรรมเด่นที่ขยายตัวในปี 2566 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม น้ำตาล สายไฟและเคเบิลอื่น ๆ น้ำมันปาล์ม และเส้นใยประดิษฐ์ 

“ถึงแม้ภาพรวมเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว แต่เพื่อเป็นการยกระดับและขยายมูลค่าการส่งออกของสินค้าไทย ภาคการผลิตของไทยควรมุ่งเน้นไปที่สินค้าที่โลกมีความต้องการบนพื้นฐานของศักยภาพที่ประเทศไทยมีความได้เปรียบ อาทิ กลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูป ทั้งนี้ ควรให้ความสำคัญในการพัฒนาสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม มากกว่าการส่งออกสินค้าพื้นฐานหรือแปรรูปขั้นต้นซึ่งมีมูลค่าน้อย” นางวรวรรณ กล่าว

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่

การกลั่นน้ำมัน ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.59 % จากน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันเบนซิน 91 และ แก็สโซฮอล์91 เป็นหลัก ตามความต้องการบริโภคในภาคขนส่งและเดินทางท่องเทียวที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ปุ๋ยเคมี ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 39.82 %
จากการทำโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขาย ราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดอยู่ในเกณฑ์ดีเกษตรกรมีกำลังซื้อรวมถึงราคาสินค้าปรับลดลงตามราคาวัตถุดิบแม่ปุ๋ยที่ต่ำกว่าปีก่อน

เครื่องประดับเพชรพลอย ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 24.56 % ทุกรายการสินค้า (กำไล ต่างหู สร้อย แหวน และจี้) ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าทำให้มีคำสั่งซื้อและส่งออกไปประเทศคู่ค้าสำคัญเช่น กาตาร์ เบลเยี่ยม อินเดีย ฮ่องกง เยอรมนี ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกาได้มากขึ้น

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนีผลผลิตเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่

ยานยนต์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 16.83 จากบรรทุกปิคอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก เครื่องยนต์ดีเซล และรถยนต์นั่งขนาดใหญ่ เป็นหลัก ตามการชะลอตัวของตลาดในประเทศ กำลังซื้อของผู้บริโภคอ่อนตัว ตลอดจนสถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ 

ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 18.66 จากผลิตภัณฑ์ Integrated circuits (IC) และ PCBA ตามความต้องการสินค้าในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง

น้ำมันปาล์ม หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 27.23 จากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ เนื่องจากภาวะภัยแล้งฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้มีผลปาล์มดิบลดลงกว่าปีก่อน การหดตัวของตลาด ในประเทศและตลาดส่งออก หลังอินโดนีเซียกลับมาส่งออกอีกครั้งทำให้ราคาในตลาดโลกปรับตัวลดลง       

 

#ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 2567 #Thailand MPI Index 2024 #ดัชนี mpi 2567 #ผลผลิตอุตสาหกรรม industrial production #การส่งออกอุตสาหกรรม #อุตสาหกรรมไทย #สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม #สศอ.

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH