
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเมษายน 2568 ดิ่งต่อเนื่อง 3 เดือน ต่ำสุดในรอบ 7 เดือน!!
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือนเมษายน 2568 ปรับตัวลดลงทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และอยู่ในระดับที่ต่ำสุดในรอบ 7 เดือนนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 เหตุกังวล Trump 2.0–ค่าครองชีพสูง
- ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมีนาคม 2568 ร่วงต่อเนื่อง ผลกระทบนโยบาย Trump 2.0 กำลังซัดเศรษฐกิจไทย?
- หอการค้าไทยหนุนรัฐเร่งเจรจาหลังดีลสหรัฐ–จีน ส่งสัญญาณบวกต่อเศรษฐกิจโลก
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนเมษยน 2568 ที่จัดทำโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและหอการค้าไทย ได้ดำเนินการโดยออกแบบสอบถามตัวอย่างจากประชาชนทั่ว ประเทศเป็นจำนวน 2,245 คน แยกเป็นกลุ่มตัวอย่างในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 40.2% และต่างจังหวัด 59.8% โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นเพศชาย และเพศหญิง ประมาณ 49.9% และ 50.1% ตามลำดับ
ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าไทย
ปัจจัยด้านบวก
- คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย โดยลดค่าจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์จาก 2.00% เหลือ 0.01% และลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาฯ จาก 1.00% เหลือ 0.01% ที่มีราคาซื้อขายและราคาประเมิน ไม่เกิน 7 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 7 ล้านบาทต่อสัญญา เพื่อช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง ช่วยรักษาระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกัน รวมถึงส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศให้เกิดการจ้างงานและการผลิต
- คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดอตัราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 2.00% เป็น 1.75% ต่อปี โดยให้มีผลทันที เนื่องจากสถานการณ์นโยบายการค้าสหรัฐ และการตอบโต้ของประเทศเศรษฐกิจหลักจะกระทบต่อเศรษฐกิจการเงิน และการค้าโลกโดยในปัจจุบันยงัอยู่ในระยะเริ่มต้นที่ความไม่แน่นอนสูงมากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มปรับลดลง สถานการณ์มีแนวโน้มยืดเยื้อและผลกระทบจะทอดยาวไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าการผลิตโลกที่ทำให้ประสิทธิภาพลดลงในระยะยาว
- การส่งออกของไทยในเดือนมีนาคม 2568 มีมูลค่า 29,548.25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 17.84% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 28,575.29 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 10.18% ส่งผลให้เกินดุลการค้า 972.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้ช่วง 3 เดือนแรกปี 2568 ส่งออกได้รวม 81,532.34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.23 และมีการนำเข้ารวม 80,451.34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.43 ส่งผลให้เกินดุลการค้ารวม 1,081.00 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
- ระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตวัลดลง โดยราคาน้ำมันขายปลีกแก๊สโซฮอล ออกเทน 91(E10) และแก๊สโซฮอล ออกเทน 95 (E10) ปรับตัวลดลงประมาณ 1.30 และ 1.30 บาทต่อลิตร จากระดับ 33.78 และ 34.15 บาทต่อลิตร ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2568 ตามลำดับ มาอยู่ที่ระดับ 32.48 และ 32.85 บาทต่อลิตร ณ สิ้นเดือนเมษายน 2568 ตามลำดับ ส่วนราคาน้ำมัน ดีเซลขายปลีกในประเทศ ปรับตัวลดลงประมาณ 0.50 บาทต่อลิตร จากระดับ 32.44 บาทต่อลิตร ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2568 ตามลำดับ มาอยู่ที่ระดับ 31.94 บาทต่อลิตร ณ สิ้นเดือนเมษายน2568 ตามลำดับ
- SET Index ในเดือนเมษายน 2568 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 45.63 จุด โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 1,158.09 จุดณ สิ้นเดือนมีนาคม 2568 เป็น 1,197.26 จุด ณ สิ้นเดือนเมษายน 2568
- จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวนมากขึ้นหลังจากการเปิดประเทศตลอดจนยกเว้นการยื่นวีซ่านักท่องเที่ยว รวมการขยายระยะเวลาการพำนักของนักท่องเที่ยว ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้นและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ปรับตัวดีขึ้น
- ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือทรงตัวในระดับที่ดีเกือบทุกรายการสำคัญส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น อย่างไรก็ดี ราคาข้าว อ้อย มันสำปะหลังและยางพารา มีราคาไม่ค่อยดี
ปัจจัยด้านลบ
- สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.1% ช่วงคาดการณ์ที่ 1.6-2.6% ซึ้งลดลงจากการประมาณครั้งก่อน ที่จะขยายตัว 3.00% สาเหตุหลักมาจากแรงกดดันด้านการค้าโลก โดยเฉพาะผลกระทบจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกาและการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า
- ความกังวลต่อแนวทางนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา และการตอบโต้ของประเทศต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบของนโยบาย Trump 2.0
- ผู้บริโภคมีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจยังฟื้นตัวช้า ตลอดจนปัญหาค่าครองชีพ รวมถึงผู้บริโภคยังรู้สึกว่ารายได้ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น
- ราคาข้าวเจ้า อ้อย มันสำปะหลัง และยางพารา อยู่ในระดับต่ำกว่าปี ที่ผ่านมา อาจส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่มากนักมีผลต่อกำลังซื้อในบางพื้นที่ต่างจังหวัดในระยะนี้
- ความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลกที่ยังคงยืดเยื้อ ทั้งสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับขบวนการฮามาส (Hamas) ตลอดจนสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่รุนแรงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาน้ำมันและพลังงานโลกยังทรงตัวสูงและกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกให้ช้าลงหรือชะลอตัวลงและอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในอนาคต
- เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย จากระดับ 33.822 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นเดือนมีนาคม2568 เป็น 33.746 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นเดือนเมษายน 2568 สะท้อนว่ามีการไหลออกสุทธิของเงินตราต่างประเทศ
- ความกังวลต่อสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในเขตพื้นที่กทม.และปริมณฑลและในบางจังหวัดของภาคกลาง และภาคเหนือ ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน
- ความกังวลต่อสถานการณ์ภัยแล้ง ที่จะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำ ท้ังภาคเกษตรภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ ตลอดจนภาคครัวเรือน
จากผลของการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนเมษายน 2568 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และอยู่ในระดับที่ต่ำสุดในรอบ 7 เดือนนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 เป็นต้นมา เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าจากนโยบาย Trump 2.0 ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ของไทยและทั่วโลกปรับตัวลดลง แม้ว่ารัฐบาลจะออกมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงไตรสมาสแรกของปีนี้แต่ผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ช้า
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 49.3 53.0 และ 63.9 ตามลำดับ ปรับตัวลดลงทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนมีนาคม ที่อยู่ในระดับ 50.5 54.2 และ 64.4 ตามลำดับ การที่ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่า ผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคต เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศ และค่าครองชีพที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ตลอดจนปัญหาเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะชะลอตัวลงจากสงครามการค้าที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคมีความไม่แน่นอนสูง
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI) ปรับตัวลดลงจากระดับ 56.7 เป็น 55.4 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และอยู่ในระดับที่ต่ำสุดในรอบ 7 เดือนนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 เป็นต้นมา การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้า และค่าครองชีพสูง ตลอดจนปัญหาสงครามการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้
ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวลดลงจากระดับ 40.8 เป็น 39.8 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวลดลงจากระดับ 64.4 มาอยู่ที่ระดับ 62.9 การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 แสดงว่า ผู้บริโภคอาจเริ่มมีความเชื่อมั่นของบริโภคลดลงได้ในอนาคตหากสงครามการค้ารุนแรงขึ้นและเศรษฐกิจไม่สามารถจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นได้อย่างรวดเร็วภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
#ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค #เศรษฐกิจไทย #GDP Thailand #อุตสาหกรรมไทย #MReportTH
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- ยอดขายรถยนต์ 2567
- 10 อันดับธุรกิจดาวรุ่ง ปี 2568
- คาร์บอนเครดิต คือ
- ยอดขายมอเตอร์ไซด์ 2567
- “ยานยนต์ไร้คนขับ” กับทิศทางการเติบโตในปี 2022-2045
- ยอดลงทุนปี 67 ทะลุ 1 ล้านล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์
- ยอดจดทะเบียนใหม่ยานยนต์ไฟฟ้า 2567
- สถิติส่งออกกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนไทยปี 2567
- เทคโนโลยีในงานโลจิสติกส์ มีอะไรบ้าง
- 5 เทคนิค “มือใหม่ใช้เครื่อง CNC”
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / X / YouTube @MreportTH